xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” เบิร์ธเดย์ 77 ปี ขอประชาชนเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ - กรธ.ย้ำสิทธิชุมชนไม่หายไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ภาพจากแฟ้ม)
ประธาน กรธ. เผย การประชุมร่วม สปท. - สนช. ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ ตกลงไว้ว่าจะให้พูดฝ่ายละ 4 คน ย้ำไม่เสียใจ บางคนพูดตามภาษาโดยไม่ดูเนื้อหา ขอของขวัญวันเกิด 77 ปี ประชาชนเข้าใจร่างฯ ด้านโฆษก กรธ. ยืนยันมาตราสิทธิชุมชนไม่หายไป ส่วนการรับฟังความคิดเห็นที่เชียงใหม่ เห็นด้วยไม่ให้คนมีประวัติด่างพร้อยเข้าสู่การเมือง พร้อมอยากเข้มงวดการปกครองท้องถิ่น และเปิดพื้นที่กระจายอำนาจ

วันนี้ (2 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะประชุมเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ตนจะเป็นผู้ชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนการตอบคำถามจะเป็นหน้าที่ของ กรธ. ที่รับผิดชอบในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ปี 2557 ที่กำหนดให้ กรธ. ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย โดยขณะนี้เรารับฟังทุกฝ่ายอยู่แล้ว แม้แต่ในโซเชียลมีเดียเราก็ดู และถ้ามีอะไรขาดตกบกพร่องเราจะนำมาเพิ่มเติม ทั้งนี้ ในการประชุมร่วมของ สปท. และ สนช. ได้ตกลงไว้ว่าจะให้พูดฝ่ายละ 4 คน เพราะอยากให้ส่งเป็นเอกสาร

นายมีชัย กล่าวว่า ไม่เสียกำลังใจ เพราะบางคนพูดตามภาษาโดยไม่ดูเนื้อหา คนที่ไม่ชอบก็ไม่ชอบ ซึ่งไม่รู้จะทำอย่างไร ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าในร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติหน้าที่ของรัฐไว้แล้ว ถ้ารัฐไม่ดำเนินการจะรับผิดชอบอย่างไรนั้น หากรัฐไม่กระทำตามถือว่าเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หรือจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนสามารถร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ เนื่องจาก ป.ป.ช. มีหน้าที่สอบสวนเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งเป็นความผิดที่รุนแรง หากเข้าใจถูกจะรู้ว่าดีกว่าที่ผ่านมา ซึ่ง กรธ. ก็ต้องพยายามชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจอย่างถูกต้อง หลังจากนี้ ถ้ามีความคิดเห็นไม่ตรงกันก็มาคุยว่าจะทำอย่างไรต่อไป

เมื่อถามว่า เนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 77 ปี ต้องการของขวัญอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า “ขอให้ประชาชนเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้อง เป็นอันใช้ได้”

ด้าน นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงความคืบหน้าการประชุม กรธ. ว่า ได้มีการหารือแนวทางการดำเนินงานภายหลังการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกว่ามีกระแสตอบรับอย่างไรบ้าง ทั้งในแง่การเห็นด้วยสนับสนุน การตั้งคำถามถึงความชัดเจน ข้อความที่หายไปไม่เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 - 2550 หรือแง่การไม่เห็นด้วยที่ชูประเด็นความไม่เป็นประชาธิปไตย จนถึงขั้นบอกว่าจะคว่ำร่าง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมที่จะเปลี่ยนแปลง บางคนอาจจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์

นายชาติชาย กล่าวต่อไปว่า หน้าที่ของ กรธ. คือ การอธิบาย รับฟังความคิดเห็นและข้อแนะนำที่ได้รวบรวมประเด็นผ่านสื่อต่าง ๆ และใช้สื่อที่มีอยู่ทำความเข้าใจต่อประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ให้เข้าใจว่าเหตุใดจึงเขียนแบบนี้ หรือไม่เขียน จะเป็นการตัดสิทธิประชาชนหรือไม่ เช่น เรื่องสิทธิชุมชน ที่มีข้อท้วงติงว่าหายไป ขอเรียนว่าไม่หายไป เขียนอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐมาตรา 54 การดำเนินการของรัฐที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบสุข วิถีชีวิต หรือสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็น แต่จากที่ฟังความคิดเห็นมา ประชาชนเสียดายอยากให้มีคำนี้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเกรงว่ารัฐอาจไม่ทำหรือทำไม่มาก และจะได้นำไปใช้อ้างสิทธิได้ เราก็รับฟัง

ส่วนผลการสัมมนาจากเวทีรับฟังความคิดเห็นของ กรธ. เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ จ.เชียงใหม่ ทุกคนเห็นด้วยกับเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ให้คนมีประวัติด่างพร้อยเข้าสู่การเมือง มีการวางกรอบให้มีความซื่อสัตย์ตามหลักธรรมาภิบาล มีกลไกไต่สวนพิพากษาการทุจริตโดยเร็ว และยังเห็นด้วยกับประเด็นต่าง ๆ ทั้งการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ส.ว. เลือกกันเอง วาระนายกฯ 8 ปี การป้องกันไม่ให้การเมืองแทรกแซงราชการ การออกกฎหมายเท่าที่จำเป็น การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งประชาชนอยากให้เข้มงวดกับเรื่องการปกครองท้องถิ่น และเปิดพื้นที่การกระจายอำนาจมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น