xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” แถลงผลงาน กม.ตามแก้ 8 ปม ตั้งศาลฟันหนีคดี เร่งร่าง กม.ลูกก่อนประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รองนายกฯ แถลงผลงานด้านกฎหมาย แจงแก้ 8 ปมปัญหาก่อนรัฐประหาร ชง กม.ใช้แล้ว 138 ฉบับ มี 12 คดีเร่งด่วน กำชับคดีการเมืองเร่งสู่ศาลในปีครึ่ง ออก พ.ร.ฎ.ทุกกระทรวงทบทวนกฎหมายทุก 5 ปี ตั้งศาลอาญาคดีทุจริตจัดการคนโกงหนีคดี ให้กรรมติดจรวด ออก พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม เน้นไกล่เกลี่ย วางระบบตั้ง ขรก.เป็นธรรม ไร้เส้นสาย รธน.คาด มี.ค.เสร็จ 3-4 เดือนเข้าสู่ประชามติ เร่งร่าง กม.ลูก

วันนี้ (23 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลงานประจำปีรัฐบาลในด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557 มี 8 สถานการณ์ที่ไม่ได้รับการแก้ไข คือ 1. เรื่องพันธสัญญาระหว่างประเทศ เราจึงให้ความสำคัญกับการเร่งออกกฎหมายตามพันธกรณีที่มีอยู่ให้ครบ เช่น เรื่องประมงผิดกฎหมาย เรื่องไอเคโอ เรื่องรถไฟที่ตกลงกับจีนที่ไปสัญญาไว้ และยังมีกฎหมายที่ไม่ได้ออกอีกจำนวนมาก 2. เรามีกฎระเบียบและกติกาทางธุรกิจมาก ซึ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยไม่ให้แข็งแรง บางอย่างเราล้าสมัย ที่ผ่านมาไม่ได้แก้เพราะมีอุปสรรค

นายวิษณุกล่าวว่า 3. ขาดการจัดระเบียบสังคมที่สมดุล ระหว่างสิทธิเสรีภาพของบุคคลข้างหนึ่งกับความสงบเรียบร้อยของส่วนรวมอีกข้างหนึ่ง พอให้น้ำหนักกับส่วนใดมากไปอีกฝ่ายก็เดือดร้อน รัฐบาลนี้ได้พยามยามจัดในส่วนนี้ แต่ยอมรับว่ายังทำได้ไม่หมด 4. ความเหลื่อมล้ำในสังคม ให้ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยไม่มากนัก 5. แก้ปัญหาระบบราชการ 4 ช. คือเชย เชื่องช้า ใช้งบประมาณมาก และเปิดช่องให้ทุจริต 6. ผลักดันกฎหมายอุ้มบุญ 7. จากกรณีเรือล่ม น้ำมันกระจายในมหาสมุทร จึงต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และ 8. เขาพูดกันว่าคดีความรกโรงรกศาล คดีพิจารณาคดีล่าช้า วิธีพิจารณาความไม่ทันสมัย จากที่เคยมีสองสภาทำให้ออกกฎหมายช้า ตอนนี้เหลือสภาเดียวทำให้ออก พ.ร.บ., พ.ร.ก. หรือบางอย่างใช้มาตรา 44 ได้

นายวิษณุกล่าวต่อว่า สำหรับสิ่งที่รัฐบาลทำปัจจุบันแล้ว เช่น พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ กฎหมายภาษีมรดก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการอุดหนุนการเงินแก่การก่อการร้าย กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการค้ามนุษย์ที่เราเคยไปลงพันธสัญญาไว้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ แก้กฎหมายประมวลพาณิชย์การจำนองจำนำ กฎหมายประกันภัยต่างๆ กฎหมายเกี่ยวกับการชุมชุมสาธารณะ เป็นต้น ทั้งนี้ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาในระยะเวลา 1 ปี ได้เสนอกฎหมายเข้าสภารวมแล้ว 164 ฉบับ ค้างอยู่ในสภา 26 ฉบับ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว 138 ฉบับ

ส่วนเรื่องของคดีต่างๆ มีคดีเร่งด่วน 12 คดี โดยเป็น 6 คดี ที่รัฐบาลเป็นโจทก์ฟ้องเอกชน คือ ทุจริตจำนำข้าว คดีนี้ยังอีกยาว คดีขายข้าวแบบจีทูจี ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาความผิดทางแพ่ง กำลังพิจารณาความเสียหายอยู่ คดีขายข้าวอีกจำเลยหนึ่ง คดีขายข้าวแบบจีทูจีที่จำเลยเป็นเอกชน คดีฟิลลิปมอร์ริส และคดีเอไอเอส อีก 6 คดี ราษฎร เอกชนฟ้องรัฐบาล คือ คดีโทลล์เวย์ หรือวอเตอร์บาวน์ คดีแก้สัญญาโทลล์เวย์ คดีคลองด่าน คดีไอทีวี คดีโฮปเวลล์ และคดีทางด่วนบางนา-บางปะกง ส่วนคดีอาญา คดีนักการเมือง เรื่องนี้นายกฯ กำชับซีกฝ่ายบริหารเร่งรัดคดีเข้าสู่ศาลภายใน 1 ปีครึ่งจากนี้ไปเพื่อเร่งรัดคดีให้จบลง ไม่เสียความเป็นธรรม ไม่ถูกมองว่าดองคดี

ส่วนผลงานรัฐบาลในเชิงปฏิรูป คือเรื่องของการปฏิรูประบบราชการได้ออกกฎหมายอนุญาต อนุมัติทางราชการ แก้ปัญหาความล่าช้า ส่วนกฎหมายไหนซ้ำซ้อน ล้าสมัย รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ฎ.ทบทวนความจำเป็นของการออกกฎหมาย กำหนดทั้ง 20 กระทรวง ต้องดูกฎหมายในสังกัด ทบทวนทุกปี 5 ปี กฎหมายใดควรอยู่ควรเลิก ควรแก้ หรือซ้ำซ้อนให้ยุบรวมเป็นฉบับเดียว ให้ทุก 5 ปี ถ้าหน่วยงานนั้นไม่ทำ จะมีหน่วยงานอื่นไปทำให้ แล้วหน่วยงานราชการนั้นมีความผิด และมีโทษ และกำหนดว่ากระทรวงแปลกฎหมายของตัวเองเป็นภาษาอังกฤษ ภายใน 5 ปี เพื่อรับเข้าสู่อาเซียน

ทั้งนี้ ก่อนปฏิรูป พบคดีทุจริตล่าช้ามาก ชนะคดีกว่ายึดทรัพย์ก็นาน ทำผู้ต้องหาหนีคดีไปต่างประเทศ ตามตัวไม่ได้ พอดีอายุความขาด ครม.ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตาม สปท.เสนอมา โดย ครม.ได้ส่ง สนช.ซึ่งจะบรรจุเป็นเรื่องแรกๆ ต้นปีหน้า เป็นศาลที่คัดผู้พิพาษาที่ชำนาญมา เมื่อศาลพิจารณาจะใช้วิธีไตร่สวนผู้ต้องหา จำเลยหนีคดีอายุความจะหยุด ไม่มีวันขาดอายุความ ชนะคดีตามยึดทรัพย์ได้ง่าย และอุทธรณ์ทำได้หนเดียว ไม่มีฎีกา และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้รวดเร็ว เพื่อให้กรรมตามสนองแบบติดจรวด

นอกจากนี้ ได้มีการออกกฎหมายการเก็บภาษีมรดก มีการออก พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ช่วยเหลือคนจนได้สู้คดีอย่างเป็นธรรม ขณะเดียวกัน เวลาทะเลาะกันเรื่องจบได้คือที่ศาล กลายเป็นการส่งเสริมคนค้าความ ทำคดีรกศาล เสียเงิน เสียเวลา โดยจะให้มีการไกล่เกลี่ยประนีประนอมก่อนฟ้องแพ่ง ฟ้องศาล ไม่ต้องมีการฟ้อง เรียกว่าชะลอการฟ้อง ซึ่งกฎหมายเตรียมเข้าสู่สภาเร็วๆนี้ ก่อนฏิรูปต้องให้ไกล่เกลี่ย ไม่ต้องมีการฟ้อง กฎหมายเตรียมเข้าสู่สภาเร็วๆ ส่วนเรื่องของคดีล่าช้า ได้มีการยกเครื่องออกฎหมายให้โอนคดีไปอีกศาลหนึ่ง หรือรวมโจทก์ฟ้องได้ คดีอาญาเวลาศาลให้ประกัน ปล่อยตัวชั่วคราว มีกฎหมายให้ใช้อุปกรณ์ติดตามตัว โดยได้ออกกฎหมายใช้แล้ว

ในปี 2559 มีก้าวต่อไป เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.แล้วส่งต่อรัฐบาลต่อไป คือวางระบบการแต่งตั้งข้าราชการระดับปลัดกระทรวง อธิบดี ทุกกรมใหม่หมด ให้เป็นธรรม ไม่ใช่ระบบเส้นสาย เริ่มหลักเกณฑ์ใหม่วันที่ 1 ต.ค. 59 เรื่องต่อไปที่ต้องส่งการบ้านนายกฯจะมีระบบการประเมินคุณภาพหน่วยงาน และผู้บังคับบัญชาในหน่วยงาน คือปลัดกระทรวง และอธิบดี ทุกกรม ทุกกระทรวง ทุกหน่วย ใน 20 กระทรวง 148 กรม 50 รัฐวิสาหกิจ 40 องค์กรมหาชน จะมีการประเมินแบบใหม่จากภารกิจปกติ ยุทธศาสตร์งานพิเศษ ประเมินจากการลงพื้นที่ โดยหลักประเมินออกมาก่อนสิ้นปีนี้ แล้วเริ่มใช้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า และนำไปสู่การแต่งตั้งอีก 6 เดือนข้างหน้าจากนี้ไป

รวมถึงการปฏิรูปตำรวจ ในการแต่งตั้ง บริหารงานบุคคล กระจายอำนาจผบ.ตร.ลงไปสู่ผู้บังคับบัญชาต่างๆกัน ให้คุณให้โทษผู้ใต้บังคับบัญชาได้ สวัสดิการ การใช้อุปกรณ์ตำรวจ นายกฯ ใช้คำว่า เลิกเสียทีตำรวจต้องไปขอรถขอน้ำมันชาวบ้าน จนกลายเป็นหนี้ทดแทน กลายเป็นพันธะไม่รู้จบ หรือกฎหมายเศรษฐกิจประเทศ คือ ใช้หลักปฏิรูปแบบประชารัฐ โดยเอกชนเข้าร่วมด้วย ที่มีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันแล้ว เพื่อกลั่นกรองความต้องการ แก้ปัญหา รวมถึงลดการเรียกเอกสารจากประชาชน การป้องกันการทุจริต ได้ปฏิรูปครั้งใหญ่ ได้จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ใช้ระบบประชารัฐในการป้องกัน ปราบปราม โดยรัฐและเอกชนร่วมกัน จะมีมาตรการตามมาไม่ช้า นำเทคโนโลยีมาใช้ในการพิจารณาคดีมากขึ้น ลดขั้นตอนการไปขึ้นศาล พิจารณาได้รวดเร็ว

นอกจากนี้ ปี 59-60 รัฐบาลมีกฎหมายเชิงนโยบายเข้าสู่ สนช.หลายฉบับ โดยชิ้นเอกคือ กลุ่มกฎหมายดิจิตอล กฎหมายแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ภาคเอกชนเสนอ กฎหมายวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ กฎหมายคนเข้าเมืองฉบับใหม่ กฎหมายปฏิรูปการศึกษา กฎหมายบูรณาการม้วนเดียวจบ เอากฎหมายบูรณาการทำงานข้ามกระทรวง และกฎหมายอื่นที่จะเข้าสภา คือ กฎหมายที่จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นไปตามที่คาด เดือน มี.ค.ร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จ หลังจากนั้น 3-4 เดือน จะเข้าสู่การทำประชามติ ถ้าประชามติผ่าน รัฐธรรมนูญมันไม่สมบูรณ์ในตัวเอง ยิ่งผู้ร่างบอกว่าจะร่างสั้นๆ ดังนั้น กฎหมายลูกต้องไปออกหลายสิบฉบับ ก็จะได้เร่งออกกฎหมายลูกเข้าสู่สภา เพื่อให้เป็นไปตามโรดแมป และสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดจะมีตัวชี้วัดจากองค์กรทั้งในและต่างประเทศ









กำลังโหลดความคิดเห็น