รมว.ต่างประเทศ คาด สนช.คงมีความเห็นกรณีรัฐสภายุโรปเชิญผู้ต้องหาคดีรับจำนำข้าวไปพูดที่เบลเยียม ขอเช็กก่อนใครเชิญ แต่แฉต้นทางบอกมีล็อบบี้เพียบ เชื่อคงไม่พลาด ชี้หนังสือใช้คำนำหน้าว่าคุณแสดงว่าคุ้นวัฒนธรรมไทยดี ด้านรองโฆษกรัฐบาลบอกยังไม่ทราบรายละเอียดทางการ บอกเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวกับ คสช. แต่ถ้าขออนุญาตบินก็ต้องพิสูจน์ความน่าเชื่อถือเอกสารก่อน ระบุลักษณะจดหมายเหมือนคนรู้จักเขียนถึงกัน
วันนี้ (24 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีรัฐสภายุโรป (อียู) ส่งหนังสือเชิญถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ว่าเข้าใจว่าทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คงมีความคิดเห็นในเรื่องนี้ ส่วนกระทรวงการต่างประเทศยังไม่เห็นหนังสือดังกล่าว ทราบเพียงแต่ข่าวจากสื่อ ต้องขอตรวจสอบก่อนว่าเรื่องมาจากฝ่ายใด ใครเป็นคนเชิญ แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตนทราบว่ามีการล็อบบี้รัฐสภายุโรปหลายเรื่อง
ผู้สื่อข่าวถามว่า การล็อบบี้หลายเรื่องรวมถึงเรื่องหนังสือเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ครั้งนี้ด้วยหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า มีอยู่หลายเรื่อง คงจะไม่พลาดที่จะรวมเรื่องนี้ ทางรัฐสภาอียูเขาบอกตนมา ต่อข้อถามว่าจะเข้าไปตรวจสอบหรือไม่ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นของจริงหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า ขอโอกาสไปตรวจสอบเรื่องนี้ให้ชัดเจนก่อน เพราะขณะนี้ทราบแต่สื่อทั่วไป แต่ขณะเดียวกันเราก็มีข้อมูลจากบรัสเซลส์ว่ามีการล็อบบี้ เมื่อถามถึงข้อสังเกตจากบางฝ่ายถึงคำนำหน้าชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในหนังสือที่ใช้คำว่า “Khun” แทนที่จะใช้คำว่า Miss นายดอนกล่าวว่า ถ้าใช้คำว่า “Khun” แสดงว่าคุ้นเคยกัน รู้ถึงวัฒนธรรมไทยซึ่งไม่ได้ผิดอะไรเพราะเป็นคำสุภาพ เพียงแต่สะท้อนให้เห็นว่าคนเขียนรับรู้ว่าเป็นคำที่ใช้ในบ้านเมืองของเรา
ด้าน พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนี้ว่า รัฐบาลยังไม่ทราบรายละเอียดอย่างเป็นทางการ ทราบแต่เพียงข้อมูลที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน เท่าที่ดูเป็นหนังสือดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัวของอดีตนายกฯ ยังไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ คสช. แต่หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศมายัง คสช.เพื่อเดินทางไปตามคำเชิญดังกล่าว คสช.ก็ต้องตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่าจดหมายดังกล่าวมีที่มาที่ไปและวัตถุประสงค์เป็นอย่างไร ต้องพิสูจน์ทราบความน่าเชื่อถือของเอกสารก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จดหมายและคำแปลที่เผยแพร่ออกมาผ่านสื่อมวลชนมีเนื้อหาตรงกันหรือไม่ พล.ต.วีรชนกล่าวว่า เนื้อหามีความใกล้เคียงกัน เป็นลักษณะคนรู้จักที่เขียนจดหมายถึงกัน เมื่อถามย้ำว่า จดหมายดังกล่าวถือเป็นหนังสือเชิญหรือไม่ พล.ต.วีรชนกล่าวว่า ถ้าเป็นหนังสือเชิญแม้จะเป็นเรื่องส่วนตัวแต่ประเด็นเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนรวมก็ต้องเข้าไปดูรายละเอียดว่ามีความชัดเจนมากน้อยแค่ไหน ต่อข้อถามว่า รัฐบาลได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการล็อบบี้รัฐสภายุโรปหรือไม่ พล.ต.วีรชนกล่าวว่า รัฐบาลยังไม่ได้ตั้งข้อสังเกตทราบแต่เพียงว่ามีคนที่ติดตามข้อมูลและตั้งข้อสังเกตผ่านสื่ออยู่ว่ามีความพยายามทำให้จดหมายนี้เกิดขึ้น