ที่ประชุมวิป สนช. ยังไม่มีญัตติตั้งคณะกรรมาธิการสร้างสังคมสันติสุขฯ เหตุรายชื่อคนนอกมีปัญหา แต่ละกลุ่มขอเพิ่มสัดส่วน ขอประสานงานกับบุคคลภายนอกอีกครั้ง ยืนยันมีตัวแทน นปช. เข้าร่วมแน่นอน เน้นคนที่มีความเห็นต่างอยู่ร่วมกันได้ ด้านรองหัวหน้า ปชป. ยันไม่ส่งคนเข้าร่วม หวั่นครหาอยากได้นิรโทษกรรมไปด้วย
วันนี้ (12 ม.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 16.00 น. นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงภายหลังการประชุม ว่า สำหรับญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาเสริมสร้างสังคมสันติสุขที่ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิก สนช. เป็นผู้เสนอ โดยมีสมาชิกได้ลงนามรับรองญัตติถึง 23 คน ซึ่งเหตุผลในการนำเสนอก็เนื่องจากเกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมที่อาจนำพาประเทศไปสู่วิกฤต โดยจะนำแนวทางของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ มาศึกษา ที่เคยศึกษาเรื่องความปรองดองมาก่อนหน้า เพื่อนำต่อยอด และปรับแก้ ก่อนเสนอเป็นแนวทางต่อไป ซึ่งอาจจะมีการเสนอแนวทางการบริหารของภาครัฐ รวมไปถึงการออกฎหมายต่าง ๆ
ทั้งนี้ สัดส่วนของ กมธ. ที่เสนอเข้ามาจำนวน 24 คน โดยเป็นสมาชิก สนช. 14 คน และเป็นคนภายนอก 10 คน แต่ปรากฏว่า ในส่วนของคนนอกมีจำนวนมากกว่าส่วนที่กำหนดไว้ จึงต้องมีการประสานงานกับบุคคลภายนอกอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะเสนอญัตติให้ที่ประชุมวิป สนช. ในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบมีรายชื่อ สนช. จะที่ร่วมนอกจาก พล.อ.อกนิษฐ์ อาทิ พล.ร.อ.ยุทธนา ฟักผลงาม, พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์, นายศิระชัย โชติรัตน์ เป็นต้น
ด้าน พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวว่า ตนยังไม่ถอนญัตติ แต่เรื่องค้างไว้ เนื่องจากมีปัญหาในส่วนรายชื่อคนนอก ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งแต่ละกลุ่มมีการขอเพิ่มสัดส่วน แต่เนื่องจากข้อบังคับการประชุมของ สนช. ได้มีข้อกำหนดในเรื่องสัดส่วน กมธ. ระหว่างสมาชิกและบุคคลภายนอกอยู่ หากจะมีการเพิ่มบุคคลภายนอกก็จะกระทบต่อสัดส่วนของสมาชิก ซึ่งในสัปดาห์ ตนประสานงานกับกลุ่มต่าง ๆ มาพูดคุยเพื่อกำหนดให้ชัดเจนก่อน ส่วนกรณีที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มีมติว่า จะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมนั้น ตนคิดว่า เป็นเรื่องภายในของ นปช. ที่จะต้องไปจัดการกันเองว่า จะส่งใครเข้ามา แต่ยืนยันว่ามีตัวแทนของ นปช. เข้าร่วมแน่นอน แต่การที่ไม่อยากเข้าร่วมเป็นเรื่องตัวบุคคล หากสุดท้ายแล้ว ไม่มี นปช. เข้ามาร่วมจริง ตนก็ต้องมองในเรื่องความสมดุล และดุลยภาพ เพราะเวลาการเสนอข้อคิดเห็นจะต้องมีการลงมติเพื่อตัดสินหาข้อยุติ ซึ่งจะมีการได้เปรียบเสียเปรียบกัน ส่วนจะเสนอรายชื่อให้วิป สนช. ในสัปดาห์หน้าหรือไม่ ต้องหารือกันก่อนเพราะเป็นเรื่องยากที่จะให้เป็นไปตามความต้องการของทุกกลุ่ม
“ผมมองข้ามเรื่องความปรองดองไปแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้คนที่มีความเห็นต่างอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข โดยวิธีการที่ดีที่สุด คือ การพูดคุยกัน ที่ผ่านมามีคนถามมากว่า จะออกนิรโทษกรรมหรือไม่ ผมก็คิดว่ายังอีกไกล แล้วถ้ามีการนิรโทษกรรมจริง แล้วมีหลักประกันอะไรว่า จะสังคมจะปรองดองกันได้ ซึ่งเรื่องนี้ในส่วนของ กมธ. ก็จะต้องพิจารณากัน เพราะหากมีการนิรโทษกรรมจริง ก็ต้องมีการแยะแยะความผิดดูกันเป็นกรณี ๆ ไป คงไม่เหมาเข่ง” พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าว
พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวว่า ก่อนที่มาเสนอเรื่องนี้ ได้ศึกษามาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ทำงานมาตลอดได้ตกผนึกจนได้ตัวบุคคลที่จะมาร่วมงาน ดังนั้น ก็เชื่อว่าจะสำเร็จ ซึ่งหากพิจารณาเสร็จก่อน 180 วัน ก็จะส่งเรื่องให้รัฐบาลดำเนินการทันที
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับรายชื่อของ กมธ. ในสัดส่วนของภาคเอกชน คือ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิก สนช. อยู่ด้วย รวมทั้ง พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
ด้าน นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่สอง กล่าวว่า เป็นการทำหน้าที่ของ สนช. ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้ง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของบ้านเมืองที่ฝ่ายต่าง ๆ จะเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา เป็นไปตามเจตนารมณ์ในญัตติที่เสนอมา โดยจะมีคนนอกซึ่งเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง คู่ขัดแย้งเข้ามาร่วม ทราบว่า ผู้เสนอญัตติได้ประสานงานทุกฝ่ายไว้เรียบร้อยแล้วในการเข้ามาร่วมเป็น กมธ. รวมถึงฝ่าย นปช. ก็จะเข้ามาร่วมอย่างแน่นอน เพราะคนที่ริเริ่มได้ประสานงานไว้หมดแล้ว
ส่วนเรื่องการนิรโทษกรรม เป็นเรื่องที่สามารถพิจารณาไปพร้อมกันได้ หากไปตั้งเงื่อนไขอะไรไว้ก่อนก็อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก ดังนั้น สิ่งไหนที่เดินหน้าได้ ก็ต้องทำไปก่อน ส่วนที่หลายฝ่ายห่วงว่า ข้อสรุปของ กมธ. ชุดนี้ จะถูกดองไม่ถูกนำไปใช้จริงนั้น เป็นเรื่องตอบยาก แต่ก่อนที่จะตั้ง กมธ. ชุดนี้ ได้มีการหารือกับทุกฝ่ายก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ใช่ว่า นึกอยากตั้งก็ตั้งขึ้นมา ส่วนเรื่องคดีความและกระบวนการสร้างความยุติธรรมของคู่ขัดแย้งที่ถูกมองว่ามีความเหลื่อมล้ำกันนั้น อย่านำมาเป็นเงื่อนไข ทุกอย่างต้องดำเนินไป เราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติคงไม่ไปยุ่งเกี่ยวเรื่องคดีความ
ด้าน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แม้วันนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่เปิดให้พรรคการเมืองประชุม แต่พรรคได้คุยเป็นการภายในจะไม่ส่งคนเข้าร่วม ถ้าใครได้รับการติดต่อคงต้องไปในนามส่วนตัว แต่เชื่อว่าไม่น่ามีใครไปร่วม ด้วยเหตุผล กมธ. วิสามัญชุดดังกล่าวอาจพูดคุยเรื่องนิรโทษกรรม ที่พรรคประชาธิปัตย์คัดค้านมาแต่ต้น เกรงว่าหากส่งคนไปร่วมประชาชนจะหาว่าเราหวังผลอยากได้นิรโทษกรรมไปด้วย ปล่อยให้เป็นหน้าที่อิสระของ กมธ. ดีกว่า หรือถ้าจะขอความเห็นมาเป็นครั้งคราวก็ยินดีให้ความร่วมมือ ตนยังสนับสนุนการพูดคุยปรองดองในทุกระดับ ทั้งเวทีเสวนา หรือตั้ง กมธ. ชุดต่าง ๆ.