xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” ขึ้นศาลสู้คดีจำนำข้าวนัดสอง 17 ก.พ.ขอแจงทุกประเด็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายังที่มหาวิทยาลัยชินวัตร เพื่อเป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัย ระหว่างมหาวิทยาลัยชินวัตรและสภาวิจัยแห่งอิตาลี โดยมีเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยร่วมเป็นสักขีพยาน
“ยิ่งลักษณ์” โผล่ ม.ชินวัตร รับเตรียมขึ้นศาลสู้คดีจำนำข้าวนัดสอง 17 ก.พ. เผยเตรียมแจงทุกประเด็น หลังประธานฯ สอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว แจง” โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ดี ไม่ผิด แต่วิธีการผิด” เผยออกสื่อนอก “เงียบ 2 ปี ขอพูดบ้าง” ด้าน “คนเพื่อไทย” ขย่มรัฐรับผิดชอบอย่างไร อ้าง“อัยการสูงสุด” นำความเท็จที่เกิดจากความผิดพลาดของ จนท.รัฐ ฟ้องอาญา

วันนี้ (12 ก.พ.) มีรายงานว่า เมื่อช่วงเช้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายังที่มหาวิทยาลัยชินวัตร เพื่อเป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัย ระหว่างมหาวิทยาลัยชินวัตร และสภาวิจัยแห่งอิตาลี โดยมีเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยร่วมเป็นสักขีพยาน

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปฏิเสธจะแสดงความเห็นถึงกรณีที่นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่ผิด แต่ผิดที่วิธีการบริหารงาน รวมถึงกรณีที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าข้าวในสต๊อกจำนวน 3.9 แสนตัน ไม่ได้หาย แต่เกิดจากความผิดพลาดที่เจ้าหน้าที่ลงบัญชีผิด

“เดี๋ยวค่อยไปเจอกันที่ศาลในวันที่ 17 ก.พ.นี้ แล้วถามพร้อมๆ กันทีเดียว” อดีตนายกฯ กล่าวสั้นๆ โดยพร้อมจะชี้แจงที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระหว่างนัดไต่ส่วนนัดที่สองในวันที่ 17 ก.พ.นี้

โดยศาลฎีกาฯ ได้อนุญาตให้โจทก์นำพยานเข้าไต่สวน 14 ปาก จากที่ยื่นขอทั้งหมด 17 ปาก กำหนดไต่สวน 5 นัด ประกอบด้วย วันที่ 15 มกราคม 2559 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 วันที่ 4 มีนาคม 2559 และวันที่ 23 มีนาคม 2559 และอนุญาตให้จำเลยนำพยานเข้าไต่สวน 42 ปาก จากที่ยื่นขอทั้งหมด 43 ปาก กำหนดไต่สวน 16 นัด ประกอบด้วย วันที่ 1 เมษายน 2559 วันที่ 22 เมษายน 2559 วันที่ 13 พฤษภาคม 2559 วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 วันที่ 17 มิถุนายน 2559 วันที่ 24 มิถุนายน 2559 วันที่ 8 กรกฎาคม 2559 วันที่ 22 กรกฎาคม 2559 วันที่ 5 สิงหาคม 2559 วันที่ 19 สิงหาคม 2559 วันที่ 9 กันยายน 2559 วันที่ 23 กันยายน 2559 วันที่ 7 ตุลาคม 2559วันที่ 21 ตุลาคม 2559 วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 และวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559

ขณะที่ ในเย็นวันนี้ (12 ก.พ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเปิดแปลงผักสลัดที่ปลูกในบ้านพักต้อนรับสื่อมวลชนของสำนักข่าวต่างประเทศที่เดินทางมายังบ้านพักเพื่อสัมภาษณ์พิเศษ

มีรายงานว่า เมื่อวานนี้ (11 ก.พ.) หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล (The Wall Street Journal) สื่อในสหรัฐอเมริกา เผยแพร่คำสัมภาษณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอนหนึ่งระบุว่า “ดิฉันไม่เคยคิดหนีแม้กระทั่งหลังรัฐประหาร แต่ดิฉันเงียบมานานพอแล้ว คงต้องขอพื้นที่ชี้แจงบ้าง”

ขณะที่สเตรทส์ไทม์ (The Straits Times) สื่อยักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์ เผยแพร่คำสัมภาษณ์ตอนหนึ่งเช่นกันว่า “เราเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยยังได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชน คนตัดสินคือประชาชนค่ะ ต้องฟังเสียงคนส่วนใหญ่ ดิฉันไม่มีตำแหน่งอะไร เป็นแค่คุณแม่ลูกหนึ่ง ฉะนั้นไม่ต้องหวาดหวั่นอะไรในตัวดิฉัน นักการเมืองมาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้แทนของประชาชน ถ้าคุณไม่เชื่อถือนักการเมืองนั่นแปลว่าคุณไม่ไว้วางใจประชาชน ดิฉันพยายามอยู่เงียบๆ มานานเกือบ 2 ปี ปล่อยให้รัฐบาลบริหารประเทศไป แต่บางครั้งจำเป็นต้องออกมาพูดเพราะเกรงว่าประชาชนจะเข้าใจอะไรคลาดเคลื่อน”

อีกด้านแกนนำพรรคเพื่อไทย อย่างนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่ารู้สึกงงเมื่อได้ยินนายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว ระบุว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ดี ไม่ผิด แต่วิธีการผิด ซึ่งเท่ากับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมรับว่าการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรา 84 (8) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

ส่วนที่บอกว่าผิดที่วิธีการนั้นคือเห็นว่ามีความผิดในส่วนการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) แต่งตั้งให้คณะอนุกรรมการเป็นผู้รับผิดชอบ ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นคือประเด็นที่ประธานคณะกรรมการฯ เพิ่งบอกว่าเป็นนโยบายที่ดีนั้น ได้ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำไปยื่นขอถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้ถอดถอนไปเรียบร้อยแล้ว แย่ยิ่งกว่าคืออัยการสูงสุด (อสส.) นำประเด็นที่บอกว่าเป็นประโยชน์กับชาวนานี้ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อศาล โดยอ้างว่าเพื่อทำให้เกษตรกรเสียหาย ไม่เป็นการสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้แก่เกษตรกร แต่เป็นนโยบายประชานิยมที่นำไปสู่การทุจริตเชิงนโยบาย

“ผมขอประณามว่า คือ อสส.นำเอาประเด็นข้าวจำนวน 390,000 ตันที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์เพิ่งบอกว่าไม่ได้หายไปไหน แต่เป็นการลงบัญชีผิดพลาดนั้น ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยบรรยายฟ้องว่าความเสียหายในทางทรัพย์สินอื่น ได้แก่ การจัดเก็บรักษาข้าวตามโครงการเกิดการสูญหายหรือขาดบัญชี สรุปคืออสส.นำความเท็จที่เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ ไปฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกถึง 10 ปี และรัฐบาลกำลังจะเอาเรื่องนี้ไปเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์อีก นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2558 คุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐและการดำเนินการต่อผู้รับผิด เพื่อคุ้มครองตัวเองและบริวาร ใส่ร้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ คำถามคือรัฐบาลนี้จะรับผิดชอบอย่างไรกับการนำเอาความเท็จไปฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นคดีอาญา” นายวัฒนากล่าว

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวเช่นกันว่า ถือเป็นตรรกะที่ย้อนแย้ง ตัวนโยบายไม่ผิด แต่จะให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้กำกับนโยบายผิด ทั้งที่โครงการรับจำนำข้าว ดำเนินการในรูปแบบของคณะบุคคล แต่งตั้งโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช. ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 24 คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเสนอกรอบนโยบาย การอนุมัติแผนงาน โครงการและมาตรการเกี่ยวกับการผลิตและการตลาด รวมถึงการติดตาม กำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการและโครงการที่อนุมัติ นอกจากนี้ กขช. ยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 2 ชุด รับผิดชอบงานด้านปฏิบัติการประกอบด้วย (1) คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการจำนำข้าว และ (2) คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ตามคำสั่ง กขช. ที่ 4 และ 5/2554 ลงวันที่ 12 กันยายน 2554 ทั้งสองฉบับ โครงการรับจำนำข้าวเปลือก เป็นโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกเพื่อช่วยเหลือชาวนาอันเป็นนโยบายสาธารณะทางเศรษฐกิจตามมาตรา 84 (8) ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่บัญญัติให้รัฐต้อง “คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิตและการตลาด ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด” มีผลเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกษตรกรเกิดกำลังซื้อเพื่อให้เกิดการบริโภค จึงไม่ใช่การค้าขายโดยรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ สามารถช่วยชาวนาได้กว่า 4 ล้านครัวเรือน หรือกว่า 10 ล้านคน

ดังนั้น ผลสอบที่บอกว่าการดำเนินนโยบายจำนำข้าวไม่ผิด ไม่ก่อความเสียหาย ถือเป็นการยืนยันอีกครั้งว่า โครงการจำนำข้าวไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยยืนยันตอกย้ำเสมอมา ดังนั้นเมื่อโครงการรับจำนำข้าว เป็นนโยบายที่ถูกต้อง ไม่ผิด ไม่ก่อความเสียหาย แล้วจะไปดำเนินคดีหรือให้ท่านอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหายใดๆ ได้อย่างไร เพราะเมื่อนโยบายไม่ผิด ผู้กำกับนโยบายก็ยิ่งต้องไม่ผิด การช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาล โครงการรับจำนำข้าวก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทั้งกับเกษตรกรที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมโครงการ เป็นมูลค่ามหาศาล ส่วนเรื่องทุจริตคอร์รัปชันในระดับปฏิบัติการหรือระดับใด หากตรวจสอบพบ ก็ต้องเร่งดำเนินการเอาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี ไม่ใช่จ้องจะมาเอาผิดกับผู้กำกับนโยบาย


กำลังโหลดความคิดเห็น