ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เปิดศูนย์สื่อสารสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม นำความคิดเห็นมาวิเคราะห์ ด้านอดีต สปช. “วสันต์” ยื่นข้อเสนอป้องกันโกง แนะตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มีกลไกป้องกันคนทุจริตเข้าสู่อำนาจ เพิ่มประสิทธิภาพ ป.ป.ช. ให้ ป.ป.ท.เป็นองค์กรอิสระ ดันไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการติดสินบน
วันนี้ (20 ต.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.00 น. ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พร้อมด้วยนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 และ น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธาน สปท.คนที่ 2 เป็นประธานพิธีเปิดศูนย์สื่อสารสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อเป็นช่องทางรับฟังความคิดเห็นประชาชน ณ อาคารรัฐสภา
ร.อ.ทินพันธุ์กล่าวว่า การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศต้องรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย สะท้อนปัญหา การให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นสิ่งจำเป็น มีกระบวนการที่ยอมรับได้ทุกภาคส่วน เพื่อที่จะได้นำความคิดเห็นมาเป็นข้อมูลวิเคราะห์ส่งให้กับ สปท. และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต่อไป สปท.จึงมีช่องทางให้แสดงความคิดเห็น ทั้งทางไปรษณีย์ สายด่วน เว็บไซต์ ไลน์ เฟซบุ๊ก วิทยุ โทรทัศน์ หรือเดินทางมาด้วยตนเองที่ศูนย์นี้ จากนั้นประธาน สปท.ได้ตัดริบบิ้นเป็นการเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการ และเข้าเยี่ยมชมภายในห้องทำงานศูนย์
ต่อมานายวสันต์ ภัยหลีกลี้ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตัวแทนสถาบันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยื่นหนังสือข้อเสนอเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ต่อ ร.อ.ทินพันธุ์ และนายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อเสนอแนะ 6 ข้อ คือ 1. กำหนดให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นสิทธิของปวงชนชาวไทย 2. กำหนดให้มีกลไกและมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้ผู้กระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบเข้าสู่อำนาจรัฐ 3. กำหนดให้มีกลไกและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ 4. เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 5. กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 6. ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการติดสินบน
ทั้งนี้ ช่องทางการเสนอความคิดเห็นต่อศูนย์สื่อสารสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีทั้งหมด 11 ช่องทาง ได้แก่ (1. เสนอความคิดเห็นด้วยตนเองที่ศูนย์ บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา 1 (2. Call Center 1743 (3. โทรศัพท์/โทรสาร 0-2244-1881 ในวันและเวลาราชการ (08.30-16.30 น.) (4. ไปรษณีย์ ตู้ ปณ.999 ปณฝ.รัฐสภา กรุงเทพฯ 10305 (5. เว็บไซต์ www.parliament.go.th/thainrsa58 (6. อีเมล thainrsa58@gmail.com (7. ไลน์ thainrsa58 (8. เฟซบุ๊ก ศูนย์สื่อสารสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (9. สถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา (10. สถานีโทรทัศน์รัฐสภา (11. ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี