ศาลปกครองไม่รับคำฟ้อง “รสนา” ขอให้ศาลสั่งรัฐบาล-หน่วยงานด้านพลังงาน แบ่งแยกหุ้น บริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย เหตุไม่ใช่ผู้เดือดร้อนเสียหาย แต่ชี้ช่องให้ยื่นร้องศาลปกครองสูงสุดขอบังคับคดีตามคำพิพากษาเดิมที่ให้ ปตท.คืนท่อก๊าซได้
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องกรณี น.ส.รสนา โตสิตระกูล ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี กระทรวงพลังงาน รมว.พลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-5 เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดร่วมกันดำเนินการแบ่งแยกหุ้นของบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) และบริษัท Trans Thai-Malaysia (Malaysia) Sdn.Bhd. ที่จัดตั้งขึ้นโดยเงินภาษีของประชาชนให้กลับมาเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ
โดยศาลให้เหตุผลว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องแล้วเห็นว่า น.ส.รสนา มีความประสงค์ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดง ที่ ฟ. 35/2550 โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นหุ้น หรือสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชน รวมถึงผลประโยชน์ของหุ้น หรือสิทธิมหาชนดังกล่าว ที่ควรได้รับต่อเนื่องมานับจากการแปรสภาพจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ไปเป็นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้กลับคืนเป็นของรัฐ จึงมีลักษณะเป็นการร้องขอให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามมาตรา 72 วรรคห้า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ประกอบมาตรา 271 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเป็นคดีใหม่ น.ส.รสนา สามารถดำเนินการร้องขอบังคับคดีต่อศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวได้โดยตรง
กรณีตามคำฟ้องจึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องและให้จำหน่ายคดีอออกจากสารบบความ