xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ปฏิรูปสื่อฯ ชงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิฯ “เทียนฉาย” แก้ 6 ประเด็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
รองประธาน กมธ.ปฏิรูปสื่อฯ เผยส่งร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิฯ ฉบับปรับปรุง ถึงประธาน สปช.แล้ว แจง 6 ประเด็นแก้ไข แก้นิคำยม สวัสดิการ หมายถึงความปลอดภัย การเดินทางแทน รายได้ รัฐต้องจัดทุนประเดิมตั้งสภาวิชาชีพ ห้ามองค์กรขอเงินเพิ่ม คงโครงสร้าง 16 กก.จริยธรรมทำหน้าที่ตรวจสอบสื่อ

วันนี้ (28 ก.ค.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมาทาง กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนฯ ที่มีนายจุมพล รอดคำดี เป็นประธานฯ ได้ส่งรายงานและร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ ... ฉบับที่ปรับปรุงและแก้ไขตามข้อเสนอและความเห็นของสปช. รวมถึงภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปยังนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เพื่อให้พิจารณาส่งไปยังรัฐบาลเพื่อดำเนินการต่อไปแล้ว

ทั้งนี้ มี 6 ประเด็นที่ที่ประชุมยกมาพิจารณาและบางเรื่องมีมติแก้ไข ประกอบด้วย 1. เปลี่ยนชื่อเรียกขอใบรับรองการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็น ‘บัตรประจำตัวผู้ประกอบวิชาชีพ’ 2. ประเด็นคำว่า ‘สวัสดิการ’ และ ‘สวัสดิภาพ’ ของผู้ประกอบวิชาชีพ ที่ได้คงไว้ตามบทบัญญัติเดิม แต่ได้เขียนคำนิยามให้มีความหมายที่ชัดเจน กล่าวคือ คำว่า ‘สวัสดิการ’ จะหมายถึงความปลอดภัย การได้รับการดูแลความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่และรวมถึงการเดินทางด้วย เพราะขณะนี้สวัสดิการจะหมายถึงรายได้ 4. ประเด็นเงินประเดิมเพื่อจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่ประชุมได้ยืนตามบทบัญญัติเดิมที่ช่วงแรกของการก่อตั้ง รัฐต้องจัดสรรเงินทุนประเดิมให้ ทั้งนี้พิจารณาแล้วเห็นว่าเงินทุนประเดิมดังกล่าวไม่ใช่การแทรกแซงการทำหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ได้เขียนความหมายให้ครอบคลุมด้วยว่าการจัดตั้งองค์กรตามกฎหมายต้องไม่มีการไปขอเงินจากรัฐเพิ่มเติม ขณะนี้เงินที่ใช้จ่ายเพื่อดำเนินการที่ได้รับจากส่วนต่างๆ เช่น กองทุนเงินที่ได้จากรายงานที่สถานทีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสส่งคืนคลัง ได้เขียนรายละเอียดให้มีความชัดเจนมากขึ้น

นายวสันต์กล่าวว่า 5. กรรมการจริยธรรม ได้ปรับในส่วนของการทำหน้าที่ตรวจสอบด้านจริยธรรมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยให้เป็นหน้าที่ของกรรมการจริยธรรมโดยตรง จากเดิมที่กำหนดให้เป็นอำนาจของกรรมการกำกับโดยภาคประชาชน และ 6. โครงสร้างและที่มาของกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้คงจำนวนและที่มาไว้ตามร่างกฎหมายเดิม คือ มีจำนวน 15 คน และระยะเริ่มแรกให้มาจากการสรรหา คือ ที่มาจากวิชาชีพจำนวน 8 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คน และจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 1 คน ทั้งนี้ได้เขียนรายละเอียดว่า ในระยะยาว หรือ 3-4 ปีในส่วนของกรรมการสภาฯ ที่มาจากผู้แทนวิชาชีพนั้นให้ใช้การเลือกตั้งแทนการสรรหา โดยต้องคำนึงสัดส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพในภูมิภาคด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น