xs
xsm
sm
md
lg

“เทพชัย” ปลุกสังคมร่วมจัดการ “ช่อง 3-สรยุทธ” ชี้ถูกท้าทายจริยธรรม - “สุภิญญา” เล็งเข้มควบคุมกันเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


MGR Online - วงเสวนาสมาคมสื่อฯ กรณี “ช่อง 3-สรยุทธ” นายกสมาคมวิทยุโทรทัศน์ไทยชี้แม้จะผิดหวังในยุคปฏิรูปสื่อ แต่ปฏิกิริยาสังคมตื่นขึ้น ระบุเลยขั้นทวงถามจริยธรรมแล้ว ถูกท้าทายว่า “ถ้าไม่ดีก็ไม่ต้องดู” สลดคำพิพากษาไม่มีความหมาย ไม่ต่างจากนักการเมืองโกงแล้วไม่เป็นไร ระบุถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องจัดการ ไม่เช่นนั้นที่สู้เรื่องทุจริตพ่ายแพ้หมด ด้านกรรมการ กสทช.เล็งให้สื่อกำกับตนเองเข้มแข็งขึ้น ให้ทุกช่องช่วยตัดสินจริยธรรม สหภาพ อสมท แนะตั้งสหภาพทุกช่องช่วยล้างบ้าน ลดหย่อนค่าธรรมเนียมทีวีดิจิตอลจูงใจ

วันนี้ (3 มี.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีการจัดการเสวนาในหัวข้อ “ราชดำเนินเสวนา” หัวข้อ “สื่อตรวจสอบสังคม สังคมตรวจสอบสื่อ ความท้าทายบนเส้นทางจริยธรรม” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), น.ส.สุวรรณา จิตประภัสสร์ จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้อำนวยการสถาบันต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และนายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) สืบเนื่องจากกรณีที่นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าวชื่อดัง ยังคงดำเนินรายการทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 แม้ศาลอาญาจะมีคำพิพากษาชั้นต้นจำคุก 13 ปี 4 เดือน ในคดียักยอกเงินโฆษณาจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จำนวน 138 ล้านบาท ทำให้เกิดคำถามถึงจริยธรรมของคนทำสื่อ และต้นสังกัด รวมทั้งจุดยืนของผู้บริโภค และบทบาทของ กสทช. และองค์กรวิชาชีพ

นายเทพชัยกล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกผิดหวังที่เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในยุคที่เราคาดหวังว่าจะมีการปฏิรูปสื่อกันเยอะมาก ทำให้เกิดคำถามใหญ่ว่าการปฏิรูปสื่อจะทำได้จริงหรือไม่ อีกด้านหนึ่งมีความรู้สึกในเชิงบวก ที่เห็นปฏิกิริยาของคนในวงการสื่อและวงการต่างๆ ของสังคมต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ก็ทำให้มีความหวัง เพราะเป็นครั้งแรกๆ ที่สังคมเกือบทุกภาคส่วนส่งเสียงออกมา แสดงความเห็นไม่ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นสัญญาณเชิงบวกที่แรงและไม่หลุดพ้นความสนใจของคนที่ตกเป็นเป้า

ทั้งนี้ กรณีนายสรยุทธ และบริษัท ไร่ส้มนั้น เลยขั้นทวงถามจริยธรรมและความรับผิดชอบแล้ว เพราะผู้บริหารของช่อง 3 กำลังบอกคนในสังคมว่า ถ้าคิดว่าเราไม่ดี ไม่มีจริยธรรม และธรรมาภิบาล ก็อย่าดูเรา เป็นสารที่ชัดเจนมากกับเรื่องที่ออกมา ก็เกิดคำถามใหญ่กลับมาว่า แล้วคนในสังคมจะตอบโต้ หรือกดดันความท้าทายนี้อย่างไร คนในวงการสื่อก็ทำเท่าที่จะทำได้ ในแง่ขององค์กรวิชาชีพสื่อ คือการประกาศจุดยืน และออกแถลงการณ์ เป้าใหญ่ที่สุดคือองค์กรต้นสังกัดมากกว่าตัวบุคคล แม้นายสรยุทธจะเป็นต้นตอของปัญหา แต่ก็กลายเป็นปลายเหตุ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้บริหารช่อง 3 เท่านั้นว่าจะตัดสินใจอย่างไร

นายเทพชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมามีคนพยายามอธิบายว่า คดียังไม่ถึงที่สุด อย่าไปบีบบังคับเขามาก คำถามใหญ่ก็คือว่า ที่ผ่านมาคนในสังคมทวงถามเสมอว่า ก่อนจะไปกล่าวหาใครว่าจะทุจริตหรือไม่ก็ต้องมีใบเสร็จ จะมีใบเสร็จใดที่มันชัดเจนกว่านี้ มีหลายคนบอกว่า ให้ไปดูรัฐธรรมนูญ ให้ไปดูมาตราหนึ่งบอกว่า ตราบใดที่กระบวนการยังไม่สิ้นสุดก็ยังไม่ถือว่าคนคนนี้เป็นผู้ผิด แต่ที่อยากให้ไปอ่านมากกว่า คือ คำพิพากษา อยากให้ไปอ่านรายละเอียดของข้อกล่าวหา ให้ไปอ่านความเห็น ไปดูหลักฐาน และคำสารภาพของคนที่เกี่ยวข้องทุกคน

“เราคงไม่ต้องเถียงกันถึงเทคนิคเชิงกฎหมาย ที่ยังมีอีกสองศาลที่จะไปสู้กันต่อ เราไปดูรายละเอียดของคำพิพากษา แล้วใช้คอมมอนเซนส์ (สามัญสำนึก) ของคน ก็ดูออกแล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าสังคมควรที่จะรับรู้ อย่าไปเสียเวลาเชิงเทคนิคทางกฎหมาย ไม่เช่นนั้นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่มีความหมายเลยหรือ เป็นทัศนคติที่เผลอๆ กลายเป็นคำตอบที่ว่าทำไมนักการเมืองที่เราก็รู้ว่ามันขี้โกง มันเลว แต่พอเลือกตั้งทุกครั้งกลับมาได้ เพราะคนในสังคมจำนวนหนึ่งมีความรู้สึกว่าไม่เป็นไร คนนี้เขาทำความดีไว้เยอะ จะไปโกงเขาบ้างก็ไม่เป็นไร ก็อย่าแปลกใจว่าทุกครั้งเวลาไปสำรวจความเห็นแล้วตั้งคำถามแบบนี้ พบคนส่วนใหญ่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า นักการเมืองใครๆ โกงๆ ได้ถ้าทำความดี” นายเทพชัย กล่าว

นายเทพชัยกล่าวว่า ที่น่าผิดหวังและเสียใจก็คือ สื่อมวลชนอยู่ในฐานะที่สร้างบรรทัดฐานด้านจริยธรรมให้กับสังคม แต่กลายเป็นเป้าถูกตั้งคำถามถึงจริยธรรม จากนี้ไม่แน่ใจว่าสื่อมวลชนไทยจะกล่าพูดเรื่องจริยธรรมและธรรมาภิบาลได้เต็มปากเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น นายสรยุทธกับช่อง 3 ไม่ได้ทำให้เจ้าตัวตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ แต่วงการสื่อทั้งวงการตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ร่วมกัน มันไม่แฟร์กับคนทำสื่อว่าทำไมต้องมาตอบคำถามในสิ่งที่เราตอบง่ายๆ ช่อง 3 มีโอกาสที่จะเป็นพระเอกในการวางมาตรฐานทางจริยธรรมได้ แต่สิ่งที่ทำกลับตรงกันข้าม ในเมื่อกระบวนการยุติธรรมตัดสินแล้ว เรายังเห็นคนคนนั้นยังคุยกับสังคมทุกวันเสมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยังอ่านข่าวตัวเองเสมือนว่าไม่ใช่คนคนนั้น ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายสังคม

“มันถึงจุดหนึ่งที่สังคมต้องมีส่วนที่จะจัดการ อย่าโยนมาเป็นภาระขององค์กรสื่อ แน่นอนองค์กรสื่อจะต้องช่วยกันกำจัดความสกปรกให้ออกไป แต่ว่าถึงเวลาแล้วที่สังคมจะต้องมีปฏิกิริยา เราถูกท้าทาย สังคมกำลังถูกท้าทาย ถ้ากรณีอย่างนี้มันจบลงเหมือนกับที่คนบางกลุ่มต้องการอยากให้จบ ก็คือกลับมาเป็นเหมือนเดิม มันจะเป็นความพ่ายแพ้ทั้งสังคมที่กำลังต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน” นายเทพชัยกล่าว

ด้าน น.ส.สุภิญญากล่าวว่า เรื่องนี้เป็นโจทย์ท้าทายของ กสทช. เพราะที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับจริยธรรมเข้ามาเป็นระยะ แต่เมื่อเป็นองค์กรที่ตัดสินโดยกฎหมายชัดเจน ก็ต้องมาตั้งหลักดูกฎกติกาอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเกิดกระแสแรงมากถึงขนาดนี้ ถือเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ปกติ ทำให้ กสทช.ต้องถกกันเป็นการภายใน ในเบื้องต้นต้องดูว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับกฎหมายหรือไม่ ขัดจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งกรรมการที่กำกับดูแลเนื้อหา ประชุมไปแล้วรอบแรกยังไม่ได้ข้อสรุปตรงนี้ เพราะดูที่เนื้อหา แต่ยังไม่ได้ดูที่บุคลากร และเห็นว่ายังไม่มีความผิดปกติอะไร ซึ่งในวันจันทร์นี้ (7 มี.ค.) พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช.จะเรียกช่อง 3 มาชี้แจงก่อนในฐานะที่ถูกพาดพิง

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ใหญ่กว่านั้น คือเรื่องจริยธรรม และจรรยาบรรณของสื่อ กสทช. ไม่ได้ให้อำนาจตรงนี้ แม้ที่ผ่านมากฎหมายเขียนไว้จะเปิดช่องให้มีการกำกับดูแลกันเองก็ตาม สิ่งที่ กสทช.ทำได้ต่อจากนี้ คือความพยายามที่จะให้ทางองค์กรวิชาชีพสื่อช่วยดูแลมาตรฐานจริยธรรม ที่ผ่านมายังไม่ได้เชิญผู้ประกอบการเข้ามากำหนด พอเกิดเหตุขึ้นก็พบว่ามาตรฐานทางจริยธรรมไม่เหมือนกัน สิ่งที่ควรจะเป็นก็คือ ทำอย่างไรที่จะให้สื่อกำกับตนเองให้เข้มข้นขึ้น อีกประการหนึ่งที่เห็นว่าทำได้ คือ การเชิญทางผู้บริหารทีวีดิจิตอลทุกช่องมาคุยกัน เพื่อช่วยตัดสินว่าแต่ละกรณีขัดจริยธรรมหรือไม่ การที่ช่อง 3 คิดคนเดียวอาจลังเลไม่แน่ใจ หากแต่ฟังเพื่อนอีก 25 ช่อง ถือเป็นการตรวจสอบกันเองทางหนึ่ง แต่อาจจะต้องนำไปสู่การวางมาตรฐานจริยธรรมกลางร่วมกันอย่างที่ควรจะเป็น

ขณะที่นายสุวิทย์กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการเปิดโอกาสที่สังคมจะบอกว่าสื่อกำลังกวาดบ้านตัวเองหรือเปล่า ที่ผ่านมากรณีนายสรยุทธ และบริษัท ไร่ส้มนั้น ในยุคที่นายวัชระ สารพิมพา เป็นประธานสหภาพแรงงาน อสมท ได้หยิบยกนำเรื่องนี้เข้ามาถามผู้บริหารหลายครั้งซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าคดีนี้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม มีการแจ้งความและอยู่ในชั้นศาล แต่ที่แปลกใจก็คือ มีเอกสารการสอบสวนอยู่ในมือผู้บริหาร แต่กลับปล่อยให้สื่อมวลชนอีกสำนักหนึ่งที่ลงข่าวโจมตี อสมท ไปเผยแพร่ ซึ่งหากเผยแพร่ในวงกว้าง คน อสมท ก็พร้อมที่จะตรวจสอบ

ในทางกลับกัน ถ้าช่อง 3 มีสหภาพแรงงาน ตนอยากเห็นบทบาทสหภาพแรงงานช่อง 3 เหมือนกันว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งตนถามบุคลากรที่อยู่ในช่อง 3 ต่างก็รู้สึกอึดอัดในฐานะที่ทำงานอยู่ที่นี่ ซึ่งตนขอฝาก กสทช.ว่า นอกจากกลไกต่างๆ ในช่วง 2 ปีกว่าแล้วที่มีทีวีดิจิตอล อยากให้มีกลไกสนับสนุนให้มีการตั้งสหภาพแรงงาน โดย กสทช.ควรจะมีรางวัล เช่น การลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ไม่เช่นนั้นอนาคตสื่อแขวนอยู่บนเส้นด้าย นอกจากนี้ต้องมีกลไกที่สังคมจะร่วมกันกดดัน สหภาพแรงงานเกิดขึ้นในทุกสื่อ สหภาพแรงงานจะได้กวาดบ้าน ตรวจสอบสื่อขึ้นมาอีกชั้น

ส่วนนายวสันต์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นบทเรียนของสื่อและเป็นบทพิสูจน์ของสังคม เพราะเป็นเรื่องจริยธรรมสื่อ และความถูกต้อง สื่อจะกำกับดูแลกันเองได้หรือไม่ ที่ผ่านมาเรื่องนี้ถูกมองว่า ชนชั้นกลางอิจฉาคนบางคนหรือเปล่า สื่อมีผลประโยชน์จากกรณีของนายสรยุทธหรือไม่ ถือเป็นการเบี่ยงประเด็น เพราะจริงๆ เป็นเรื่องความถูกผิดและความเหมาะสม แม้จะเป็นพิธีกรที่เก่ง ทำหน้าที่ได้ดี เขาน่าจะได้รับความเห็นใจ ตนเห็นว่าเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระ สมมติเป็นนักฟุตบอลฝีเท้าดี แต่ไปเหยียดสีผิว ควรจะได้รับข้อยกเว้นหรือไม่ ส่วนประเด็นที่ว่ากระบวนการทางศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุด ประเด็นนี้ก็ถูก โดยหลักการต้องให้โอกาส ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ในกลุ่มคนบางกลุ่มจะต้องมีข้อยกเว้นในเรื่องนี้ เช่น นักการเมืองที่ทุจริต แล้วจะรอศาลฎีกา กว่าจะตัดสินก็เป็นสิบยี่สิบปี ก็มีการกำหนดว่าหากถูกชี้มูลความผิดต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ข้าราชการหลายคนก็เช่นกัน

กรณีของสื่อไม่ใช่เรื่องของใครคนหนึ่ง หรือช่องใดช่องหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของหลักการ หากมีการกระทำใดๆ ย่อมเสื่อมเสียต่อวงการ มีปัญหาด้านจริยธรรมอย่างร้ายแรง คดีนี้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว ศาลตัดสินแล้ว หลักฐานรูปคดีมีน้ำหนัก สังคมก็จะตั้งคำถาม เกิดความคลางแคลงใจ มีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการการนำเสนอ หากยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ก็จะก่อให้ความสับสนในเรื่องผิดชอบชั่วดี สื่อโดยเฉพาะพิธีกรและผู้สื่อข่าว ถือเป็นบุคคลสาธารณะ เรื่องแบบนี้หากเจ้าตัวไม่มีสำนึกเพียงพอ ต้นสังกัดต้องพิจารณาดำเนินการ ถ้าไม่เป็นผลองค์กรวิชาชีพสื่อจะต้องพิจารณา ถ้ายังไม่เป็นผลสังคมจะเป็นคนให้คำตอบว่า เราจะเห็นสังคมแบบไหน ปากว่าตาขยิบ ละเลยจริยธรรม หรือต้องการเห็นจริยธรรมเข้มแข็งขึ้น

รศ.ดร.กุลทิพย์กล่าวว่า ในยุคนี้สื่อคือตลาดเสรีทางความคิด สื่อเป็นสินค้า นายสรยุทธมีฐานทั้งทางอินสตาแกรม 1.5 ล้าน ส่วนครอบครัวข่าว 10 ล้าน และสื่อหลายรูปแบบจำนวนมาก ถือเป็นฐานและรายได้ทางหนึ่ง ต้องยอมรับสภาพว่าเราไม่ได้ดูข่าวช่องเดียว เราดูข่าวแทบทุกช่องแข่งขันกัน แต่สิ่งที่น่าชื่นชมคือ วาระสาธารณะ (Public Agenda) หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ สื่อทุกช่องเล่นทั้งหมด ยกเว้นเพียงบางช่อง สะท้อนให้เห็นว่า เราจะให้ความรู้เด็กรุ่นใหม่อย่างไร อย่าลืมว่าสื่อออนไลน์คืออารมณ์ แต่ข้อเท็จจริง (Fact) ต้องการันตีจากสื่อกระแสหลัก ถ้าเรายอมรับว่าสำนึกของสังคม จริยธรรมเป็นหลักการ เราต้องช่วยกันให้การศึกษาแก่สังคมมากๆ

ขณะที่องค์กรที่เกี่ยวพันกับสื่อ คือ โฆษณา ซึ่งสมาคมโฆษณามีท่าทีชั่งน้ำหนัก ดูสถานการณ์ สะท้อนว่าในเศรษฐกิจอย่างนี้มักจะดูเรื่องรายได้และทุนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นภาวะวิกฤตมักจะเกิดขึ้นตลอดสำหรับช่อง 3 พีอาร์ช่อง 3 จะอยู่ยังไง สื่อต้องขุดคุ้ยว่าองค์กรไหนถอนโฆษณาหรือไม่อย่างไร นี่คือการกดดันการโฆษณาประชาสัมพันธ์ อีกประการหนึ่งคือแหล่งข่าว ภาครัฐ แหล่งข่าวอื่นๆ ต้องช่วยกันด้วย เฉกเช่นปลัดกระทรวงการคลังที่ตัดสินใจไม่ออกรายการ จะให้องค์กรวิชาชีพสื่อออกมาเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว สำคัญคือ ทุกคนต้องช่วยกัน

นอกจากนี้ ตนเห็นว่าอยากให้สื่อมวลชนมีสหภาพแรงงานทุกช่องเหมือนช่อง 9 และเมื่อทุกช่องมีฐานคนดูของตัวเอง ก็ต้องสร้างสังคมให้คนสำนึกเรื่องนี้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นคนก็จะดูข่าวแบบขายของแบบเนียนตลอดเวลา ต้องเสริมการรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น ปัญหาปัจจุบันแม้คนทำสื่อก็ยังไม่เข้าใจเรื่องรู้เท่าทันสื่อว่ามาจากไหน แหล่งข่าวเป็นใคร เนียนยังไงยังไม่รู้ จะทำอย่างไรให้เรื่องสำคัญกลสยเป็นวาระสาธารณะ และเกิดให้ทุกคนในหน่วยสังคม กรณีนี้จะเป็นต้นแบบให้กับสื่ออื่นๆ ขณะที่ กสทช. ยังไม่สามารถควบคุมดูแลได้เอง ถ้าภาคประชาชนไม่เข้มแข็ง ที่มองว่าสินค้าที่เป็นข่าวสาร ต้องการความจริงให้ปรากฎไหม หรือต้องการนักเล่าข่าว บังเอิญประเทศไทยคนอ่านหนังสือน้อย คนต้องการนักเล่าข่าวที่มีคุณภาพ แต่ไม่ใช่นักเล่าข่าวที่ไม่มีจิตสำนึก

ส่วน น.ส.สุวรรณากล่าวว่า จากการสอบถามเครือข่ายผู้บริโภค ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกรับไม่ได้ว่า ทำไมถึงมีนักเล่าข่าวยังคงทำงานอยู่ ทั้งที่ศาลตัดสินแล้ว เครือข่ายครอบครัวแห่งหนึ่งระบุถึงคำว่า ครอบครัวเดียวกัน ที่ช่อง 3 นำมาใช้ มองว่าการปกป้องกันไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องของการดูแลครอบครัว แม้จะเคารพในเหตุผลของนายสรยุทธที่ว่าคดียังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม แต่ในเรื่องจริยธรรมก็สำคัญ สิ่งที่ตนอากจะเรียกร้อง คือ กลุ่มผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อน่าจะมองเห็นว่าสื่อแห่งใดประพฤติผิดจริยธรรม ซึ่งคิดว่าการตั้งสหภาพแรงงานไม่เพียงพอ ต้องตั้งผู้ตรวจสอบ และต้องดูแลกันเอง ที่น่าตกใจคือ มีผู้ชมบางกลุ่มเริ่มเรียกร้องการควบคุมจากรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมากในอดีต จึงอยากเรียกร้องผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ควรจะตั้งกระบวนการตรวจสอบกันเอง โดยไม่น่าจะเป็นภาระของสมาคมสื่ออย่างเดียว และไม่จำเป็นที่จะต้องให้รัฐเข้ามาควบคุม ซึ่งขัดต่อความเป็นอิสระและเสรีภาพ








กำลังโหลดความคิดเห็น