xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ พบปะนักวิทยาศาสตร์ ผู้แทนสมาคมวิชาชีพไทยในสหรัฐฯ-แคนาดา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” พบปะกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ไทย ผู้แทนสมาคมวิชาชีพไทยในสหรัฐฯ-แคนาดา ย้ำ รบ.มีเป้าใช้ประโยชน์วิทย์-ศก.ให้ไทยหลุดพ้นประเทศรายได้ปานกลาง เพิ่มความสามารถแข่งขัน สร้างบุคลากร ร่วมมือชาติที่พัฒนาแล้วเรียนรู้เทคโนโลยี หนุนเขต ศก.พิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ ขอกลุ่มคนไทยที่ทำงานในต่างแดนถือเป็นกลุ่มที่ 13 ของคณะทำงานประชารัฐ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 16.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรม RitzCarlton เมือง Rancho Mirage สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบปะกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ไทย ผู้แทนสมาคมวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (Association of Thai Professionals in America and Canada - ATPAC) และกลุ่มนักวิชาชีพไทยสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในสหรัฐอเมริกา เพื่อแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และรับทราบนโยบายการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยพลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้มีโอกาสพบกับกลุ่มคนไทยที่มีความรู้ มีศักยภาพและเป็นสมองของประเทศ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในสาขาที่ต่างกันออกไป แต่เชื่อว่าทุกคนมีความปรารถนาดีจะร่วมกันการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าและก้าวทันประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก พร้อมรับฟังความคิดเห็นและแนวทางการปฏิรูปและการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศไทย

รัฐบาลมีเป้าหมายชัดเจนที่จะใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ไทยหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง คือ เร่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากร การแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันของประเทศ และส่งเสริมระบบการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Stem) เพื่อพัฒนาประเทศ ผลิตกำลังคนคุณภาพในสาขาที่ขาดแคลน และกำหนดให้การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเป้าหมายสำคัญเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สร้างบุคลกรคุณภาพ เพื่อรองรับการก้าวไปสู่การเป็นเศรษฐกิจ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องการที่จะร่วมมือกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยี ถ่ายทอดองค์ความรู้ และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษาวิจัยกับภาคเอกชน/อุตสาหกรรม รวมทั้งการดึงภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการลงทุนในนวัตกรรม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มี นโยบายส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งในเป้าหมายระยะแรกมีทั้งสิ้น 6 คลัสเตอร์ แบ่งเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์ 4 สาขา ประกอบด้วย (1) ยานยนต์และชิ้นส่วน (2) เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม (3) ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม(4) ดิจิตอล และอีก 2 คลัสเตอร์ที่เกี่ยวกับ เกษตรแปรรูป สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และมีกิจการเป้าหมาย ได้แก่ ซอฟท์แวร์ Digital Content ศูนย์ Data Center การสร้าง Software Park การสร้าง Movie Town การสร้างภาพยนตร์ และการบริการธุรกิจสร้างภาพยนตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งหมด นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการผลักดันเป้าหมาย การสร้างผู้ประกอบการ SME และการสร้างสตาร์ทอัพด้วย

โอกาสนี้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ไทย ผู้แทนสมาคมวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (Association of Thai Professionals in America and Canada - ATPAC) และกลุ่มนักวิชาชีพไทยสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวสนับสนุนแนวทางการพัฒนาประเทศที่อยู่บนพื้นฐานการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยผู้แทนกลุ่มวิทยาศาสตร์ สนับสนุนการเตรียมความพร้อมประเทศ โดยให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ เพราะไทยจำเป็นต้องแข่งขันกับประเทศต่างๆ รวมทั้งประโยชน์ของวิทยาศาสตร์ทั้งในแง่การพัฒนาและความมั่นคง ซึ่งจะต้องส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชน ใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ให้มากยิ่งขึ้น

กลุ่มวิศวกร จากกลุ่ม ATPAC ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการบริหารจัดการน้ำ พร้อมให้การสนับสนุนแนวทาง การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ เนื่องจากเห็นว่าไทยประสบปัญหาเรื่องน้ำแล้ง น้ำท่วมและน้ำเสีย ส่งผลต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม แต่สามารถบริหารจัดการเพื่อบรรเทาปัญหาได้ และยินดีให้ความร่วมมือและประสานกับรัฐบาลและหน่วยงานของไทย

คณะคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ ได้กล่าวถึงการบริหารจัดสรรทุนภาครัฐทั้งกระบวนการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งแต่การส่งไปเพื่อฝึกอบรม การกระจายทุน การบริหารจัดการทุน ให้ตรงกับความต้องการของประเทศให้มากที่สุด เสนอให้มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ร่วมให้การสนับสนุนทุน เพื่อใช้จำนวนเงินทุนของรัฐที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างนักวิจัยสหรัฐ ฯ เพื่อมาร่วมวิจัย จะทำให้มีถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (animation and digital content) กล่าวว่า สิ่งสำคัญ คือ การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์ไทย แม้จะมีศักยภาพในการผลิตงานในระดับโลก แต่มักไม่เป็นที่รู้จัก ดังนั้น การสนับสนุนการสร้างผลงานร่วมระหว่างไทยและสหรัฐ ฯ เพื่อทำให้ศักยภาพและฝีมือของคนไทยสามารถเผยแพร่และเป็นทีรู้จักในสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการดึงนิทรรศการศิลปะ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้จัดขึ้นในเมืองไทย สนับสนุนศิลปิน นักคิดสร้างสรรค์ของไทยร่วมการประกวดการแข่งขันในระดับสากล นอกจากนี้ ยังเสนอให้ภาครัฐเตรียมความพร้อม ตั้งแต่ การผลิตหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย การจัด online training programme เพื่อพัฒนาบุคลากร ส่งเสริมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วน และยืนยันว่ารัฐบาลบรรจุแผนการพัฒนาและการบริหารราชการแผ่นดิน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งการแบ่งกลุ่มออกเป็น 6 กลุ่มงาน ครอบคลุม ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา กฎหมายและการต่างประเทศ และการ บูรณาการแผนงานงบประมาณ เพื่อผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ มีการปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยต้องผูกพันกับการพัฒนา มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับไทยด้วย ก็จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม รัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรมในระบบ cluster เดิมจากการผลิตเป็นชิ้นส่วนให้เน้นการพัฒนาเทคโลยี ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาระบบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน

“วันนี้ดีใจที่เห็นคนมาช่วยชาติ ช่วยประเทศ ภาครัฐ เอกชน และกลุ่มพลังคนต่างๆ ต้องหากันให้เจอ เพื่อช่วยเพิ่มเติมซึ่งกันและกันเพื่อ โดยกลุ่มคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศนี้ ขอให้ถือเป็นกลุ่มที่ 13 ของคณะทำงานร่วมรัฐเอกชน ประชาชน หรือประชารัฐด้วย”



กำลังโหลดความคิดเห็น