เลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ เห็นด้วย กรธ. ต้องมีบทบัญญัติผ่าทางตัน หลังเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อขัดแย้ง กังขากระแสข่าวป่วนปองร้าย แต่รัฐบาล - คสช. ไม่ควรละเลย เชื่อเอาอยู่
วันนี้ (26 พ.ย.) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย และโฆษกคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กล่าวถึงแนวคิดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้วินิจฉัยข้อขัดแย้งยามบ้านเมืองเกิดทางตัน ว่า สมัยการชุมนุมของมวลมหาประชาชนเกิดวิกฤตผู้มาชุมนุมถูกโจมตี ขณะที่เลือกนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ รัฐบาลก็ล้มเหลว ไม่มีช่องทางหารัฐบาลใหม่มาบริหารบ้านเมือง
“ตอนนั้นเราเรียกร้องมาตรา 7 มาแก้ไข แต่ผู้มีอำนาจอย่างวุฒิสภากลับไม่กล้าโดยอ้างเรื่องความคลุมเครือของบทบัญญัติ สุดท้ายทหารก็ต้องออกมา ดังนั้น แนวคิดหลักของ กปปส. คือ กรธ. ควรต้องมีช่องทาง หรือกลไกลผ่าทางตันไว้ในรัฐธรรมนูญ ดูจากแนวคิดของ กรธ. ขณะนี้ที่กำลังปรับ 2 ทาง คือ 1. ปรับมาตรา 7 ให้ชัด ไม่คลุมเครือ หรือ 2. อาจมีองค์กรคล้ายคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) มาแก้ไขปัญหา ซึ่ง กปปส. ดูแล้ว ไม่เกี่ยงจะใช้ช่องทางไหน เป็นสิ่งที่ กรธ. ต้องคิดให้เหมาะสมกับภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญ แต่ยืนยันต้องมีบทบัญญัติผ่าทางตัน เพื่อไม่ให้เกิดการฉีกรัฐธรรมนูญอีก” นายเอกนัฏ กล่าว
นายเอกนัฏ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า มีผู้ไม่หวังดีก่อเหตุป่วน และปองร้าย 2 บุคคลสำคัญในรัฐบาลว่า ไม่มั่นใจที่บางฝ่ายบอกเรื่องนี้ เป็นปฏิบัติการข่าวสาร (ไอโอ) นั้น เขาเอาข้อมูล มีเอกสารหลักฐานใดมายืนยัน หรือรู้แหล่งข้อมูลจากไหน อย่างไร หรือแค่ออกมาพูดลอย ๆ ถ้าพูดโดยไม่มีหลักฐานคงไม่ได้เพราะเรื่องความมั่นคง เป็นเรื่องใหญ่ อย่างไรรัฐบาล คสช. ไม่ควรละเลย เพราะในอดีตมีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ว่ายังมีคลื่นใต้น้ำอยู่ ควรใช้ทรัพยากรบูรณาการข่าวกรองให้ดี เชื่อว่า คสช. มีวิธีการรับมือแก้ไขอยู่แล้ว เพราะความมั่นคงเป็นจุดแข็งของรัฐบาล