ผ่าประเด็นร้อน
หากพิจารณากันแบบรู้ทันกับการติดตามคนพวกนี้มานานก็ย่อมมองออกว่านี่คือการวางแผนกันมาล่วงหน้า ทั้งในเรื่องการออกหนังสือชีวประวัติของ “ทักษิณ ชินวัตร” และการออกมาเป็นพยานยืนยันความบริสุทธิ์ของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ว่าไม่ได้ปล่อยปละละเลยจนทำให้โครงการรับจำนำข้าวเกิดความเสียหาย ทั้งสองกรณีนี้และการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวกับการเขียนจกหมายเปิดผนึกถึง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติล้วนมีความเชื่อมโยงถึงกัน
อย่างไรก็ดี หากรู้ทันแล้วก็สามารถอธิบายได้ในแต่ละเรื่องในแต่ละบุคคลว่ามีเจตนาอย่างไรได้ไม่ยาก หากเริ่มจาก ทักษิณ ชินวัตร ที่เผยแพร่หนังสือชีวประวัติของตัวเอง เมื่อได้เห็นตัวอย่างของหนังสือในการโปรโมตมีอยู่ 5 หัวข้อ หนึ่งในนั้นได้เน้น “เรื่องสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ” ก็อย่าได้แปลกใจเขาจะไม่ยอมพลาดโอกาสแบบนี้ เพราะที่ผ่านมาเขามีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางหมิ่นเบื้องสูงหลายครั้ง และเป็นสาเหตุที่ทำลายศรัทธาที่มีต่อเขาลงมาเรื่อยๆ และล่าสุดจากการที่กองทัพส่งตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดีและนำไปสู่การออกหมายจับเพิ่มอีกหนึ่งคดีนั้น ในคำพูดให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศที่โจมตีกองทัพเกี่ยวกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 57 ก็มีความหมิ่นเหม่ไปทางนั้นเหมือนกัน
แน่นอนว่านี่เป็นยุคใหม่ที่อำนาจรัฐเปลี่ยนมือจาก “รัฐบาลหุ่นเชิด” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย มาสู่รัฐบาลทหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการไฟเขียวรื้อฟื้นคดีเก่าๆ ที่ทุจริตอื้อฉาวในอดีตมากมายมีไม่น้อยกว่า 12 คดี ซึ่งในจำนวนนั้นมีความเกี่ยวข้องกับทักษิณ ชินวัตร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีคนในพรรคเพื่อไทยเกี่ยวข้องหลายคดี ล้วนมีผลต่ออนาคตทั้งสิ้น นั่นคือกระทบทั้งอนาคตทางการเมือง อนาคตที่เสี่ยงคุกและเสี่ยงถูกยึดทรัพย์
นี่ยังไม่นับถึงแนวโน้มรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยกร่างโดย “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการยกร่างฯ กำลังกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามสำหรับนักการเมืองที่มีประวัติต้องคดีทุจริต ถูกถอดถอนสิทธิลงนามการเมืองตลอดชีวิต ซึ่งเมื่อมีการหยั่งกระแสความรู้สึกของสังคมผ่านทางผลสำรวจในเบื้องต้นแล้วมีเสียงตอบรับกลับมาน่าชื่นใจ
ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวล้วนเป็นผลลบต่อ ทักษิณ ชินวัตร และเครือข่ายของเขาทั้งสิ้น มีผลต่อเครดิตทางการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการออกหนังสือชีวประวัติที่กล่าวถึงแง่มุมด้านบวกเพียงอย่างเดียว ไม่พูดถึงคดีความที่ถูกกล่าวหา ทำให้มองได้ไม่ยากว่านี่คือการสร้างกระแส และมีคสามพยายามรักษาความนิยมจากมวลชนเอาไว้ให้ได้มากที่สุด
อีกด้านหนึ่งก็ได้เห็นความเคลื่อนไหวของ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” ในแบบที่เรียกว่า “โผล่” ออกมาหลังจากเงียบหายไปนาน เขาเดินทางไปพบคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของกระทรวงพาณิชย์พร้อมเอกสาร 53 หน้าเพื่อยืนยันว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มีความผิดเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ไม่ได้ปล่อยปละละเลยจนเกิดความเสียหาย ตรงกันข้ามเขาบอกว่า เขาได้รับคำสั่งจากเธอในฐานะนายกรัฐมนตรีเข้ามาตรวจสอบการทุจริตจนสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้นับร้อยคดีซึ่งยืนยันได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งยืนยันว่าเธอไม่มีความผิดไม่ได้ปล่อยปละละเลยอย่างที่ถูกกล่าวหา
ขณะเดียวกัน เขายังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับบางคดีที่มีความล่าช้าส่อไปในทางเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส กรณีสำแดงเอกสารเท็จในการนำเข้าบุหรี่ ที่มีการสั่งฟ้องให้ชดใช้ความเสียหายให้แก่รัฐ 8 หมื่นล้านบาท และอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องแล้วแต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จนถึงขณะนี้ โดยระบุว่าหากตนพบความไม่ชอบมาพากลในคดีจะขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงข่าว โดยไม่เอาประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อติดตามในเรื่องนี้ต่อไป
แน่นอนว่าหากตัดเอาเรื่องการเมืองออกไปก็ต้องบอกว่านอกเหนือจาก 12 คดีอื้อฉาวที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.สั่งให้รื้อฟื้นขึ้นมารวมทั้งดร่งรัดให้ดำเนินคดีจนได้ข้อยุติในที่สุดแล้วก็ยังมีอีกหลายคดีที่ยังคาใจของอีกฝ่ายเสมอ ดังนั้นหากบอกว่าในยุค คสช.เป็นยุคที่กำลังกวาดล้างบ้านเมืองให้สะอาดโดยไม่เลือกหน้าว่าจะเป็นกลุ่มไหน ยึดถือความถูกต้องเป็นหลักก็น่าจะจัดการในคราวเดียวกัน เพื่อลดข้อครหาจากฝ่ายตรงข้ามว่าเลือกปฏิบัติ ซึ่งคำพูดดังกล่าวของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ก็เป็นการสะท้อนออกมาว่ายังไม่เคลียร์ ยังเป็นเงื่อนไขให้อีกฝ่ายได้ตลอดเวลา
เมื่อวกมาพิจารณาเฉพาะกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร ออกหนังสือชีวประวัติ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง “โผล่” ออกมาเป็นพยานคดีทางแพ่งในความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวให้กับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากเป็นเรื่องบังเอิญก็อาจมองแบบนั้นได้ แต่ในทางการเมืองรับรองว่านี่เป็นการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้ากะเวลาได้อย่างเหมาะเจาะ ขณะเดียวกัน หากมองย้อนไปเปรียบเทียบในอดีตการที่ เฉลิม รับอาสาออกมาแบบนี้มันก็ย่อมมีค่าตอบแทนในอนาคตที่คุ้มค่า อย่างน้อยในสถานการณ์ตัวเลือกในพรรคเพื่อไทยที่แทบไม่เหลือแล้ว ก็ถือเป็นจังหวะเหมาะที่เขาต้องออกมาอีกครั้ง
แม้ว่าเป็นตัวเลือกที่ไม่ค่อยมีราคา ไม่สดเหมือนเดิม แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นที่พยายามเสนอหน้าเข้ามาให้เลือก เช่น สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รวมทั้งหน้าเก่าอย่าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ ที่เพิ่งประกาศวางมือ มันก็ทำให้ เขา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ยังมีภาษีดีกว่าหลายคนในพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่งเมื่อเห็นการเคลื่อนไหวออกมาแบบนี้มันก็มีความหมายในทาง “ตีบตัน” หมดตัวเลือกแล้วเช่นกัน!!