xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศใช้แล้ว! พระราชกําหนดนิรโทษกรรมภาษีอากร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประกาศใช้แล้ว พระราชกําหนดนิรโทษกรรมภาษีอากร นายกรัฐมนตรีลงนาม หลัง สนช. ไฟเขียว เป็น กฎหมายยกเว้น และสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 เน้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้ในปี 2558 ไม่เกิน 500 ล้านบาท

วันนี้ (21 ม.ค.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การอนุมัติพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. ๒๕๕๘

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. ๒๕๕๘ ไปเพื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ นั้น ในคราวประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙ วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๙ ที่ประชุมได้ลงมติอนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าวแล้ว จึงประกาศมาตามความในมาตรา ๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗

ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2559 มีกฎหมายภาษีสรรพากรลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้แก่ พระราชกําหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 หรือที่เรียกกันว่า “นิรโทษกรรม” สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ ยกเว้นการตรวจสอบย้อนหลัง ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญา ตามประมวลรัษฎากร โดยมีเงื่อนไขดังนี้

1. เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้ในปี 2558 ไม่เกิน 500 ล้านบาท 2. ไม่ได้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ถูกออกหมายเรียกประเมินภาษี หรือถูกดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวน อัยการ และศาล 3. ไม่เคยใช้หรือออกใบกำกับภาษีปลอม 4. ต้องมายื่นคำร้องต่อกรมสรรพากร เพื่อขอยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ตามพระราชกำหนดฉบับนี้ 5. ไม่ได้ขอคืนภาษี เพราะถ้าขอคืนภาษี กรมสรรพากรก็มีหน้าที่ต้องตรวจสอบภาษีที่ขอคืน ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 5 ของพระราชกำหนดฉบับนี้

6. ต้องจัดทำบัญชีและงบการเงินให้ถูกต้อง และไม่กระทำการใด ๆ ที่หลีกเลี่ยงภาษี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป 7. หลังจากขึ้นทะเบียนขอยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลังแล้ว กรมสรรพากรตรวจสอบพบว่าทำบัญชีหรืองบการเงินไม่ถูกต้องจะถูกเพิกถอนการได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง และ 8. ให้กระทรวงการคลังหรือธนาคารแห่งประเทศไทย ออกระเบียบให้ธนาคารพาณิชย์ใช้บัญชีหรืองบการเงินที่บริษัทหรือนิติบุคคลยื่นกับกรมสรรพากร เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงินและขออนุมัติสินเชื่อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป.


กำลังโหลดความคิดเห็น