อ้างจำเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจ “สนช.” ถก 3 วาระรวด งบกลางปี 59 วงเงิน 5.6 หมื่นล้าน เนื้อหารวมจำนวน 8 มาตรา จับตา งบไอซีที เพิ่ม 1.5 หมื่นล้าน อ้างรองรับเศรษฐิกิดิจิตอล วางรากฐานโทรคมนาคมทั่วประเทศ ผุด “อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหมู่บ้าน” หลังผ่าน ครม. ไม่กี่เดือน
วันนี้ (16 ก.พ.) นายยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงว่า ในวันที่ 18 ก.พ. ที่ประชุม สนช. จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เป็นการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2559 เป็นเงินไม่เกิน 56,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น จำนวนไม่เกิน 47,661 ล้านบาท และเพื่อชดเชยเงินคงคลัง เป็นจำนวน 8,338 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยที่ประชุม สนช. จะพิจารณา 3 วาระรวด เนื่องจากมีความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณซึ่งเป็นการดำเนินการปฏิรูป 37 ประเด็นที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ส่งให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ
มีรายงานว่า สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิมเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 พ.ศ....ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยร่างดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการตั้งงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 56,000,000,000 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น เป็นจำนวนไม่เกิน 47,661,027,300 บาท และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 8,338,972,700 บาท โดยงบประมาณดังกล่าวจะนำไปใช้ในการดำเนินการตามตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นจำนวนไม่เกิน 47,661,027,300 บาท โดยมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ คือ เพื่อจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งและก้าวหน้าของประเทศตามแนวทางปฏิรูป เป็นจำนวน 32,661,027,300 บาท และเพื่อจัดสรรตามแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล เป็นจำนวน 15,000,000,000 บาท นอกจากนี้ ยังนำไปเพื่อชดใช้คงคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เป็นจำนวน 8,338,972,700 บาท
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 พ.ศ. .... มีเนื้อหารวมจำนวน 8 มาตรา คือ ตั้งประมาณเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 56,000,000,000 บาท แยกเป็นงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมงบกลาง ในความควบคุมของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ จำนวน 32,661,027,300 บาท เป็นงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 15,000,000,000 บาท และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ในความควบคุมของกระทรวงการคลัง จำนวน 8,338,972,700 บาท ทั้งนี้ กำหนดให้กระทรวงการคลังมีอำนาจสั่งจ่ายเงินแผ่นดิน ตามรายการและจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่สำนักงบประมาณจะได้จัดสรร หรือตามที่จะได้มีการโอนเปลี่ยนแปลงตามกฎหมาย และให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ในส่วนของงบกลางนั้นรัฐบาลมีแผนงานที่จะนำไปใช้การพัฒนาขีดความสามารถและเสริมสร้างศักยภาพของประเทศเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งและความก้าวหน้าของประเทศตามแนวทางปฏิรูปเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลตามแนวทางปฏิรูปในการสร้างความเข้มแข็งและก้าวหน้าของประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคม และความมั่นคง
ขณะที่การตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจำนวน15,000,000,000 บาท จะนำไปใช้ใน “แผนงานพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล” เพื่อจัดทำ “โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” ซึ่งมีรายละเอียดของโครงการ ได้แก่ การขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิตอลของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลง
โดยให้มีการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิตอลและวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิตอลให้เริ่มขับเคลื่อนได้อย่างจริงจัง ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ผ่านสายเคเบิลใยแก้วนำแสง ทำให้ทุกหมู่บ้านสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ ทำให้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ นำความเจริญเข้าสู่หมู่บ้านอย่างทั่วถึงในด้านต่าง ๆ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีโครงข่ายเชื่อมต่อระหว่างประเทศที่มีเสถียรภาพและมีความจุเพียงพอ ลดค่าบริการการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต่างประเทศ ทำให้ค่าบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับประชาชนถูกลง ส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบกิจการให้บริการด้านเนื้อหารายใหญ่ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ต หรือศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิตอลของภูมิภาคอาเซียน