xs
xsm
sm
md
lg

ช่องใหม่หัดทำข่าว? “เวิร์คพอยท์”มั่วราคายาง แฝงเชลียร์"แม้ว"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายบรรจง  ชีวมงคลกานต์ รองผู้อำนวยการฝ่ายข่าว เวิร์คพอยท์ทีวี
ข่าวเวิร์คพอยท์ทีวีปล่อยไก่ มั่วสถิติราคายาง 5 รัฐบาล อ้างผลงาน"ทักษิณ"ร่วมมือ 3 ชาติ ทำราคายางขึ้นถึงโลละ 100 ก่อนตกต่ำในยุคอภิสิทธิ์ แล้วมาพุ่งสูงถึงโลละ 180 ในยุคยิ่งลักษณ์ แต่สถิติย้อนหลังชี้ชัดยุค"ปู" ราคายางดิบแผ่นสูงสุดแค่ 130 ส่วนยางโลละ 180 เป็นยุค"มาร์ค"

วันนี้(5 ม.ค.) มีรายงานว่า ในช่วง "ข่าวเปรี้ยงเที่ยงตรง" ทางสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลช่อง "เวิร์คพอยท์ทีวี" ได้มีการนำเสนอข่าวปัญหาราคายางพาราตกต่ำ พร้อมรายงานพิเศษประกอบโดยนายบรรจง ชีวมงคลกานต์ รองผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของสถานี ทำหน้าที่รายงานเอง โดยมีการแสดงภาพกราฟฟิกเปรียบเทียบราคายางพาราในแต่ละช่วงรัฐบาลประกอบการนำเสนอรายงานข่าวนี้ด้วย

รายงานดังกล่าวอ้างว่า ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ราคายางพาราสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท เทียบกับช่วงรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ที่ราคาเพียงกิโลกรัมละ 20-25 บาท โดยอ้างว่า เหตุที่ราคายางเพิ่มขึ้นสูงเป็นเพราะรัฐบาลนายทักษิณได้นำประเทศไทยร่วมทำข้อตกลงความร่วมมือด้านยางพารากับมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทำให้มีอำนาจต่อรองสูง จนราคายางพาราเพิ่มสูงขึ้น ก่อนที่ราคายางจะตกต่ำลงในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาหรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และเมื่อถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ราคายางก็เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง จนขึ้นไปถึงราคากิโลกรัมละ 180 บาท ทำให้มีผู้หันมาปลูกยางเพิ่มขึ้น แต่ราคายางได้ตกต่ำลงอีกครั้ง เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า รายงานข่าวดังกล่าวได้นำเสนอข้อมูลราคายางพาราที่คลาดเคลื่อน ทำให้เกิดความสงสัยว่าจะเป็นการสร้างภาพให้แก่รัฐบาลยุคนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช่หรือไม่ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้มีผลงานด้านการยกระดับราคายางพาราเลย ความร่วมมือด้านยางพาราระหว่างไทย-อินโดนีเซีย-มาเลเซียเพื่อทำหน้าที่ผลักดันราคายางพาราให้สูงขึ้นนั้นไม่ใช่ผลงานของนายทักษิณ แต่เป็นเพียงการสานต่อสิ่งที่รัฐบาลชวน หลีกภัย ทำข้อตกลงเอาไว้ก่อนนั้น มิหนำซ้ำรัฐบาลนายทักษิณต่างหากที่เพิ่มพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศอีก 1 ล้านไร่ เป็นการผิดข้อตกลงแต่เดิมที่ทั้งสามประเทศจะไม่ขยายพื้นที่ปลูกยางอีก

นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบจากสถิติราคายางพาราย้อนหลัง ของเว็บไซต์การยางแห่งประเทศไทย ก็พบว่า ในช่วงที่นายทักษิณเป็นนายกฯ ปี 2544-2549 ราคายางแผ่นดิบ(ตลาดท้องถิ่น) เฉลี่ยต่อปี อยู่ที่ 21.45, 27.59, 38.92, 45.47, 53.61 และ 69.96 บาท/กก. ตามลำดับ เมื่อเฉลี่ยออกมาไม่ใช่กิโลกรัมละ 100 บาทแต่อย่างใด

หรือหากจะดูราคาต่อวัน ในช่วงนายทักษิณเป็นนายกฯ นั้น ราคายางแผ่นดิบ(ตลาดท้องถิ่น) ขึ้นไปสูงสุดที่ 98.85 บาท/กก. เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2549 ก็เป็นช่วงที่รัฐบาลทักษิณไม่ได้มีนโยบายอะไรออกมา เพราะอยู่ในช่วงประคองตัว หลังจากถูกประชาชนขับไล่ และนายทักษิณขอพักจากการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้ง 2 เม.ย.49 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เป็นโมฆะ แต่ที่ราคายางพาราเพิ่มสูงขึ้นเป็นเพราะตลาดจีนยังขยายตัวสูง ประกอบราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นทำให้อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์หันมาใช้ยางพาราธรรมชาติแทนยางสังเคราะห์มากขึ้น

สำหรับในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ราคายางแผ่นดิบตลาดท้องถิ่น อยู่ที่ 128.20 บาท/กก. และขยับขึ้นไปสูงสุดอยู่ที่ 128.30 บาท/กก. เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2554 หลังจากนั้นราคายางพาราก็ตกต่ำลงมาตลอด จนเกิดการประท้วงจากชาวสวนยางหลายครั้ง แม้ว่าในช่วงปี 2555 ที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้อนุมัติงบประมาณ 15,000 ล้านบาททำโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ราคายางพารายังคงตกต่ำลงเรื่อยๆ จนวันที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ในตำแหน่งวันสุดท้าย คือ 7 พฤษภาคม 2557 ราคายางแผ่นดิบตลาดท้องถิ่น อยู่ที่ 56 บาท/กก. ดังนั้นจึงไม่มีช่วงใดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ราคายางพาราขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 180 บาท ตามรายงานข่าวของเวิร์คพอยท์ทีวีแต่อย่างใด

ส่วนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ารับหน้าที่วันแรกเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551 ในวันนั้นราคายางแผ่นดิบตลาดท้องถิ่น อยู่ที่ 32.70 บาท/กก. ก่อนที่จะไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ จนสูงสุดที่ 181.90 บาท/กก. เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 ส่วนวันสุดท้ายที่นายอภสิทธิ์อยู่ในตำแหน่งคือ 4 สิงหาคม 2554 ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 130.20 บาท/กก. ดังนั้นในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ราคายางพาราสูงสุดจึงอยู่ที่ 181.90 บาท ไม่ใช่ 120 บาท/กก. แต่อย่างใด

ทั้งนี้ เวิร์คพอยท์ทีวี เพิ่งจะมีการปรับเปลี่ยนระบบงานด้านข่าว โดยได้ยกเลิกการว่าจ้างมติชนทีวีผลิตข่าวให้ เมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา และหันมาผลิตข่าวเองโดยมีนายสมภพ รัตนวลี รองกรรมการผู้จัดการสารธุรกิจสื่อ บริษัทดรีมทีมเน็ตเวิร์ค จำกัด ซึ่งเป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์ผลิตรายการข่าว และอดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล มาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าว และมีนายบรรจง ชีวมงคลกานต์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายดำเนินรายการ สายงานธุรกิจสื่อ และพิธีกรรายการยกทัพข่าวเช้า ทางสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี มาเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายข่าว

(ล่าสุด) "บรรจง" แจงขออภัยข่าวราคายางช่องเวิร์คพอยท์พลาด ปัดแอบอิงเชลียร์ "แม้ว"
แผนภาพแสดงราคายางพาราในช่วงแต่ละรัฐบาล จัดทำโดยเวิร์คพอยท์ทีวี

กำลังโหลดความคิดเห็น