เปิดแล้ว! ศูนย์ 7 วันอันตราย “มหาดไทย” รับ บูรณาการร่วมหลายหน่วยงาน หวังป้องกัน - ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 เปิดมาตรการระยะยาวกำหนดกติกาประจำหมู่บ้าน “รวมกุญแจรถ ในชุมชน ใครไม่ปฏิบัติตามต้องไปทำความสะอาดลานวัด หรือมัสยิด” ปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมลดอุบัติเหตุ ด้านผลโพล 80.47% เห็นด้วยมาตรการเมาเเล้วยึดรถ ชี้ เป็นมาตรการที่ดี ช่วยลดอุบัติเหตุ
วันนี้ (29 ธ.ค.) ที่กระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุสำคัญที่คร่าชีวิตคนไทย รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดให้การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุด หรือไม่เกิดขึ้นเลยในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ ศปถ. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายสร้างความปลอดภัยในการเดินทางแก่ประชาชนอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2558 - 4 มกราคม 2559 ภายใต้แนวคิด “สุขกาย สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย รับปีใหม่ 2559” โดยเน้นป้องกันด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และการปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว
นายกฯ ยังขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นกลไกหลักในการลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ ควบคู่กับการจัดทำประชาคมในทุกตำบล หมู่บ้าน ร่วมกับผู้นำทางศาสนา เพื่อกำหนดมาตรการป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนสร้างกระแสให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยผ่านกลไกการสื่อสารทุกช่องทาง สื่อโซเชียลมีเดีย และกิจกรรมรณรงค์ทุกรูปแบบ
“มาตรการระยะยาวเพื่อปลุกจิตสำนึก โดยนอกจากกระทรวงศึกษาธิการรับไปแล้ว กระทรวงมหาดไทยในฐานะที่ทำงานครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด จึงสั่งการให้ผู้ว่าฯ ประชุมหารือกับภาคเอกชน ส่วนราชการ และองค์กรศาสนา ในรูปแบบบูรณาการ โดยประชุมในระดับหมู่บ้าน และกำหนดกติกาประจำหมู่บ้าน เช่น จอดรถรวมกัน รวมกุญแจรถไว้ที่เดียวกัน ใครเมาหรือดื่ม ห้ามเอารถออกไป ใครไม่ปฏิบัติตามต้องไปทำความสะอาดลานวัด หรือมัสยิด และทำจดหมายให้เด็กนักเรียนนำไปบอกผู้ปกครอง ห้ามทำผิดกติกา ไม่เช่นนั้นลูกจะถูกตัดคะแนน พร้อมกับใช้เครื่องกระจายเสียงประจำหมู่บ้านไปออกเสียงย้ำ ๆ เพื่อย้ำเตือนประชาชน” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว
สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน มุ่งเน้นการปรับปรุงจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ การแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ และการปรับสภาพแวดล้อมริมข้างทางให้ปลอดภัย ทั้งนี้ รัฐบาล โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร ภาคประชาสังคมมีความพร้อมอย่างเต็มกำลังในการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยในการเดินทางแก่ประชาชนตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 เพื่อบริหารจัดการระบบการจราจรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างการสัญจรอย่างปลอดภัยให้ประชาชนมีความสุขในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559
ด้าน นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทยจะใช้กลไกของจังหวัด อำเภอ ขับเคลื่อนการดำเนินงานในรูปแบบการจัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 จังหวัดและอำเภอ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าภาพหลักในการบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร และอาสาสมัครภาคประชาชน เพื่อให้เทศกาลปีใหม่เป็นเทศกาลแห่งความสุขที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความปลอดภัย
ขณะที่ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ปภ.ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้บูรณาการทุกภาคส่วนสร้างความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ณ กรมป้องกันฯ ทำหน้าที่อำนวยการ สั่งการ และเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนกับศูนย์ปฏิบัติการฯ จังหวัด อำเภอ รวมถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการฯ หลักรับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้จะสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเป็นประจำทุกวัน ระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2558 - 5 มกราคม 2559 พร้อมนำสถิติข้อมูลอุบัติเหตุมาวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยง กำหนดมาตรการ เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาข้อสั่งการที่เหมาะสมกับสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน สภาพการจราจรและช่วงเวลาในการเดินทางของผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อให้การบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุด
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ได้สั่งการไปหมดแล้วในเรื่องการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยการประชุมร่วมกันระหว่างทหาร ตำรวจ และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ในทุกเรื่อง โดยเน้นในเรื่องการสร้างความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน โดยเน้นพื้นที่ที่มีประชาชนไปรวมตัวกันหนาแน่เพื่อให้ประชาชนฉลองปีใหม่ด้วยความสบายใจ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจัดงานก็ให้ระมัดระวังและดูแลให้ดี ซึ่งขณะนี้ไม่มีอะไรที่น่าห่วง นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวอวยพรปีใหม่ให้กับประชาชน ว่า อยากให้คนไทยทั้งประเทศรักกัน ลดปัญหาความขัดแย้ง ปีใหม่ก็ใกล้จะมาถึงแล้ว ทำอย่างไรให้เกิดความรัก และความเข้าใจกันในการที่จะสร้างประเทศให้เจริญรุ่งเรื่องร่วมมือกันใ้ห้ดี และอยากอวยให้ทุกท่านประสบความสุขความสำเร็จ ทั้งในชีวิตครอบครัว และงาน ขอให้โชคดีในวันปีใหม่ 2559 ตลอดไป
วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล จัดทำโพลเรื่อง “มาตรการรักษาความปลอดภัยช่วงปี” ใจความว่า จากที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม ออกมาพูดเรื่องมาตรการการดูแลรักษาความปลอดภัยช่วงปีใหม่ โดยเน้นย้ำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีการแบ่งความรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ ซึ่งหวังว่าเทศกาลปีใหม่ปีนี้จะไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น1,280 คน ระหว่างวันที่ 24 - 28 ธันวาคม 2558 สรุปผลได้ ดังนี้
1. ความคิดเห็นของประชาชน กับ การเกิดอุบัติเหตุในช่วงวันหยุดปีใหม่
อันดับ 1 ส่วนใหญ่มาจากตัวผู้ขับขี่เองที่ประมาท ไม่มีวินัย ไม่เคารพกฎจราจร เมาแล้วขับ หลับใน 82.03%
อันดับ 2 วันหยุดยาวติดต่อกันหลายวันมักมีอุบัติเหตุเป็นประจำ ไม่อยากให้เกิดขึ้นแต่คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ 79.30%
อันดับ 3 ตัวผู้ขับขี่เองควรตระหนักถึงความปลอดภัยและทางเจ้าหน้าที่จะต้องเข้มงวดกวดขันให้มากขึ้น 67.58%
2. ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่? จากที่รัฐบาลมีมาตรการรักษาความปลอดภัยช่วงปีใหม่ กรณีผู้ขับขี่ที่ดื่มสุรา เมาแล้วขับ จะยึดรถผู้ขับขี่นั้นเป็นการยึดเพียงชั่วคราวแล้วก็คืน แต่ไม่ใช่ยึดถาวร
อันดับ 1 เห็นด้วย 80.47% เพราะ เป็นมาตรการที่ดี ช่วยลดอุบัติเหตุ เป็นการลงโทษและเตือนสติให้ผู้ขับขี่ไม่ประมาท ปฏิบัติตามกฎหมาย ฯลฯ
อันดับ 2 ไม่เห็นด้วย 12.50% เพราะบทลงโทษไม่รุนแรง ควรลงโทษทั้งจำคุกและปรับ ควรแก้ที่ต้นเหตุ คือร้านจำหน่ายสุรา ฯลฯ
อันดับ 3 ไม่แน่ใจ 7.03% เพราะที่ผ่านมามีการตั้งด่านตามเส้นทางต่าง ๆ แต่ก็ยังมีผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับอยู่เป็นจำนวนมาก อาจดูแลไม่ทั่วถึง ฯลฯ
3. ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่? หากมีมาตรการพบเด็กนั่งดื่มสุรา อาจจะขอยึดกุญแจรถไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ไปขับขี่ในขณะมึนเมา แต่ไม่ใช่ยึดรถ
อันดับ 1 เห็นด้วย 67.18% เพราะ เป็นการป้องกันและช่วยลดอุบัติเหตุได้อีกทางหนึ่ง สุราเป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาทและขาดสติ ฯลฯ
อันดับ 2 ไม่เห็นด้วย 17.58% เพราะควรลงโทษที่ตัวเด็กมากกว่าหรือแจ้งผู้ปกครองให้รับทราบ รถที่จอดทิ้งไว้อาจไม่ปลอดภัยหรือถูกลักขโมยได้ ฯลฯ
อันดับ 3 ไม่แน่ใจ 15.24% เพราะ อยากให้มีมาตรการที่เข้มงวด ใช้ได้ระยะยาว ไม่ใช่เฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น ฯลฯ
4. ความพอใจของประชาชน ต่อ การออกมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุของรัฐบาลในช่วงปีใหม่
อันดับ 1 พอใจ 75.00% เพราะรัฐบาลแสดงความห่วงใยและให้ความสำคัญต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เป็นมาตราการที่ดี ช่วยลดอุบัติเหตุ ฯลฯ
อันดับ 2 เฉย ๆ 19.14% เพราะในช่วงปีใหม่ภาครัฐจะมีมาตรการและวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ออกมา แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก็มักมาจากสาเหตุเดิม ๆ ฯลฯ
อันดับ 3 ไม่พอใจ 5.86% เพราะควรแก้ที่ตัวผู้ขับขี่และร้านค้ามากกว่า ก่อนจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลควรรณรงค์เรื่องการป้องกันอุบัติเหตุให้มากขึ้น ฯลฯ