xs
xsm
sm
md
lg

หวัง กม.ป.ป.ช.ฉบับสาม ฟัน “คนโกงหนีคดี” เป็นตัวอย่าง - ปธ.ป.ป.ช.โอดเร่งคดี 1 ปี 8 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
อดีต ป.ป.ช.ยกแนวทางสรุป พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับที่ 3 หวังฟัน “คนโกงหนีคดี” เอาผิดถึง “นิติบุคคล” ให้สินบน เจ้าหน้าที่รัฐโทษสูงสุดประหารชีวิต ด้านประธาน ป.ป.ช.รับจะให้ความเห็นร่าง รธน. หลัง กรธ.ตีกรอบทำคดีให้เสร็จใน 1 ปี 8 เดือน จี้ “ทำงานเร็ว” โอดบางคดีสำคัญต้องใช้เวลา

วันนี้ (20 ม.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเปิดโครงการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ว่า เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (UNCAC) จึงนำมาซึ่งการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อติดตามทรัพย์สินที่ได้จากการทุจริตและยักย้ายถ่ายเทไปต่างประเทศ หรือการติดตามทรัพย์สินคืนตามมูลค่าที่ได้ทุจริต ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ต่างจากกฎหมายอาญาการเอาผิดเอกชนไทยที่ให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ รวมถึงการกำหนดไม่ให้นับอายุความหากผู้ต้องคดีทุจริตหลบหนี ระหว่างการดำเนินคดี หรือเมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว การหารือร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ จะเป็นผลดีให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ

ด้านนายวิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต อดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวให้แนวทางต่อสาระสำคัญแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ว่า ประเด็นแรกที่ได้แก้ไขในตั้งแต่ฉบับที่ 2 คือ เรื่องของอายุความทางอาญาแต่ยังไม่ครบถ้วน โดยในฉบับนี้ หากหลบหนีหลังศาลมีคำพิพากษาแล้วให้อายุความหยุดลง และจะเริ่มนับอีกครั้งเมื่อกลับมารับโทษ แตกต่างจาอนุสัญญาสหประชาชาติฯ ที่ไม่ให้มีอายุความหรือให้อายุความยาวขึ้น

ประเด็นที่ 2 เรื่องการกำหนดฐานความผิดของนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ผ่านมา เราไม่เคยคิดว่านิติบุคคลเป็นตัวการ การจะไต่สวนนิติบุคคลได้ต่อเมื่อมีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ต่างจากประเทศอื่นที่มีอำนาจไต่สวนนิติบุคคล แม้ไม่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ จึงกวาดล้างการทุจริตได้ผลหลักสำคัญ คือ ไม่มีผู้ให้ก็ไม่มีผู้รับกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับที่ 3 จึงเป็นโมเดลว่า ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนระดับเริ่มต้น โดยเพิ่มเติมในมาตรา 123 วรรค 2 กำหนดความผิดนิติบุคคลที่ให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศและต่างประเทศได้ เพื่อไม่ให้การทุจริตเบ็ดเสร็จ และเรื่องนี้ไม่ใช่ ป.ป.ช.อยู่ดีๆ ก็ออกประกาศหรือร่างกฎหมายนี้ แต่เราให้นักวิชาการทำวิจัยในประเทศเกาหลีใต้ อินเดีย ฮ่องกง อย่างไรก็ตาม ทำให้ต้องติดตามเส้นทางการเงินโดยเฉพาะสัมปทานโครงการขนาดใหญ่ต้องดูอย่างละเอียด นอกจากนี้ อาจจะต้องแก้ไขกฎหมายให้ใกล้เคียงกับ ปปง.ด้วย

ประเด็นที่ 3 คือ เรื่องกำหนดโทษความผิดนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตโดยโทษประหารชีวิตนี้ต้องบอกว่ามีอยู่แล้ว เพราะนำมาตรา 149 ในกฎหมายอาญาซึ่งตรงนี้เองทำให้เราไม่ได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศ เพราะองค์กรนิรโทษกรรมสากลไม่ต้องการให้มีโทษประหารชีวิต หลายประเทศมองว่าประเทศที่มีโทษประหาร คือ ประเทศล้าหลัง ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจและทำงานหนักเพื่ออธิบายกับต่างประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม เหตุที่ไม่ได้ตัดเรื่องดังกล่าว เนื่องจากกฎหมายอาญา มาตรา 149 ที่ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐยังมีอยู่ และเราจัดการเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐไทยไม่ได้ ขอให้ทราบว่าเราทำอย่างไรกับในไทยก็ต้องทำกับต่างประเทศอย่างนั้น และต่อไปอาจมีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือใช้กฎหมายนอกอาณาเขตอีก

อีกด้าน พล.ต.อ.วัชรพลยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดระยะเวลาการไต่สวนคดีของ ป.ป.ช.ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี 8 เดือน ว่า เบื้องต้นคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้หารือประเด็นนี้ไปบ้างแล้ว แต่การทำงานของ ป.ป.ช. เมื่อดำเนินการตรวจสอบคดีทุจริตต้องใช้ระยะเวลารวบรวมพยานหลักฐานให้รอบคอบ เข้าใจว่าสังคมคาดหวังให้การทำงานของ ป.ป.ช. เป็นไปด้วยความรวดเร็ว แต่ก็จำเป็นต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้รอบด้านด้วย เพื่อให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด โดยขณะนี้คดีที่อยู่ในชั้นแสวงหาข้อเท็จจริงมีประมาณ 7-8 พันคดี ในชั้นตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนประมาณ 2 พันคดี และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะไต่สวนประมาณ 50 คดี ทั้งนี้ ป.ป.ช.กำลังดำเนินการเร่งรัดอยู่และกำหนดกรอบในด้านคดีด้วย ดังนั้นหากจะให้การดำเนินการทางคดีตรงเวลาตามที่ กรธ.บัญญัติมาก็ถือเป็นสิ่งที่ดีและกรณีจำเป็นต้องมีกลไกเพื่อขยายระยะเวลาได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

ส่วนกำหนดระยะเวลาไต่สวนเหลือเพียง 1 ปี 8 เดือน จะทำคดีต่างๆ ทันหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ถ้าให้ตรงตามกำหนดเลย ทั้งที่บางเรื่องควรใช้ระยะเวลาดำเนินการนั้น คดีสำคัญๆ อาจจะเกิดความสูญเสีย หรือไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้หารือเรื่องนี้กันแล้ว และมีคำสั่งลงไปให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติดำเนินการอยู่ และเตรียมจะปรับปรุงระเบียบการไต่สวนใหม่ให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น

“กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เพราะฉะนั้นเมื่อร่างออกมาก็จะมีช่วงที่ขอรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง จึงคิดว่ากลไกในช่วงเวลานั้นเป็นโอกาส ขณะนี้สำนักงาน ป.ป.ช.ได้ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการข้อมูลในส่วนนี้แล้ว เพื่อส่งให้ กรธ.พิจารณาถึงข้อเท็จจริง และกลไกในการไต่สวนคดีทุจริต”


กำลังโหลดความคิดเห็น