คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยืนสูตรเลือก ส.ว.20 กลุ่มอาชีพ เล็งให้ กกต.เปิดด้านมืดผู้สมัคร เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงข่าวภายหลังจาการประชุมว่า หลังจากที่อนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติได้นำเสนอเรื่องวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แบบเลือกข้ามกลุ่ม จำนวน 20 กลุ่มอาชีพออกมา และมีการตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการช่วยเหลือกัน หรือฮั้วกัน กรธ.จะทำอย่างไร ทั้งนี้เรายอมรับว่ามีความเป็นไปได้เพราะอาจรู้จักกัน และมีการขอแรงเพื่อช่วยเลือกกันได้ โดยในเบื้องต้น กรธ.ยังยืนในหลักการเดิม คือให้เลือกข้ามกลุ่มกันต่อไป โดยเฉพาะในระดับการเลือกรอบที่ 2 จากระดับอำเภอไปสู่จังหวัด ก่อนที่จะเข้ามาส่วนกลาง
อย่างไรก็ตาม ในระดับจังหวัดอาจไม่รู้จักกัน จึงได้หารือกันว่าอาจจะให้ กกต.จัดทำเอกสารเปิดเผยประวัติของผู้สมัครแต่ละคน โดยเฉพาะข้อมูลในทางร้าย จึงอาจต้องมีการร่างกฎหมายภายหลังเพื่อคุ้มครอง กกต.ในจังหวัดต่างๆ เพราะ กกต.ได้เปิดเผยประวัติอาชญากรรมของผู้สมัคร จึงต้องได้รับความคุ้มครอง เพราะที่ผ่านมา กกต.ไม่ค่อยกล้าบอกกับประชาชนว่าผู้สมัครแต่ละคนมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ขณะที่ การขอเอกสารประวัติอาชญาการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือกรมบังคับคดีก็ช้า ทำให้ประชาชนไม่ได้รู้ข้อมูลผู้สมัครครบถ้วน จึงเป็นจุดอ่อนมาก อย่างไรก็ตาม กกต.ได้นำแนวทางดังกล่าวของ กรธ.ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง ส.ว.ข้ามกลุ่ม หรือการเปิดประวัติอาชญากรรม กลับไปพิจารณาถึงความเป็นไปได้ ก่อนจะนำกลับมาหารือกับ กรธ.อีกครั้งหนึ่ง
นายชาติชายกล่าวด้วยว่า ล่าสุดคณะอนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นได้จัดกลุ่มโดยข้อสรุปของผู้ที่เสนอความเห็นประกอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1. คสช., ครม., สปท. และสนช. 2. หน่วยงานของรัฐ กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระต่างๆ และองค์กรอื่นๆ 3. พรรคการเมืองต่างๆ และ 4.ประชาชนทั่วไป
ทั้งนี้ กรธ.จะนำความเห็นของทั้ง 4 กลุ่มมาเรียงว่าความเห็นและความต้องการที่เสนอเข้ามาตรงกับมาตราใดในร่าง เช่น ข้อเสนอเรื่องสิทธิเสรีภาพ ศาล หรือฝ่ายนิติบัญญัติ ก็จะนำมาเรียงกันและมอบให้ กรธ.เรียบร้อยแล้ว