ประชุม สนช.ผ่านใช้ร่างงบประมาณเพิ่มเติม 2559 หลัง รบ.ส่งรายได้ประมูล 4G 5.6 หมื่นล้านเข้าคลัง สมาชิกห่วงรายได้ไม่ตามเป้าเหตุเศรษฐกิจผันผวน หวั่นโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 3 หมื่นหมู่บ้านหวังขายสินค้าเกษตรออนไลน์ กลับดึงโซเชียลมีเดียทำลายชุมชน ได้ไม่คุ้มเสีย แนะจัดงบคู่ขนานสร้างภูมิคุ้มกัน เตือนใช้งบกลางอย่าเข้าข่ายประชานิยม ไม่ให้หนี้สาธารณะพุ่ง
วันนี้ (18 ก.พ.) ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณารับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรีเสนอ โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นผู้ชี้แจงหลักการว่า จากการประมูลคลื่น 4 จี ของ กสทช.เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา รัฐบาลมีรายได้จากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1,800 เมกะเฮิรตซ์ งวดที่ 1 ที่ได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินแล้วจำนวน 40,290.5 ล้านบาท รายได้จาการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่คาดว่าจะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินในเดือน มี.ค. จำนวน 11,992.6 ล้านบาท เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รายได้ดังกล่าวควรนำมาพัฒนาสร้างความเข้มแข็ง ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยจะนำรายได้ดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. การลงทุนขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อให้สามารถครอบคลุมและเข้าถึงประชาชนทุกส่วนของประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิตอลของภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง
นายสมคิดกล่าวว่า 2. เสริมสร้างความเข้มแข็งความก้าวหน้าของประเทศตามแนวทางปฏิรูปทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง โดยเฉพาะการบกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างความเจริญ และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการปฏิรูปเพื่อยกระดับความสามารถของประเทศในอนาคตข้างหน้า และ 3. จัดสรรให้กับเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง เพื่อเป็นการรักษาวินัยการคลังของประเทศ
ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 56,000,000,000 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น เป็นจำนวนไม่เกิน 47,661,027,300 บาท และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 8,338,972,700 บาท โดยงบประมาณดังกล่าวจะนำไปใช้ในการดำเนินการตามตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นจำนวนไม่เกิน 47,661,027,300 บาท โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งและก้าวหน้าของประเทศตามแนวทางปฏิรูป เป็นจำนวน 32,661,027,300 บาท และเพื่อจัดสรรตามแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นจำนวน 15,000,000,000 บาท นอกจากนี้ยังนำไปเพื่อชดใช้เงินคงคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เป็นจำนวน 8,338,972,700 บาท
ด้านสมาชิก สนช.ได้อภิปรายแสดงความเห็นสนับสนุนร่างฯ แต่มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกผันผวน และตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศที่มีแนวโน้มสูง และมาตาการการบริหารจัดการอย่างโปร่งใส อาทิ นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช.กล่าวว่า เข้าใจถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องออกกฎหมายงบประมาณรายจ่ายงบ 5.6 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปใช้สร้างเสริมสร้างความเข้มแข็งความก้าวหน้าประเทศ แต่ตนกังวลใจในรายได้รายรับ การที่รัฐบาลมั่นใจว่าจะมีรายได้เพิ่มจากการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 5.6 หมื่นล้านบาทแน่นอน เพราะมีสัญญาเป็นหลักฐาน แต่รายรับหากพิจารณาจากข้อสมมุติฐานจากเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป การขยายตัวของจีดีพี ที่ในปี 59 ประมาณไว้ที่ 3.0-4.0 แต่มีการประมาณใหม่เป็น 3.2-3.7 อัตราเงินเฟ้อ ประมาณในปี 59 อยู่ที่1.0-2.0 และประเมินใหม่อยู่ที่ 0.1-0.6 ซึ่งในงบประมาณกำหนดรายรับปี 59 ระบุจำนวน2.7 ล้านล้านบาท ประมาณรายรับจะมาจากรายได้ 2.3 ล้านล้านบาท และเงินกู้ 2.9 แสนล้านบาท รายรับจากภาษีน้ำมันปี 59 ประมาณรายว่าเก็บได้ 1.6 แสนล้านบาท มากกว่ากว่าปี 58 จำนวน 1 แสนล้านบาท แต่สถานการณ์น้ำมันปัจจุบันราคาลดลงมาก และคาดว่าจะลดลงอีกนาน ดังนั้นเราจะสามารถจัดเก็บภาษีน้ำมันได้ตามเป้าหมาที่กำหนดได้หรือไม่ นอกจากนี้ในส่วนของภาษียาสูบ และแสตมป์ยาสูบ กำหนดไว้ในปี 59 จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท รัฐบาลเพิ่มอัตราภาษียาสูบขึ้น แต่จะมีผลสะท้อนคือเมื่อราคาสูงขึ้นจะมีการลักลอบนำเข้าจะมีมากยิ่งขึ้น รัฐบาลมีมาตรการป้องกันแก้ไขอย่างไร และอาจจะมีจำนวนคนสูบลดลงหรือไม่
“จากการวิเคราะห์เอกสารบันทึกสรุปสาระสำคัญว่าปัจจัยสำคัญที่ต้องพึงระวังแนวโน้มการชะลอตัวเศรษฐกิจของจีน ความผันผวนเศรษฐกิจการเงินของโลก ทิศทางนโยบายการเก็บเงินผู้ค้าที่สำคัญ ขณะนี้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวและอาจมีปัญหาค่าเงินหยวนที่มีการเปลี่ยนแปลงลงอาจมีผลกระทบต่อไทยได้ หากเก็บไม่ได้ตามเป้าหมาย ขณะเกี่ยวกันได้เงินเพิ่มมา 5.6 หมื่นล้านบาทจากประมูลคลื่นแล้วมาตั้งงบเพิ่มรายจ่ายดังกล่าว ถ้าเก็บไม่ได้จะมีปัญหากระทบต่อการตั้งงบปี 60”
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิก สนช.กล่าวว่า การจัดงบส่วนหนึ่งไปเสริมสร้างความเข้มแข็งตามแนวทางปฏิรูป ครอบคลุมมิติทั้ง 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง จำนวนเงิน 3 หมื่นล้านบาท มีการจัดสัดส่วนให้น้ำหนักไปสู่แต่ละด้านอย่างไร กรณีที่รัฐบาลใช้งบประมาณนำระบบเทคโนโลยีสื่อสารโซเชียลมีเดียลงไปในหมู่บ้าน 3 หมื่นแห่ง หรือที่เรียกว่า “หมู่บ้านบริสุทธิ์ด้านสื่อสารมวลชน” ทั้ง 3 หมื่นหมู่บ้านนี้ไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเลย มีการดำรงชีวิตมีความสุขพอสมควร ตนมองว่าหากรัฐบาลนำอินเทอร์เน็ตเข้าไปควรจะระวังเรื่องความมั่นคงยั่งยืนด้านสังคม เพราะก่อนหน้านี้มีการนำโครงการนี้ลงไปใน 4 หมื่นหมู่บ้านก็พบปัญหาด้านสังคม เช่น การใช้จ่ายสิ่งไม่จำเป็น การตั้งครรภ์ในวัยอันไม่สมควร เนื่องจากมีการรับข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย
“ดังนั้นหากจะนำระบบบดิจิตอลมาทำมาร์เกตติ้งในหมู่บ้านเพื่อค้าขายพืชผลเกษตรเพื่อความคุ้มค่ามันก็ดี แต่ผลลบอาจจะมีมูลค่ามากกว่าก็ได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องจัดงบประมาณคู่ขนานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้คุ้มค่าทางบวกด้วย”
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิก สนช.กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเสริมสร้างความเข้มแข็งและความก้าวหน้าของประเทศตามแนวทางปฏิรูปจำนวน 3.2 หมื่นล้านบาทหรืองบกลาง หากนับรวมกับงบกลางที่อยู่ในงบปี 59 จำนวน 4.2 แสนล้านบาท จึงอยากทราบว่าจะมีการบริหารงบประมาณดังกล่าวให้เกิดความโปร่งใสอย่างไร เพราะแม้งบกลางมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ แต่การตรวจสอบทำได้ยากและอาจทำให้ขาดวินัยทางการเงินการคลัง อีกทั้งงบในส่วนนี้ยังไม่มีการแสดงรายละเอียดของหน่วยงานที่รับผิดชอบและไม่มีแผนการใช้เงินที่ชัดเจน ซึ่งควรต้องระวังไม่ให้เข้าข่ายเป็นการประชานิยม และหนี้สาธารณะเดือน ธ.ค. 2558 จำนวน 6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 44.4% ของจีดีพี เป็นตัวที่ชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องรักษาเพดานเงินกู้พอสมควร ดังนั้น รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้มีหนี้สาธารณะสูงขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม สมาชิกได้ลงมติรับหลักการวารแรกด้วยคะแนน 189 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และใช้กรรมาธิการเต็มสภา พิจารณาวาระ 2 โดยไม่มีสมาชิกอภิปราย จากนั้นได้ลงมติวาระ 3 ด้วยคะแนน 191 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ประกาศใช้บังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป