xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ชง 5 ประเด็นในเวที EAS หนุนแบ่งปันข้อมูลลึกก่อการร้าย ป้องกันลัทธิสุดโต่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก หนุนแถลงการณ์กัวลาลัมเปอร์ สร้างความเข้มแข็ง EAS เสนอ 5 ประเด็น ให้ทุกชาติแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกก่อการร้ายและอาชญากรข้ามชาติ ป้องกันลัทธิสุดโต่ง หนุนคาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์ ทะเลจีนใต้เจรจาสันติวิธีบนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ อดทน และเชื่อใจ ร่วมมือกันแก้อพยพในมหาสมุทรอินเดียผิดปกติ หยุดยั้งค้ามนุษย์ ให้ทุกชาติทุ่มเทลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

วันนี้ (22 พ.ย.) ณ Conference Hall 2 ชั้น 3 ศูนย์การประชุม KLCC กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 10 ร่วมกับ 18 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย อินเดีย และ ญี่ปุ่น รวมทั้งเลขาธิการอาเซียน เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางและบทบาทของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลางและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกัน ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เป็นเวทีการประชุมที่สำคัญสำหรับผู้นำในการหารือเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และการพัฒนา ตลอดจนประเด็นระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศ โดยในครั้งนี้ มีการส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของโลก อาทิ ขบวนการผู้ยึดถือทางสายกลางระดับโลก การต่อต้านลัทธิแนวคิดสุดโต่ง ตลอดจน การเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ในส่วนของไทย พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความสนับสนุนการออกแถลงการณ์กัวลาลัมเปอร์เพื่อฉลองครบรอบ 10 ปี ของ EAS และการสร้างความเข้มแข็งให้กับ EAS ซึ่งเป็นเวทีหารือยุทธศาสตร์ระดับผู้นำของภูมิภาค ในทศวรรษที่ผ่านมา ภูมิภาคของเรามีความเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจก็จริง แต่มีความอ่อนไหว ด้านความมั่นคง EAS เป็นเวทีนำโดยอาเซียนซึ่งเปิดโอกาสให้ประเทศมหาอำนาจ มีปฏิสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาค ในระดับสูง เพื่อให้ภูมิภาคมีเสถียรภาพและความเจริญเติบโต

โดยในการสร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาค นายกรัฐมนตรีได้เสนอใน 5 ประเด็น ประเด็นแรก คือ การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ เหตุการณ์ก่อการร้ายในกรุงปารีส แสดงถึงความจำเป็นที่ประเทศต่างๆ จะต้องแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกอย่างทันท่วงทีและสม่ำเสมอ เราต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เช่น ส่งเสริมการพัฒนาที่ครอบคลุม ความอดทนอดกลั้น และความเข้าใจอันดีระหว่างกลุ่มต่างๆในสังคม จำเป็นต้องป้องกันการใช้ ICT ในทางที่ผิด เพื่อต่อต้านลัทธิสุดโต่งที่ใช้ความรุนแรง และส่งเสริมขบวนการผู้ยึดทางสายกลางระดับโลก

ประเด็นที่สอง คือ เรื่องคาบสมุทรเกาหลี นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า การทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยันในภูมิภาค ไทยจึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ปฏิบัติตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อที่จะได้เดินหน้าต่อ โดยการกลับคืนสู่โต๊ะเจรจาหกฝ่ายโดยเร็ว ประเด็นที่สาม คือ เรื่องทะเลจีนใต้ ปัญหานี้ จะต้องแก้ไขโดยการเจรจาและสันติวิธีบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ ทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง จะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และอดทนอดกลั้น เพื่อมิให้สถานการณ์ในพื้นที่เลวร้ายลง นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในเจตจำนงทางการเมืองของอาเซียนและจีน ที่จะผลักดันการจัดทำ COC ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว อาเซียนกับจีนต้องเพิ่มความพยายามในการปฏิบติตาม DOC ในทุกข้อบท เพื่อเพิ่มพูนความไว้เนื้อเชื่อใจ และหามาตรการชั่วคราวที่จะป้องกันการเพิ่มความตึงเครียด ในขณะเดียวกัน ประเทศต่าง ๆ ควรสนับสนุนความพยายามในกรอบอาเซียน - จีน ที่จะแก้ไขปัญหานี้

ประเด็นที่สี่ คือ ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียเป็นปัญหาเร่งด่วน ซึ่งไม่มีประเทศใดแก้ไขได้โดยลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือและรับผิดชอบร่วมกันจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยนอกเหนือจากความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแล้ว เราต้องหยุดยั้งการค้ามนุษย์ ตลอดจนหาหนทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศต้นทาง เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ยั่งยืน ประเด็นสุดท้าย คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผู้นำโลกจะไปรวมตัวกันที่ปารีสในสัปดาห์หน้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะต้องทุ่มเทมากขึ้นเพื่อให้การประชุม COP 21 หรือการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบรรลุเป้าหมาย สำหรับภูมิภาคยังคงต้องจัดการกับหมอกควันข้ามแดนที่เป็นภัยต่อสุขภาพ เศรษฐกิจและการเดินทางทางอากาศด้วย

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต่อที่ประชุมถึงแนวทางการทำงานของรัฐบาล ว่า ปัจจุบันอยู่ในช่วงของการปฏิรูปอย่างรอบด้านเพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใสตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล และเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งอย่างยั้งยืนเพื่อความผาสุกของคนไทย ประเทศไทย และเพื่อรักษาผลประโยชน์ของมิตรประเทศตามที่มีพันธกรณีต่อกันบนพื้นฐานของการมีผลประโยชน์ร่วมกันทั้งปัจจุบันและในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น