MGR Online - นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 ปรับปรุงแต่งตั้งตำรวจ ฟื้นบอร์ดกลั่นกรอง คงให้อำนาจ ผบ.ตร. แต่งตั้ง แต่มีสิทธิกระจายอำนาจ ให้ รอง ผบ.ตร.- ผบช. ออกคำสั่งแต่งตั้งระดับ รอง ผบก.- สว. วาระปี 2559 ให้ ศอตช. มีอำนาจรับเรื่องร้องเรียนวิ่งเต้น เรียกรับผลประโยชน์
วันนี้ (20 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2560 เรื่อง การปรับปรุงระบบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตํารวจ ใจความว่า “โดยที่การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายและต้นทางของกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องสําคัญ โดยเฉพาะการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจให้ดํารงตําแหน่งต่างๆ หากมิได้ดําเนินการให้ถูกต้องเป็นธรรมแล้ว ย่อมกระทบต่อขวัญ กําลังใจ ความเจริญก้าวหน้าในอาชีพและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ทั้งหากมีผู้ใช้การแต่งตั้งเป็นช่องทางเรียกรับผลประโยชน์อันไม่ชอบด้วยกฎหมายและปราศจากธรรมาภิบาลด้วยแล้ว ก็ยิ่งก่อให้เกิดความคับแค้นใจแก่ผู้ได้รับผลกระทบ และอาจเป็นการผลักภาระต่อไปให้แก่ประชาชนกลายเป็นวัฏจักรแห่งการทุจริตในวงราชการ ความไร้ประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายและการอํานวยความยุติธรรม จําเป็นต้องปฏิรูประบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจ ซึ่งรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ดําเนินการในบางเรื่องบางประเด็น มาแล้วเป็นลําดับและจะต้องดําเนินการต่อไปให้สมบูรณ์ทั้งระบบเพื่อตอบสนองความคาดหวังของประชาชนในส่วนของการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจ ซึ่งตามกฎหมายในปัจจุบันเป็นอํานาจของผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาตินั้น แม้จะมีกลไกการปฏิบัติภายในสํานักงานตํารวจแห่งชาติอยู่แล้ว แต่ควรกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนการกลั่นกรองให้เกิดความรับผิดชอบ ความถูกต้องเรียบร้อยเป็นธรรม และมีความเหมาะสมตรงกับความรู้ความสามารถตามสายการบังคับบัญชาและการจัดสรรอัตรากําลังในแต่ละพื้นที่ยิ่งขึ้น เพื่อให้มีขั้นตอนชัดเจน โปร่งใส ปราศจากการวิ่งเต้น การเรียก รับ ให้หรือสัญญาว่าจะให้สิ่งตอบแทนแลกเปลี่ยนกับการแต่งตั้ง และปลอดจากระบบอุปถัมภ์ อันเป็นความจําเป็นต่อการปฏิรูประบบราชการ ตลอดจนการเตรียมการให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับกิจการของตํารวจตามมาตรา 258 และมาตรา 260 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กําลังจะประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปอาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2547 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 44/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจ ลงวันที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 54 การแต่งตั้งข้าราชการตํารวจให้ดํารงตําแหน่งตั้งแต่มาตรา 44 (7) ลงมาให้ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้บัญชาการเป็นผู้สั่งแต่งตั้ง โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอน ดังต่อไปนี้
(1) ให้หัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานระดับกองบังคับการ แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจระดับกองบังคับการ โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วยรองหัวหน้าส่วนราชการ หรือหน่วยงานนั้นทุกคนเป็นกรรมการ เพื่อทําหน้าที่พิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจให้ดํารงตําแหน่งต่างๆ ในส่วนราชการหรือหน่วยงานนั้น แล้วเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานระดับกองบัญชาการเพื่อดําเนินการตาม
(2) หรือเสนอต่อผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สั่งแต่งตั้งในกรณีการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจในสังกัดสํานักงานผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติเพื่อดําเนินการตาม (3) ต่อไป แล้วแต่กรณี (2) ให้หัวหน้าส่วนราชการ หรือหน่วยงานระดับกองบัญชาการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจระดับกองบัญชาการ โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วย รองหัวหน้าส่วนราชการ หรือหน่วยงานนั้นทุกคนเป็นกรรมการ เพื่อทําหน้าที่พิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจให้ดํารงตําแหน่งต่างๆ ในส่วนราชการหรือหน่วยงานนั้น และการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจที่ได้รับการเสนอตาม (1) แล้วเสนอต่อผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สั่งแต่งตั้งเพื่อดําเนินการตาม (3) หรือดําเนินการแต่งตั้งต่อไป แล้วแต่กรณี
(3) ให้ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจโดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วย จเรตํารวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติทุกคนเป็นกรรมการเพื่อทําหน้าที่พิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจให้ดํารงตําแหน่งต่างๆ ในสังกัดสํานักงานผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ และการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจที่ได้รับการเสนอตาม (1) หรือ (2) แล้วเสนอต่อผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สั่งแต่งตั้งเพื่อดําเนินการแต่งตั้งต่อไปกรณีที่ผู้สั่งแต่งตั้งเห็นว่ารายชื่อข้าราชการตํารวจตามวรรคหนึ่งผู้ใดมีความไม่เหมาะสม หรือมีข้าราชการตํารวจ ซึ่งเห็นสมควรดํารงตําแหน่งต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจให้เกิดประสิทธิภาพ ให้ผู้สั่งแต่งตั้งมีอํานาจแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจให้ดํารงตําแหน่งต่างๆ แล้วดําเนินการแต่งตั้ง หรือสั่งให้พิจารณาทบทวนการเสนอแต่งตั้งได้ตามควรแก่กรณี”
ข้อ 2 การแต่งตั้งข้าราชการตํารวจให้ดํารงตําแหน่งตามมาตรา 44 (7) ถึง (10)ในวาระการแต่งตั้งประจําปี พ.ศ. 2559 ให้ดําเนินการตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2559 เรื่อง การปฏิบัติราชการของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ลงวันที่ 26 เมษายน พุทธศักราช 2559 จนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยให้นําข้อ 1 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 3 การแต่งตั้งข้าราชการตํารวจให้กระทําโดยสุจริต เป็นธรรม ตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดหากมีเรื่องร้องเรียนหรือข้อสงสัยว่ามีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือมีการเรียก รับ ให้หรือสัญญาว่าจะให้ประโยชน์ตอบแทน แลกเปลี่ยนหรือจูงใจในการแต่งตั้งไม่ว่าด้วยประการใดๆ ให้ผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องดําเนินการตรวจสอบหรือสอบสวนโดยเร็ว และรายงานผลให้ผู้บังคับบัญชาเหนือชั้นขึ้นไปหรือผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติแล้วแต่กรณี ทราบเพื่อดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ต่อไป ให้ศูนย์อํานวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ การเรียก รับ ให้ หรือสัญญาว่าจะให้ประโยชน์ตอบแทนหรือการแลกเปลี่ยนหรือจูงใจในการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจ เพิ่มขึ้นอีกช่องทางหนึ่ง เมื่อตรวจสอบแล้วให้ดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไปโดยกําหนดมาตรการคุ้มครองพยานหรือผู้แจ้งเบาะแสชี้ช่องด้วยในกรณีจําเป็นจะเสนอหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อสั่งให้ข้าราชการตํารวจที่ถูกร้องเรียน หรือเกี่ยวข้องไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานอื่นหรือนอกสํานักงานตํารวจแห่งชาติเป็นการชั่วคราวระหว่างการตรวจสอบก็ได้
ข้อ 4 ให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติศึกษาแนวทางการปฏิรูปตํารวจทั้งระบบ โดยอย่างน้อยให้ครอบคลุมถึงการปรับปรุงการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจ โดยพิจารณาเปรียบเทียบผลดีผลเสียและความเป็นไปได้ของหลักประกันความเป็นธรรมในการแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์ต่างๆ การมีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม การดําเนินการทางวินัย การจัดระเบียบเกี่ยวกับอํานาจในการสอบสวนคดีอาญา การควบคุมและถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจ การกระจายอํานาจ การนําวิทยาการตํารวจสมัยใหม่ เทคโนโลยี และการบริหารราชการแนวใหม่มาใช้ในกิจการตํารวจ การปรับปรุงประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การให้บริการที่อํานวยความสะดวกแก่ประชาชนและการจัดระบบสวัสดิการของข้าราชการตํารวจโดยอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม หลักธรรมาภิบาลสิทธิมนุษยชน การรักษาความมั่นคงแห่งชาติ การปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ แล้วรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปกิจการตํารวจที่จะจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 260 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รับไปพิจารณาตามหน้าที่ และอํานาจต่อไปข้อ 5 ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้
แหล่งข่าวระดับสูง กล่าวว่า จากคำสั่งนี้ เป็นการปรับผู้มีอำนาจในการออกคำสั่งแต่งตั้งใหม่ แต่เป็นการปรับสำหรับอนาคต ซึ่งหมายความว่า ในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจวาระประจำปี 2559 ในการแต่งตั้งระดับรองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) ลงไป ยังคงให้อำนาจ ผบ.ตร. เป็นผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งทั้งหมด เป็นไปตาม คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2559 เรื่อง การปฏิบัติราชการของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ลงวันที่ 26 เม.ย. 2559 หรือ ผบ.ตร. จะมอบอำนาจให้ รอง ผบ.ตร. หรือผู้มีตำแหน่งระดับผู้บัญชาการขึ้นไปออกคำสั่งแต่งตั้ง ก็ได้ตามคำสั่งคสช.นี้ แต่ในอนาคตกฎหมายก็บังคับว่า หลังการแต่งตั้งวาระ 59 ผบ.ตร. มีสิทธิ มอบอำนาจให้ผู้ที่มีอำนาจตั้งแต่ระดับ ผบช. ขึ้นไปออกคำสั่งแต่งตั้ง ในตำแหน่งระดับรองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) ลงไป ทั้งนี้ หากมอบอำนาจไปแล้วเห็นการการดำเนินการแต่งตั้งไม่มีประสิทธิภาพ ผบ.ตร. มีสิทธิยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งนั้น หรือยกเลิกการให้อำนาจแต่งตั้งแล้วนำมาทำเองก็ได้
"ตามคำสั่ง คสช. ฉบับนี้ การแต่งตั้งไม่ว่าจะเป็นอำนาจ ผบ.ตร. ออกคำสั่ง หรือผบ.ตร. มอบอำนาจให้ระดับ รอง ผบ.ตร. ที่ปรึกษา (สบ 10) ผู้ช่วย ผบ.ตร. หรือ ผบช. ออกคำสั่งก็ตาม การพิจารณาแต่งตั้งต้องผ่านคณะกรรมการคัดเลือก หรือ บอร์ดกลั่นกรอง ตั้งแต่ระดับกองบังคับการ ต้องมีบอร์ด ที่มีรอง ผบก. ทุกนายเป็นกรรมการ จากนั้นจะต้องนำเสนอระดับ บช. ที่ต้องพิจารณาผ่านบอร์ดที่มี รอง ผบช. ทุกนายเป็นกรรมการ และหากต้องเสนอถึง ผบ.ตร. ที่มีอำนาจออกคำสั่ง ก็ต้องผ่านบอร์ด ที่ต้องมีรอง ผบ.ตร.จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ทุกนายเป็นกรรมการ หากตีความให้เข้าใจง่ายๆ การแต่งตั้งตำแหน่งระดับรอง ผบก. ลงมา ทุกรายชื่อทุกคำสั่งต้องผ่านการพิจารณาของบอร์ดกลั่นกรอง ตั้งแต่ระดับ บก. บช. ถ้า ผบ.ตร. มอบอำนาจให้ ผบช. แต่งตั้งได้ ก็ออกคำสั่งได้เลย แต่หากเป็นอำนาจแต่งตั้งของ ผบ.ตร. รายชื่อที่ผ่านบอร์ด บช. ก็ต้องเข้าบอร์ระดับ ตร. อีกครั้ง ก่อนออกคำสั่ง ซึ่งคล้ายกับกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการแต่งตั้ง พ.ศ. 2549” แหล่งข่าวระดับสูง กล่าวและว่า กรณีที่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งเห็นว่า รายชื่อที่บอร์ดเสนอแต่งตั้งไม่เหมาะสม หรือมีผู้เหมาะสมกว่าก็มีอำนาจในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง สั่งให้ทบทวนได้ ขณะที่ยังเพิ่มช่องทางการร้องเรียน หากพบการแต่งตั้งไม่ชอบธรรม ทุจริต เรียกรับ สามารถร้องต่อ ศูนย์อํานวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบหากมีความจำเป็นนำไปสู่การเสนอหัวหน้า คสช. เพื่อสั่งให้ข้าราชการตํารวจที่ถูกร้องเรียนหรือเกี่ยวข้องไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานอื่น หรือ นอกสํานักงานตํารวจแห่งชาติ เป็นการชั่วคราวระหว่างการตรวจสอบก็ได้"