xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” เซ็นรื้อบอร์ดมรดกโลก ตั้งชุดใหม่เน้น “วัฒนธรรม-ธรรมชาติ” ล้างชุดเก่ามีผลวันนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บิ๊กตู่” ลงนามตั้งบอร์ดมรดกโลกชุดใหม่ เน้น “วัฒนธรรม-ธรรมชาติ” ดำเนินตาม “อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก” มีอำนาจคุ้มครอง ป้องกัน และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม มรดกทางธรรมชาติ และมรดกแบบผสมที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ชงคณะรัฐมนตรีเป็นมรดกโลก ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก

วันนี้ (12 ม.ค.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ พ.ศ. 2559 ดังนี้

“โดยที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ค.ศ. ๑๙๗๒ (Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage, 1972) และต้องปฏิบัติตามแนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก (Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention) ซึ่งรัฐภาคีต้องดำเนินการคุ้มครอง ป้องกัน และอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ดังนั้น เพื่อให้มีกลไกในการกำหนดนโยบายและดำเนินงานให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว รวมทั้งการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองและอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก ทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของประเทศอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพให้คงไว้ซึ่งคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๘) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ พ.ศ. ๒๕๕๙”

ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ในระเบียบนี้ “มรดกโลก” หมายความว่า มรดกทางวัฒนธรรม มรดกทางธรรมชาติ หรือมรดกแบบผสมที่มีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลและได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกของมวลมนุษยชาติ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ค.ศ. ๑๙๗๒

“มรดกทางวัฒนธรรม” หมายความว่า สิ่งที่มีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลทางวัฒนธรรมซึ่งสามารถตกทอดไปสู่อีกรุ่นหนึ่งได้ ได้แก่(๑) สถานที่ที่เป็นผลงานทางสถาปัตยกรรม ผลงานด้านประติมากรรมและจิตรกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน องค์ประกอบหรือโครงสร้างที่แสดงสภาพอันแท้จริงทางโบราณคดีจารึก ถ้ำที่อยู่อาศัย และการผสมผสานระหว่างลักษณะต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งมีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์ (๒) กลุ่มของสิ่งปลูกสร้างที่แยกจากกันหรือเชื่อมต่อกันในลักษณะทางสถาปัตยกรรมหรือโดยความสอดคล้องกลมกลืน หรือโดยสถานที่จากสภาพภูมิทัศน์ ซึ่งมีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์ (๓) แหล่งที่เป็นสถานที่ที่เกิดจากมนุษย์สร้างขึ้น หรือเกิดจากการผสมผสานระหว่างธรรมชาติกับที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งมีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลในทางประวัติศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ ชาติพันธุ์วิทยาหรือมานุษยวิทยา ทั้งนี้ ให้หมายรวมถึงแหล่งโบราณคดีด้วย

“มรดกทางธรรมชาติ” หมายความว่า สิ่งที่มีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลทางธรรมชาติซึ่งสามารถตกทอดไปสู่อีกรุ่นหนึ่งได้ ได้แก่(๑) สภาพทางธรรมชาติที่ประกอบด้วยลักษณะทางกายภาพและชีวภาพ หรือกลุ่มของสภาพธรรมชาติดังกล่าว ซึ่งมีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลในทางสุนทรียศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์(๒) สภาพองค์ประกอบทางธรณีวิทยา หรือธรณีสัณฐาน หรือบริเวณที่พิสูจน์ทราบอย่างชัดแจ้งว่าเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสายพันธุ์สัตว์และพืชที่ถูกคุกคาม ซึ่งมีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลในทางวิทยาศาสตร์หรือการอนุรักษ์(๓) แหล่งธรรมชาติหรือบริเวณที่พิสูจน์ทราบอย่างชัดแจ้งว่ามีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลในทางวิทยาศาสตร์ การอนุรักษ์ และความงดงามตามธรรมชาติ

“มรดกแบบผสม” หมายความว่า สิ่งที่มีคุณค่าผสมผสานระหว่างมรดกทางวัฒนธรรมกับมรดกทางธรรมชาติ ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด

“ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม” หมายความว่า สิ่งที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติกับที่มนุษย์สร้างขึ้น ที่แสดงถึงวิวัฒนาการและการตั้งถิ่นฐานของสังคมมนุษย์ ภายใต้ข้อจำกัดทางกายภาพ หรือโอกาสที่ปรากฏตามสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและเป็นสิ่งที่ได้รับการผลักดันต่อเนื่องมาจากสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ทั้งภายในและภายนอก

“อนุสัญญา” หมายความว่า อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ค.ศ. ๑๙๗๒

“คณะกรรมการมรดกโลก” หมายความว่า คณะกรรมการมรดกโลกขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ

“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐ

“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ข้อ ๔ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก” เรียกโดยย่อว่า “กอม.” ประกอบด้วย(๑) รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กำกับการบริหารราชการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ(๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง(๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นรองประธานกรรมการ คนที่สอง(๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานกรรมการ คนที่สาม(๕) ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ และผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

(๖) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคล ซึ่งมีความรู้ความสามารถ มีผลงาน หรือประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านประวัติศาสตร์ด้านศิลปกรรมศาสตร์ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการอนุรักษ์ ด้านสังคมศาสตร์ ด้านมานุษยวิทยาหรือด้านกฎหมายเป็นกรรมการ (๗) เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการ และเลขานุการ (๘) อธิบดีกรมศิลปากร อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ข้อ ๕ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (๑) มีสัญชาติไทย (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี (๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต (๔) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและพ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีเว้นแต่ เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ(๕) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมืองที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง

ข้อ ๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งและอาจได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอีกได้ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ หรือในกรณีที่นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่งให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้วเมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่

ข้อ ๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามข้อ ๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ (๔) ต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (๕) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕ (๖) นายกรัฐมนตรีให้ออก เพราะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือมีส่วนได้เสียในกิจการใด ๆ ที่อาจมีผลกระทบ หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการปกป้องคุ้มครองมรดกโลก

ข้อ ๘ การประชุมของ กอม. ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน กรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ในการประชุม กอม. ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจ ปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ ๙ ให้ กอม. มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) เสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครอง ป้องกัน และอนุรักษ์มรดกโลกที่สอดคล้องตามอนุสัญญาต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบ และเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วให้แจ้งหน่วยงานของรัฐปฏิบัติตาม (๒) กำหนดแผนงาน มาตรการและกลไกในการคุ้มครอง ป้องกัน และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม มรดกทางธรรมชาติ และมรดกแบบผสม ที่ตั้งอยู่ในประเทศ (๓) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการกำหนดให้มรดกทางวัฒนธรรมมรดกทางธรรมชาติ และมรดกแบบผสม ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเป็นมรดกโลก ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) หรือบัญชีรายชื่อมรดกโลกเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาและสอดคล้องกับแนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก

(๔) ประสานงานและติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายตาม (๑) และแผนงาน มาตรการและกลไกตาม (๒) รวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุน เร่งรัด ติดตาม ประเมินผลและแก้ไขปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการอนุรักษ์มรดกโลก (๕) จัดทำรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทย เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญตามระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีทราบตามที่เห็นสมควรอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง (๖) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานตามความจำเป็นและเหมาะสมเพื่อดำเนินการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย (๗) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้ หรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ข้อ ๑๐ การประชุมของคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานที่คณะกรรมการแต่งตั้งให้นำข้อ ๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ ๑๑ ให้สำนักงานทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ กอม. และดำเนินการช่วยเหลือสนับสนุน การดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของ กอม. รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย (๑) ติดต่อประสานงานกับคณะกรรมการมรดกโลกในฐานะเป็นหน่วยประสานงานกลางภายใต้อนุสัญญา (๒) ประสานงานและให้การสนับสนุนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเอกชนเพื่อคุ้มครองป้องกัน และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม มรดกทางธรรมชาติ มรดกแบบผสม หรือภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมที่อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของอนุสัญญา และแนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก และระเบียบนี้ (๓) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย แผนงาน และมาตรการที่ต้องดำเนินการตามอนุสัญญา ในการคุ้มครอง ป้องกัน และอนุรักษ์มรดกโลก ของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและรายงานต่อ กอม. (๔) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ กอม. มอบหมาย

ข้อ ๑๒ ในกรณีที่ กอม. เห็นว่าการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดไม่เป็นไปตามพันธกรณีที่กำหนดในอนุสัญญา หรือไม่สอดคล้องกับแนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกที่คณะกรรมการมรดกโลกกำหนด หรือไม่สอดคล้องกับนโยบาย แผนงานหรือมาตรการและกลไกที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตามข้อ ๙ (๑) และ (๒) หรือที่หน่วยงานของรัฐกำหนดขึ้นตามอำนาจหน้าที่ของตนเพื่อรองรับการปฏิบัติตามอนุสัญญา ให้ กอม. แจ้งให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่แก้ไขหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามวรรคหนึ่ง หรือไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาอันสมควร ให้ กอม. รายงานปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อวินิจฉัยสั่งการตามที่เห็นสมควร

ข้อ ๑๓ ค่าใช้จ่ายสำหรับเบี้ยประชุม ค่าตอบแทน รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของ กอม. ให้เบิกจ่ายได้ตามระเบียบของทางราชการ โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานค่าใช้จ่ายสำหรับเบี้ยประชุม ค่าตอบแทน รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานที่ กอม. แต่งตั้งขึ้นตามระเบียบนี้ ให้เบิกจ่ายจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานนั้น โดยให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ

ข้อ ๑๔ ในวาระเริ่มแรกระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อ ๔ (๖) ให้ กอม. ประกอบด้วยกรรมการตามข้อ ๔ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๗) และ (๘) และปฏิบัติหน้าที่ ตามระเบียบนี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อ ๔ (๖) ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ

ข้อ ๑๕ เมื่อระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ ให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗ สิ้นสุดลงและให้บรรดาการใดที่คณะกรรมการดังกล่าวได้ดำเนินการไปแล้วและยังมีผลใช้บังคับอยู่ ให้ถือว่าเป็นการดำเนินการตามระเบียบนี้

ข้อ ๑๖ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้

ประกาศ ณ วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี”


กำลังโหลดความคิดเห็น