ไม่จำเป็นต้องบอกสื่อทุกเรื่อง! “ไก่อู” ออกโรงแจง แทนนายกฯ เหตุงดจ้อสื่อ 7 วัน เพราะไม่มีวาระประชุม เผย “บิ๊กตู่” เป็นห่วงทุกเรื่อง แต่ไม่ชอบให้ใครมาถามทุกเรื่อง ต้องการให้คิดเองบ้าง ระบุมีคนพบให้ทั้งให้ข้อมูล รายงานผลตลอด
วันนี้ (20 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่มีการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า อย่างที่ตนเคยกล่าวไว้ว่า ไม่ใช่นายกฯ ไม่อยากคุยกับสื่อ ถ้าหากมีวาระประชุมที่ต้องเดินทาง ก็ต้องคุยกันอยู่แล้ว แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีหลายคนเดินทางไปต่างประเทศ จึงไม่มีวาระประชุม นายกฯ นั่งเซ็นหนังสือและศึกษาข้อกฏหมาย ดูแผนงาน และเรียกเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ว่าดำเนินการไปถึงไหนแล้ว
โดยสิ่งที่นายกฯ ต้องการทำความเข้าใจ คือ 1. การปฏิบัติงานของนายกฯ ไม่ได้หมายความว่า เมื่อเสร็จแล้วต้องชี้แจง เพียงแต่ที่ผ่านมา นายกฯ รู้สึกว่า ถ้าท่านเป็นส่วนหนึ่งของการอธิบายจะทำให้สังคมเข้าใจมากขึ้น ดังนั้น อย่าเข้าใจผิดว่า เมื่อนายกฯ ทำงานเสร็จแล้ว ต้องลงมาเล่าให้สื่อฟัง 2. ในขณะนี้จะเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ กำลังงวดเข้ามา เช่น คดีความต่าง ๆ ที่กำลังเข้าสู่วาระอายุความ ทั้งที่รัฐเป็นโจทก์และจำเลย และมีผลกระทบต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเป็นธรรมดาผู้ที่ได้รับผลกระทบจะต้องออกมาชี้แจงอธิบายให้สังคมฟัง ก็จะเกิดเป็นปมประเด็นความขัดแย้ง แลสื่อก็จะนำมาถามนายกฯ ซึ่งนายกฯ จะตอบยังไงก็แล้วแต่ ก็สามารถโยงหรือขยายให้เกิดความขัดแย้งได้ นายกฯ จึงระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดบรรยากาศเช่นนั้น จึงมอบหมายให้ในตน และฝ่ายกฏหมายเป็นผู้ชี้แจง เพราะหน้าจะมีความเหมาะสมมากกว่า
อย่างไรก็ตาม มีคนมาพบนายกฯ มากมาย ทั้งให้ข้อมูล และรายงานผลการปฏิบัติงานที่นายกฯ สั่งไป ซึ่งนายกฯ เป็นคนที่ไม่คอยให้มีการรายงานผลเฉพาะในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นประเด็นที่นายกฯ ติดตามจะเรียกมาเลย
“นายกฯ ให้ทั้งผม และ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ และในส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะที่ผ่านมา บางทีในบางประเด็นเป็นเรื่องข้อกฎหมาย ที่ต้องมีการอธิบายความให้เข้าใจ เช่น ทำไมถึงไม่ฟ้องร้องศาล ทำไมถึงใช้อำนาจทางการปกครอง ซึ่งถ้าไปดูในรายละเอียด จะพบว่าอำนาจทางการปกครองนั้นมีกฎหมายรองรับ ถ้ารัฐบาลนี้เพิกเฉยไม่ดำเนินการ ก็ถือว่าละเลยต่อกฏหมาย และจะต้องถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่าละเลยการปฏิบัติตามข้อกฎหมาย และต้องเป็นผู้รับผิดชอบเสียเอง แต่ท้ายที่สุดการดำเนินตามขั้นตอน เชื่อว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบ ไม่หยุดแค่นี้ และจะต้องไปร้องศาลอยู่ดี ดังนั้น เรื่องราวทั้งหมดก็ต้องไปสู่กระบวนการที่ศาลอยู่ดี ไม่เห็นจะต้องมาวิตกกังวลว่าทำไมรัฐบาลต้องทำแบบนี้ ถ้าจะให้ขยายความ ก็คือ รัฐบาลต้องทำเพราะมันมีข้อกฎหมาย ที่เราไม่ทำไม่ได้ เราต้องทำ” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
เมื่อถามว่า การที่นายกฯ ให้โฆษกทั้งสองคนออกมาชี้แจงแทนนั้น นายกฯ สบายใจหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าปัญหาของประเทศในปัจจุบัน ไม่ได้มีแค่เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเดียว แต่มีหลายมิติ เช่น การบริหารราชการ การทำประมงผิดกฏหมาย การค้ามนุษย์ กิจการบินพลเรือน ซึ่งในทุกมิติมีการเกี่ยวข้องกัน ไม่สามารถอย่างใดอย่างหนึ่งได้ จึงต้องไปควบคู่กัน ถ้าถามว่า นายกฯ สบายใจหรือเป็นกังวลหรือไม่ ตนเชื่อว่าไม่ ท่านเป็นห่วงทุกเรื่อง อยากใช้เวลาที่มีอยู่ตามโรดแมป ทำให้ได้มากที่สุดตามกำลังที่มี ภายใต้กรอบกฎหมาย อะไรใช้กฎหมายปกติได้ก็ทำ อะไรที่จำเป็นเร่งด่วนมีตารางเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ทำแล้วจะมีปัญหาใหญ่ เช่น การทำประมงผิดกฏหมาย จำเป็นต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44
อย่างไรก็ตาม นายกฯ เป็นคนให้เกียรติคน ตนทำงานกับนายกฯ มานาน จะรู้ว่าท่านต้องการสื่อความหมายอะไร เรื่องใดมีข้อมูลชัดเจน ก็จะสื่อความหมาย แต่อะไรที่ไม่ชัดเจน ยังมีข้อมูลไม่มากพอ หรือไม่มั่นใจว่านายกฯ มีนัยอะไรหรือไม่ ก็จะถามท่าน แต่ไม่ใช่ทุกเรื่อง เพราะนายกฯ ไม่ชอบให้ใครมาถามทุกเรื่อง ต้องการให้คิดเองบ้าง