“บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 ผ่าตัดแต่งตั้งตำรวจชั้นพนักงานสอบสวน 13 ระดับ เลิกระบบ สบ 1-สบ 3 สั่งปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ในการสอบสวนใหม่ เผยให้สอดคล้องกับโครงสร้างและระบบการบังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สั่งเพิ่มเงินพิเศษให้พนักงานสอบสวนและอยู่ในสายงานสอบสวน ให้อำนาจ “นายกรัฐมนตรี” แต่งตั้ง ผบ.ตร.หากตำแหน่งว่าง ส่วนตำแหน่งอื่น ผบ.ตร.-เทียบเท่าแต่งตั้ง มีผลกลางเดือนนี้
วันนี้ (5 ก.พ.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2559 เรื่องการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน ดังนี้
“เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดินและกระบวนการยุติธรรม สมควรปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนเสียใหม่ให้สอดคล้องกับโครงสร้างและระบบการบังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันจะส่งผลในการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในงานการสอบสวน อาศัยอำนาจตามความ ในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความใน (๔) ของมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๔) วางระเบียบหรือทำคำสั่งเฉพาะเรื่องไว้ให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติการเกี่ยวกับการใช้อำนาจหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่น”
ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๔๔ ตำแหน่งข้าราชการตำรวจมีดังต่อไปนี้
(๑) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
(๒) จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
(๓) ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
(๔) ผู้บัญชาการ
(๕) รองผู้บัญชาการ
(๖) ผู้บังคับการ
(๗) รองผู้บังคับการ
(๘) ผู้กำกับการ
(๙) รองผู้กำกับการ
(๑๐) สารวัตร
(๑๑) รองสารวัตร
(๑๒) ผู้บังคับหมู่
(๑๓) รองผู้บังคับหมู่
ก.ตร. จะกำหนดให้มีตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น โดยจะให้มีชื่อตำแหน่งใดเทียบกับตำแหน่ง ตามวรรคหนึ่งก็ได้ โดยให้กำหนดไว้ในกฎ ก.ตร.”
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“การกำหนดจำนวนตำแหน่งข้าราชการตำรวจตั้งแต่ตำแหน่งผู้บังคับการ หรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไปในส่วนราชการต่าง ๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ต.ช. ก่อน”
ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๔๖ ให้ข้าราชการตำรวจซึ่งดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๔๔ (๙) (๑๐) และ (๑๑) ที่มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนและอยู่ในสายงานสอบสวน ได้รับเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษตามระเบียบที่ ก.ตร. กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง”
ข้อ ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗
ข้อ ๖ ให้ยกเลิกความใน (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) และ (๑๑) ของมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๖) ตำแหน่งผู้บังคับการ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจเอกซึ่งได้รับอัตราเงินเดือนพันตำรวจเอก (พิเศษ) หรือพลตำรวจตรี
(๗) ตำแหน่งรองผู้บังคับการ ให้แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจเอกหรือพันตำรวจเอกซึ่งได้รับอัตราเงินเดือนพันตำรวจเอก (พิเศษ)
(๘) ตำแหน่งผู้กำกับการ ให้แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจโทหรือพันตำรวจเอก
(๙) ตำแหน่งรองผู้กำกับการ ให้แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจโท
(๑๐) ตำแหน่งสารวัตร ให้แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศร้อยตำรวจเอกขึ้นไปแต่ไม่สูงกว่าพันตำรวจโท
(๑๑) ตำแหน่งรองสารวัตร ให้แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศร้อยตำรวจตรีขึ้นไปแต่ไม่สูงกว่าร้อยตำรวจเอก”
ข้อ ๗ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๗๒ ในกรณีที่ตำแหน่งข้าราชการตำรวจในส่วนราชการหรือหน่วยงานใดในสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่างลง หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้บังคับบัญชาดังต่อไปนี้
สั่งให้ข้าราชการตำรวจซึ่งเห็นสมควรรักษาราชการแทนในตำแหน่งนั้นได้
(๑) นายกรัฐมนตรี สำหรับตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
(๒) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำหรับตำแหน่งตั้งแต่จเรตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือตำแหน่งเทียบเท่าลงมา
(๓) ผู้บัญชาการหรือตำแหน่งเทียบเท่า สำหรับตำแหน่งตั้งแต่ผู้บังคับการหรือตำแหน่งเทียบเท่าลงมาในส่วนราชการนั้น
(๔) ผู้บังคับการหรือตำแหน่งเทียบเท่า สำหรับตำแหน่งตั้งแต่ผู้กำกับการหรือตำแหน่งเทียบเท่าลงมาในส่วนราชการนั้น”
ข้อ ๘ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๐๔ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๐๔ ในการออกจากราชการของข้าราชการตำรวจตำแหน่งตั้งแต่ผู้บังคับการหรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไป หากเป็นกรณีการออกจากราชการตามมาตรา ๙๗ ให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ”
ข้อ ๙ ตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๔๔ (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) หรือ (๑๑)ในส่วนราชการใดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้รับการกำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ ให้เป็นตำแหน่งตามมาตรา ๔๔ (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) หรือ (๑๑) แล้วแต่กรณีในส่วนราชการนั้นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ใดดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๔๔ (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) หรือ (๑๑)แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ อยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๔๔ (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) หรือ (๑๑) แล้วแต่กรณี และให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจและหน้าที่เช่นเดิมไปพลางก่อน จนกว่าการดำเนินการตามวรรคสามจะแล้วเสร็จให้ ก.ตร. กำหนดหรือตัดโอนตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง จากส่วนราชการหนึ่งไปเพิ่มให้อีกส่วนราชการหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้สั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนนั้น ให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๔๔ (๖) (๗) (๘)
(๙) (๑๐) หรือ (๑๑) ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับให้ผู้ดำ รงตำ แหน่งตามวรรคสองยังคงได้รับเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษตามมาตรา ๔๖แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ จนกว่าการดำเนินการตามวรรคสามจะแล้วเสร็จ
ข้อ ๑๐ บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติของคณะรัฐมนตรีใด ที่อ้างถึงพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการและพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๔๔ (๙) (๑๐) และ (๑๑) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ ให้ถือว่าอ้างถึงข้าราชการตำรวจซึ่งดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๔๔ (๙) (๑๐) และ (๑๑) ที่มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนและอยู่ในสายงานสอบสวน แล้วแต่กรณี
ข้อ ๑๑ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๙
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ”