กรุงเทพโพลล์ สำรวจสิงห์อมควัน ระบุ เหตุผลการขึ้นภาษีบุหรี่ เพราะรัฐบาลต้องการรายได้เพิ่ม 75% ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษี เพราะทำให้ราคาแพง 69% ยังคงไม่เลิกสูบ
กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้สูบบุหรี่ เรื่อง “พฤติกรรมการสูบและเลือกซื้อบุหรี่หลังรัฐบาลขึ้นอัตราภาษี” โดยเก็บข้อมูลจากผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำทุกวันทั่วประเทศจำนวน 902 คน
ผลสำรวจพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำส่วนใหญ่ร้อยละ 66.9 สูบบุหรี่ซองที่ผลิตในประเทศ รองลงมาร้อยละ 23.6 สูบบุหรี่ซองที่ผลิตจากต่างประเทศ และร้อยละ 9.5 สูบบุหรี่มวนเอง
ด้านความคิดเห็นต่อการปรับเพิ่มภาษีบุหรี่จากร้อยละ 87 เป็นร้อยละ 90 พบว่า ผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่คิดเป็น ร้อยละ 75.5 ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นอัตราภาษี โดยให้เหตุผลสำคัญว่า ทำให้ราคาบุหรี่สูงเกินไป (ร้อยละ 81.2) รองลงมาเห็นว่า เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด (ร้อยละ 9.8) และเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับผู้ที่สูบบุหรี่ (ร้อยละ 9.0) ในขณะที่ร้อยละ 24.5 เห็นด้วยกับการปรับเพิ่มภาษีบุหรี่ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า มาตรการนี้สามารถลดปริมาณการสูบบุหรี่ลงได้ (ร้อยละ 48.4) รองลงมาช่วยทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้ (ร้อยละ 20.8) และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล (ร้อยละ 11.8)
ทั้งนี้ ผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 59.3 เห็นว่าวัตถุประสงค์หลักของรัฐบาลในการเพิ่มภาษีบุหรี่ คือ การหารายได้เข้ารัฐบาล ขณะที่ร้อยละ 40.7 คิดว่ารัฐบาลต้องการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่
สำหรับพฤติกรรมของผู้สูบบุหรี่หลังการปรับเพิ่มภาษี พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 69.6 ยังคงสูบเหมือนเดิมในปริมาณเท่าเดิม ส่วนร้อยละ 30.4 มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ลดลงจากเดิมที่สูบ เฉลี่ย 13 มวนต่อวันลดลงเหลือ 7 มวนต่อวัน หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 46.2 ด้านค่าใช้จ่ายของผู้สูบก่อนรัฐบาลขึ้นภาษีบุหรี่เฉลี่ยอยู่ที่ 253 บาทต่อสัปดาห์ และหลังจากเพิ่มภาษีบุหรี่ ผู้สูบมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 274 บาทต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็นร้อยละ 8.3
ในส่วนของการปรับเปลี่ยนยี่ห้อบุหรี่ภายหลังการปรับเพิ่มภาษีบุหรี่ พบว่า ผู้สูบส่วนใหญ่ร้อยละ 66.7 ไม่มีการปรับเปลี่ยนยี่ห้อ/ยังคงสูบยี่ห้อเดิม ขณะที่ร้อยละ 33.3 เปลี่ยนเป็นซื้อยี่ห้อที่มีราคาต่ำกว่า
เมื่อถามว่า “คิดจะเลิกสูบบุหรี่หรือไม่ หลังจากมีการปรับเพิ่มภาษีบุหรี่’’ ร้อยละ 51.7 ระบุว่า “ไม่คิดจะเลิกสูบบุหรี่” ขณะที่ ร้อยละ 48.3 ระบุว่า “คิดจะเลิกสูบบุหรี่”
สุดท้ายเมื่อถามถึงผลกระทบของการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ที่มีต่อการใช้ชีวิตของผู้สูบ ร้อยละ 37.2 ระบุว่า กระทบในระดับปานกลาง รองลงมาร้อยละ 22.2 กระทบในระดับน้อย และร้อยละ 17.0 กระทบในระดับมาก