xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ขอบคุณ “บิ๊กจิ๋ว” ห่วงแต่เลือกตั้งปีนี้เป็นไปไม่ได้ ชี้ประชามติหลายร่างยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ รับยากเลือกตั้งในปีนี้ แต่เร็วขึ้นได้ ย้ำยึดโรดแมปเป็นหลัก ย้อน “ชวลิต” จะให้สั้นลงเกือบปีคงไม่ได้ ยึดตามความจริง ขอบคุณที่เป็นห่วง สวนให้เขียน กม.ลูกก่อน รธน.ถูกโจมตีใครจะทำความเข้าใจ ยัน รบ.เช็กอยู่ตลอด ขอเข้าใจ “มีชัย” อายุมากตัดพ้อร่าง รธน.ช่วงขัดแย้ง ชี้ยากการจัดการหากประชามติเทียบหลายร่าง เผยคุยหลายฝ่ายลงตัว รับไม่อยากต่อปากต่อคำ ไม่ห้าม UN จะพบใคร

วันนี้ (26 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์บ้านเมืองต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในปี 2559 ว่า เรื่องนี้ต้องถามนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เนื่องจากตนอยู่ภายใต้โรดแมปของรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการเลือกตั้งภายในปีนี้ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นไปได้ยาก เพราะเรายังมีด่านการทำประชามติอยู่ รวมถึงกติกา กฎหมายลูก ที่กำลังดำเนินการ ดังนั้นจะให้เลือกตั้งในปีนี้เป็นไปได้ยาก แต่จะให้เร็วขึ้นได้ เพราะโรดแมปของรัฐบาลไม่ได้กำหนดขึ้นส่งเดชแบบที่ว่ารัฐบาลอยากอยู่ยาว แต่รัฐบาลอาศัยความเป็นจริงของเวลาที่ต้องเอามาคิดทบทวน ถามว่าข้อเสนอนี้เป็นไปได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าเป็นไปได้ถ้าไม่ทำประชามติอย่างที่ประชาชนร่ำร้องอยากจะทำ ยืนยันว่าเวลานี้รัฐบาลต้องยึดโรดแมปเป็นหลัก

เมื่อถามว่ายืนยันหรือไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดในเดือน ก.ค. 2560 นายวิษณุกล่าวว่า ทุกคนในซีกของรัฐบาลต้องยึดโรดแมปที่นายกฯ กำหนด ส่วนคนอื่นข้างนอกจะกำหนดอย่างไรก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ได้ถูกบังคับด้วยโรดแมป คนของรัฐบาลจะไปพูดอย่างอื่นไม่ได้

“เมื่อนายกฯ กำหนดโรดแมป ทุกคนในรัฐบาลต้องอยู่ภายใต้โรดแมป แต่ พล.อ.ชวลิตไม่ได้อยู่ในรัฐบาล หากเสนออย่างอื่นก็คงไม่เป็นไร ถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะท่านเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง แต่ในฐานะรัฐบาลที่เป็นคนกำหนดโรดแมปที่ผูกกับเงื่อนเวลาต่างๆ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่จะให้สั้นลงได้เกือบปีหรือยาวออกไปอีกก็ทำไม่ได้ เพราะทุกอย่างเป็นไปตามความเป็นจริง ในเมื่อเรามองเห็นว่าตัวกำหนดโรดแมปคือประชามติที่ต้องทำภายใน 120 วัน หากจะเร็วกว่านั้นเดี๋ยวก็มาโวยกันอีกว่าทำประชามติจอมปลอม หลอกลวง หรือทำไม่ทั่วถึง ซึ่งเงื่อนเวลาจะเร็วกว่า 120 วันได้ เพราะกำหนดไว้ว่าภายใน 120 วัน จากนั้นต้องมาทำกฎหมายลูก” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวต่อว่า มีหลายคนบอกว่าทำไมไม่ทำกฎหมายลูกก่อน ตนขอถามกลับว่าถ้ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มัวแต่ไปทำกฎหมายลูก แล้วมีคนมาโจมตีร่างรัฐธรรมนูญใครจะเป็นคนทำความเข้าใจ เราต้องเห็นใจด้วย เพราะเขาก็ต้องการเวลา แล้วเราต้องห่วงเรื่องประเพณีโบราณ เรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญ อาลักษณ์จะต้องเขียนจารึก ซึ่งตนเรียกเขามาสอบถามเกือบทุกวันว่าใช้เวลาเขียนกี่วัน วันละกี่หน้า แล้วใช้กี่คนเขียน รัฐบาลเช็กอยู่ตลอดว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ถ้าบอกว่าเขียนไปก่อนตอนนี้เลย แล้วหาก กรธ.เปลี่ยนขึ้นมา หรือมีมติเพิ่มเติม แล้วมากระทบร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราอาจจะเขียนไปได้บางส่วน เช่น หมวดที่ไม่มีใครไปยุ่ง อย่างหมวดพระมหากษัตริย์ หมวดสิทธิเสรีภาพ แล้วก็ต้องเผื่อเวลาให้สำนักราชเลขาฯ ตรวจสอบและนำความกราบบังคมทูล รวมถึงเผื่อเวลาในการบริหารจัดการเลือกตั้ง เช่นให้มีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยตั้ง เพื่อป้องกันคนถูกต้อนเข้าพรรคเก่า

“ขอให้เอาความเป็นห่วงของ พล.อ.ชวลิตขึ้นมาตั้งจะดีกว่า ส่วนที่บอกให้เลือกตั้งปี 59 ถือเป็นข้อเสนอ ผมในฐานะรัฐบาลขอขอบพระคุณ และดีใจที่มีคนเป็นห่วง เพราะถึงอย่างไร ความเป็นห่วงยังดีกว่าสมน้ำหน้า ส่วนที่ให้เลือกตั้งในปีนี้ขอให้เป็นตัวอย่างของความเป็นห่วงเท่านั้น เหมือนกับข้อเป็นห่วงเรื่องรถเข็นจันทร์โอชา ซึ่ง พล.อ.ชวลิตไม่ต้องการให้เอาเป็นเอาตายอะไรขนาดนั้น” รองนายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงคำตัดพ้อของนายมีชัยที่บอกว่าตัวเองเคราะห์ร้ายที่ต้องมาร่างรัฐธรรมนูญในช่วงที่ประเทศมีความขัดแย้ง นายวิษณุกล่าวว่า ต้องเข้าใจนายมีชัย เพราะท่านอายุ 70 กว่าปีแล้วยังไม่เคยเจออะไรแบบนี้ ส่วนที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้ทำประชามติเปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญระหว่างฉบับนายมีชัยกับฉบับของตนเองว่าฉบับไหนดีกว่ากันนั้น นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่มีความเห็น ใครมีความเห็นอย่างไรก็เสนอมา ความจริงแล้วเรื่องนี้ยากต่อการบริหารจัดการ แค่นึกภาพว่าประชาชนเข้าคูหากาบัตร นั่นแปลว่าจะต้องอ่านรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 ฉบับเป็นอย่างน้อย ยิ่งหากมี 3 ประเด็น เช่นว่าจะเอาฉบับนายบวรศักดิ์หรือฉบับนายมีชัย หรือจะเอาฉบับปี 2540 ประชาชนก็ต้องอ่านกันถึง 3 ฉบับ แบบนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องพิมพ์ถึง 3 ฉบับให้ประชาชนอ่าน รวมถึงต้องทำความเข้าใจใหม่ด้วย บางคนลืมฉบับของนายบวรศักดิ์ไปแล้ว ซึ่งก็ดูดีอยู่ แต่เมื่อจำได้ใหม่ก็เกิดปัญหาขึ้นมาอีก เพราะอาจไปสะกิดแผลเก่าขึ้นมา

เมื่อถามว่ารัฐบาลได้พูดคุยกับทุกฝ่ายเรื่องร่างรัฐธรรมนูญลงตัวหมดแล้วหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถือว่าลงตัว แต่ไม่ใช่ตัวเดียวกัน ไม่มีมติเอกฉันท์ เพราะถือว่าคุยกับกกต.เรื่องการทำประชามติ คุยกับนายมีชัยเรื่องข้อเสนอ 16 ข้อ ซึ่งนายมีชัยระบุว่า 13 ข้อแรก กรธ.รับได้ ส่วนถ้อยคำต้องไปปรับอีกที ส่วนหมวดปฏิรูปก็มีความเป็นไปได้ แต่ต้องไปดูว่าเอาอะไรมาใส่ในเนื้อหาว่าจะปฏิรูปอะไร เท่าที่นายมีชัยนึกออกคือการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปตำรวจ อาจจะเพิ่มการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และทำความเข้าใจประเด็นโรดแมปไม่ให้ยาวนานเกินไป ซึ่งนายมีชัยระบุว่าก็ไม่ต้องทำกฎหมายลูกทั้งหมด 10 ฉบับ ทำเพียง 3-4 ฉบับก่อน แบบนั้นจะทำให้โรดแมปเร็วขึ้น แต่ถึงจะเร็วอย่างไรก็ไม่ถึงขนาดเลือกตั้งปีนี้แน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูเหมือนว่าหลายฝ่ายจะนัดกันออกมาแสดงความห่วงใยรัฐบาล นายวิษณุกล่าวติดตลกว่า คงเพราะดาวมฤตยูย้ายมั้ง ส่วนที่ถามว่าเป็นห่วงเยอะเกินไปหรือไม่ ตนคงไม่ไปต่อปากต่อคำกับใคร ความจริงตนแสดงความเห็นเรื่องนี้ได้ แต่เดี๋ยวจะตีความกลายเป็นว่าตนไปต่อปากต่อคำด้วย

เมื่อถามถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พูดคุยกับผู้ช่วยเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ฝ่ายการเมือง นายวิษณุกล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ห้ามปราม ส่วนที่เขาจะมาพบใครนั้นก็เป็นสิทธิของเขา ซึ่งเขาก็มาพบคนของรัฐบาลด้วย ไม่ได้มีปัญหาอะไร


กำลังโหลดความคิดเห็น