โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ย้ำ ยังไม่ตกผลึกประเด็นที่มาของ ส.ว. คาดอาจจำกัดบทบาทเหลือกลั่นกรองกฎหมาย สรรหาองค์กรอิสระ ตัดเรื่องถอดถอนออก หากได้มาจากการสรรหา ทำให้ประชาชนสบายใจมากขึ้น ถกประเด็นต้องการความอิสระ ปราศจากการเมืองครอบงำ โดยเฉพาะปัญหาสภาผัวเมีย เผย 19 พ.ย. นี้ จัดสัมมนาเรื่องการรับฟังความคิดเห็น 7 กลุ่ม พร้อมประชาสัมพันธ์เป็นตัววิ่งตามทีวี
วันนี้ (17 พ.ย.) นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงผลการประชุม ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาหารือ และยังไม่มีความชัดเจน ทั่งวิธีการและจำนวน มีการพูดถึงงานที่ ส.ว. ควรจะทำหน้าที่โดยเฉพาะเรื่องการกลั่นกรองกฎหมาย การได้มาซึ่งองค์ประกอบองค์กรอิสระ โดยจะมีการจำกัดบทบาทอำนาจหน้าที่ลงมา เช่น อาจจะไม่มีหน้าที่ถอดถอนอีกต่อไป ดังนั้นรูปแบบที่ได้มาของ ส.ว. อาจจะทำให้ประชาชนรู้สึกสบายใจขึ้น หากที่ประชุมมีมติไม่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่ก็มีพูดถึงปัญหาที่เราต้องการความอิสระ ปราศจากการครอบงำทางการเมือง เพราะแม้ที่ผ่านมาจะมีการระบุความเป็นอิสระและไม่สังกัดพรรคการเมือง ไม่มีการครอบงำจากอิทธิพลทางการเมือง แต่จากประวัติศาสตร์การเลือกตั้งที่ผ่านมา ปรากฏปัญหาสภาผัวเมีย จะทำอย่างไรที่จะป้องกันปัญหานี้
“ขอยืนยันว่า กรธ. ยังไม่ตกผลึกในที่มาของ ส.ว. เราศึกษาควบคู่ไปกับคณะอนุกรรมการโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติไปศึกษาว่าในโลกนี้มีวิธีการตั้งหรือเลือก ส.ว. อย่างไรบ้าง ซึ่งมีทั้งการแต่งตั้งแบบสภาขุนนางของอังกฤษ กรณีสหรัฐฯ เลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์โดยตรงจากประชาชน หรือลักษณะผสมระหว่างการเลือกตั้งกับการสรรหา โดยมีการยกแต่ละรูปแบบมาพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียจากรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ได้รูปแบบที่ดีที่สุด บางข้อเสนอไม่มีในโลก เช่นมีเสนอเล่น ๆ ให้จับสลากเหมือนศาลเจ้าให้ เทพเจ้าผู้เลือก หรือเสนอชื่อมาให้ประชาชนคัดออกเอาคนที่ได้คะแนนน้อยที่สุด” นายนรชิต กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีการลดแรงจูงใจจากฝ่ายการเมือง เรื่อง ส.ว. ไม่มีอำนาจถอดถอนแล้ว จะกังวลเรื่องสภาผัวเมียอีกหรือไม่ นายนรชิต กล่าวว่า เราไม่ได้กังวลเรื่องสภาผัวเมีย เพียงยกตัวอย่างว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ซึ่งก็คือการพยายามเข้ามาครอบงำของฝ่ายการเมือง ทำให้ ส.ว. ไม่มีอิสระ เพราะถึงจะตัดเรื่องถอดถอนออกไปแล้ว แต่การอนุมัติงบประมาณ อนุมัติ พ.ร.บ. ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับประชาชน หรือการดูแลตรวจสอบองค์กรอิสระต่าง ๆ ก็ยังเป็นที่สนใจของฝ่ายการเมืองอยู่เช่นกัน เพราะเป็นส่วนที่อาจจะมีได้ส่วนเสียหรือทับซ้อนในผลประโยชน์
นายนรชิต กล่าวว่า ในวันที่ 19 พ.ย. จะมีการจัดสัมมนาเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มเฉพาะต่อร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 7 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มปฏิรูปด้านการศึกษา กลุ่มการค้าเสรี กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มสิทธิสตรี กลุ่มสื่อสารมวลชน กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย นอกจากนี้ กรธ. ได้มีช่องทางสื่อสารกับประชาชนหลายด้าน โดยจะมีการประชาสัมพันธ์เป็นตัววิ่งตามทีวี เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนได้ติดต่อ กรธ. พร้อมมีสโลแกน “ร่วมคิด ร่วมร่าง ร่วมสร้างรัฐธรรมนูญ”