xs
xsm
sm
md
lg

กสม.หนุนสิทธิชุมชนตามเดิม หลักการต้องไม่ต่ำกว่าฉบับเก่า ควรมีหมวดปฏิรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
กสม. ประชุมพิจารณาร่าง รธน. ประเด็นเกี่ยวข้องสิทธิชุมชน ทรัพยากร แนะ บัญญัติมาตรา 4 รธน. ชั่วคราวไว้ในร่างจริง ย้ำสิทธิต้องไม่ต่ำกว่าร่างเดิม กำหนดสิทธิชุมชนตามเดิม ควรกำหนดหมวดปฏิรูปแทนบทเฉพาะกาล

วันนี้ (14 ก.พ.) นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวว่า คณะอนุกรรมการได้มีการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยมีข้อเสนอแนะ ให้นำหลักการของบทบัญญัติมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาบัญญัติแทนมาตรา 4 ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นการประกาศเจตจำนงของรัฐไทยในการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค รวมทั้งรับรองหลักสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ควรรับรองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยในเรื่องต่าง ๆ โดยคงหลักการไม่ต่ำไปกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ควบคู่ไปกับการกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะทำให้การใช้สิทธิของประชาชนและการทำหน้าที่ของรัฐมีความสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งได้รับการยอมรับจากประชาชนและประชาคมโลกยิ่งขึ้น

สำหรับเรื่องสิทธิชุมชนคณะอนุกรรมการ เห็นว่า ควรยืนยันกำหนดสิทธิชุมชนไว้ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตามเดิม โดยมีหลักการและสาระสำคัญไม่ต่ำไปกว่าที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 66 และมาตรา 67 เคยรับรองไว้ ทั้งนี้ เห็นว่าขอบเขตของสิทธิชุมชนเกี่ยวข้องกับสิทธิในเรื่องอื่น ๆ ดังนั้น เพื่อให้การใช้สิทธิชุมชนมีความสมบูรณ์ขึ้น จำเป็นที่ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องรับรองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิชุมชน เช่น สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการที่เกี่ยวข้องกับชุมชน สิทธิที่จะได้รับข้อมูล คำชี้แจงเหตุผลก่อนการอนุญาต หรือการดำเนินโครงการ กิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมสุขภาพอนามัยคุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับชุมชน การมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน สิทธิการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของรัฐอันอาจมีผลกระทบต่อชุมชน

ส่วนประเด็นการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม การสร้างความปรองดองที่เป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาล และเป็นความคาดหวังของภาคส่วนต่าง ๆ เห็นว่า ควรกำหนดเป็นหมวดการปฏิรูปแทนการกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล เพื่อให้เกิดกลไก รวมทั้งวางกรอบการปฏิรูปให้ชัดเจนยิ่งขึ้นและนำไปสู่การขับเคลื่อนได้อย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น