อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน
เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาประชาชน 6 ต.ค. 2519 ไม่เพียงถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่า คนไทยสามารถฆ่าคนไทยด้วยวิธีที่ป่าเถื่อน-เลือดเย็นผิดมนุษย์ได้ถึงเพียงนี้ แต่นิสิตนักศึกษาในยุคนั้นยังถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์-จ้องล้มล้างสถาบันอีกด้วย ...และนั่นคือปมที่ติดอยู่ในใจของนักศึกษามาตลอด ซึ่งถ้าย้อนเวลากลับไปได้ พวกเขาไม่ได้อยากได้ “การนิรโทษกรรม” แต่อยากให้มาชำระความกันใหม่ว่า ใครผิด-ใครถูก เพราะนักศึกษาไม่ได้ผิด แต่คนผิดคือคนที่เข้าไป “ฆ่า” นักศึกษา
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายงานพิเศษ : ย้อนรอย 6 ต.ค. 19 ...นักศึกษายันไม่ได้หมิ่นสถาบัน!!
หลังเหตุการณ์นองเลือด 14 ต.ค. 2516 ที่เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้รัฐบาลเผด็จการขณะนั้น ที่ถูกเรียกว่า 3 ทรราช จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ลูกชายจอมพลถนอม และลูกเขยจอมพลประภาส ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ
บรรยากาศการเมืองไทยหลังจากนั้น เปลี่ยนจากยุคเผด็จการเรืองอำนาจ มาเป็นยุคทองของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม โดยมีนักศึกษาเป็นแกนกลางในการเชื่อมประสานการต่อสู้ของกรรมกรและชาวนาเข้าด้วยกัน ด้านรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปลายปี 2517 พร้อมทั้งกำหนดให้มีการเลือกตั้งขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีคำพูดเปรียบเปรยในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.ว่า “กระเบื้องหลุดไป 3 แผ่น แต่ตัวตึก โครงสร้างรากฐานยังอยู่” ซึ่งหมายถึง แม้จอมพลถนอม-จอมพลประภาส-พ.อ.ณรงค์ จะลี้ภัยไปแล้ว แต่ระบบยังคงเดิม ชนชั้นปกครองยังคงเดิม ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มอำนาจเก่าได้เริ่มฟื้นตัวก่อตั้งกลุ่มต่างๆ ขึ้น และเคลื่อนไหวต่อต้านพลังของนักศึกษาประชาชน เช่น กลุ่มกระทิงแดง, กลุ่มนวพล, กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน และชมรมแม่บ้าน เป็นต้น บ่อยครั้งที่มีการปาระเบิดใส่กลุ่มนักศึกษาประชาชนที่เดินขบวน เรื่อยไปจนถึงการสังหารผู้นำชาวนา นักศึกษา และอาจารย์มหาวิทยาลัย
สถานการณ์ขณะนั้น นักศึกษาหลายคนเริ่มคาดเดาได้ว่า เหตุรุนแรงหรือการปราบปรามนักศึกษาเพื่อชำระแค้นจากเหตุการณ์ 14 ต.ค.จะเกิดขึ้นแน่ในอนาคตอันใกล้ ทำให้นักศึกษาบางส่วนตัดสินใจเข้าป่าก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519
และสถานการณ์ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อจอมพลถนอมบวชเป็นเณรแล้วเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทย โดยก่อนหน้านั้นจอมพลประภาส กลับเข้ามา แล้วถูกนักศึกษาประชาชนต่อต้าน จนต้องกลับออกไป แต่การกลับมาของจอมพลถนอม ในภาพของเณร แล้วไปบวชเป็นพระทันทีที่วัดบวรนิเวศน์วิหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2519 เกิดกระแสต่อต้านในหมู่นิสิตนักศึกษาประชาชนอย่างหนัก มีการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อให้จอมพลถนอมกลับออกไป แต่ก็ไร้ผล ขณะที่การลอบสังหารนักศึกษาประชาชนผู้ต่อต้านจอมพลถนอมเกิดขึ้นเป็นระยะๆ รวมทั้งการที่ช่างไฟฟ้าที่นครปฐม 2 คน ถูกฆ่าแขวนคอหลังติดป้ายโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอม
เหตุการณ์ดังกล่าว นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้นำมาแสดงละครล้อเลียนเพื่อประณามถึงการใช้ความรุนแรง โดยจำลองภาพแขวนคอดังกล่าวโดยใช้นักศึกษาแสดง และเมื่อภาพละครแขวนคอถูกตีพิมพ์ทางหนังสือพิมพ์ ได้กลายเป็นประเด็นที่หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา ซึ่งสนับสนุนอำนาจเก่านำมาโจมตีว่านักศึกษาแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กระแสกลุ่มผู้สนับสนุนฝ่ายขวา กล่าวหานักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ จ้องล้มล้างสถาบันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
กระทั่งในที่สุด ได้นำไปสู่การล้อมปราบนักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่อยู่ระหว่างชุมนุมเรียกร้องให้จอมพลถนอมออกนอกประเทศ เจ้าหน้าที่และกลุ่มอันธพาลการเมืองได้ใช้อาวุธสงครามยิงกราดเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเวลาหลายชั่วโมง ตั้งแต่รุ่งอรุณของวันที่ 6 ต.ค. 2519
ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งช่วง 6 ตุลา ทำหน้าที่โฆษกบนเวทีชุมนุมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้อนเหตุการณ์ให้ฟังว่า ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดวันที่ 6 ต.ค. บรรยากาศกึกก้องไปด้วยเสียงระเบิดเสียงปืนที่ยิงเข้าไปไม่ขาดสายราวกับอยู่ในสมรภูมิรบ และแม้นักศึกษาจะพยายามขอร้องตำรวจว่าอย่ายิงเข้าไป แต่ก็ไม่มีประโยชน์ จะขอเอารถพยาบาลออกเพื่อส่งคนบาดเจ็บไปโรงพยาบาลก็ไม่ยอมให้ออก
“ตอนแรกที่ผมอยู่บนเวที มันเริ่มมีคนบาดเจ็บ แล้วเราเอารถพยาบาลขอออก เขาไม่ให้ออกด้วย ผมจำได้ว่าถึงขนาดต้องมาที่เวที แล้วกระจายเสียงไปว่า ขอให้เอารถพยาบาลออก ...ผมเจอคุณประยูร อัครบวร ซึ่งเป็นรองเลขาฯ ศูนย์นิสิตฝ่ายการเมืองของสุธรรม เขาก็เจรจากับตำรวจที่คุมอยู่แถวด้านหน้าประตูท่าพระจันทร์ บอกว่า ขอเอาเฉพาะผู้หญิงกับเด็กออกไปก่อนได้มั้ย ทยอยออกไป เอาแค่เป็นหลักประกันว่าออกไปไม่ใช่โดนยิงทิ้ง เพราะแถวนั้นที่มาทีหลัง ทั้งตำรวจ ทั้งกระทิงแดง แถวนั้นมันอยู่เต็มไปหมด ...ตลอดเวลาเสียงปืนไม่เคยหยุด เสียงปืนที่มันถล่มเข้ามาเนี่ย มันฟังน่ากลัวมาก เพราะมันก้อง มันสะท้อนอยู่ตลอดเวลา เพราะธรรมศาสตร์มันเป็นตึกล้อมรอบสนามฟุตบอล พอมันยิงนิดหนึ่งมันดังมาก ฟังดูมันดังไม่หยุดเลย น่ากลัวมาก ผมยอมรับว่า ไม่เคยได้ยินมากขนาดนี้เลย ความรู้สึกมันเหมือนผมอยู่ในสมรภูมิ ...แล้วตอนหลังประยูรเจรจา เราก็เลยเริ่มให้ผู้หญิงกับเด็กทยอยเข้าแถวจากตรงคอมมอนรูม หมายถึงผู้ที่ยังหลบอยู่ใต้คอมมอนรูมศิลป์ ก็ทยอยเข้าแถว และวิ่งออกไปด้านประตูท่าพระจันทร์ ทีละคนสองคน ตอนหลังถึงมารู้ว่า ที่ออกไป ก็ไปไม่ได้ไกล ส่วนใหญ่ก็ไปหลบอยู่แถวๆ บ้านคนบ้าง”
ไม่ว่านักศึกษาจะไปหลบอยู่บ้านใครในละแวกนั้นก็ถูกค้นและจับกุมหมด ขณะที่ ดร.สมศักดิ์เอง ก็ถูกจับกุมเช่นกัน หลังไปหลบอยู่ในกุฏิพระในวัดมหาธาตุฯ ข้างธรรมศาสตร์พร้อมกับนักศึกษาอีกหลายสิบคน
ขณะที่ นายวิทยา แก้วภราดัย กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกยิงบาดเจ็บในเหตุการณ์ 6 ต.ค.เล่าให้ฟังว่า ตนเองทำหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยอยู่ด้านหน้าหอประชุมใหญ่ของธรรมศาสตร์ พอมีการยิงกราดมาจากทางด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตอนประมาณตี 5 ครึ่ง ก็หนีตายกัน แต่ก็มาถูกยิงเข้าจนได้ที่ขาทั้งสองข้างขณะหลบอยู่ใต้ต้นชงโคแถวสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ แม้จะไม่เสียชีวิตจากการถูกยิง แต่นายวิทยาก็เกือบเอาชีวิตไม่รอดในเวลาต่อมา
“สัก 7 โมงเศษๆ นี่ มันมีการใช้รถเมล์วิ่งชนประตูใหญ่บุกเข้ามา ในนั้นก็มีคนพวกกระทิงแดงบ้างอะไรบ้างเต็มหมด บุกเข้ามา แล้วก็วิ่งกรูกันเข้ามาทางหอประชุมใหญ่ ผมนอนดูอยู่ พวกนั้นวิ่งเข้ามาพร้อมๆ กับพวกที่ยิงผมชุดแรกที่อยู่ทางด้านพิพิธภัณฑ์ ฝั่งตรงข้ามน่ะ ก็ยิงใส่พวกที่เอารถเข้ามาเหมือนกัน ความรู้สึกผมตอนนั้นก็คือ มันคงเกิดความสับสน หรือพยายามสร้างสถานการณ์ให้รุนแรงเหมือนกับว่านักศึกษายิงพวกที่กำลังบุกเข้ามา แต่จริงๆ เป็นการยิงมาจากด้านพิพิธภัณฑ์ แล้วพวกที่โดนไล่ยิงจากพิพิธภัณฑ์ก็วิ่งลงมาหมอบอยู่ใกล้ๆ ผม สักพักเสียงปืนทางโน้นก็เงียบ พวกนี้ก็เริ่มมาหมอบอยู่ข้างๆ ผม ก็มาตรวจค้นตัวผม ส่วนใหญ่พวกที่มาค้นก็นึกว่าผมตายแล้ว เพราะเลือดมันท่วมมาถึงหน้าอกหมดแล้ว มันนาน โดนยิงไปชั่วโมงกว่า ก็พลิกตัวผมขึ้น แล้วก็ล้วงในกระเป๋า ได้เงินสัก 2 พันกว่าบาท พวกนั้นก็เอาเงินไปเลย พอรู้ว่าผมไม่ตาย ก็ช่วยกันหามออกมา”
“พอหามออกมา แล้วก็มาเปลี่ยนกัน ตอนนั้นผมยังหลับตา แต่รู้สึกตัว ผมเข้าใจว่าใกล้ๆ จะถึงหน้าหอประชุมใหญ่ ก็มีคนหนึ่งหามทางหัว คนหนึ่งหามทางขา แล้วมีคนมารับต่อใส่เปล ช่วงที่รับต่อใส่เปลก็สับสน ผมไม่ได้ลืมตาดู ฟังเสียงดูสับสนหมด คือพวกที่เอาผมใส่เปลเข้าใจว่า ผมเป็นคนที่บุกเข้าไปแล้วโดนยิง พอหามผมออกมา ผมเข้าใจว่าถึงกลางถนน คนที่อยู่ข้างนอกปรบมือรับ ทำนองว่าปรบมือให้วีรชนหน่อย พวกเราโดนยิงเจ็บออกมา ...วิ่งเอาผมใส่เปล เข้าใจว่าน่าจะเป็นริมสนามหลวง คงมีรถพยาบาลจอดอยู่ ผมยังไม่ได้ลืมตาดู และมีคนมาตะโกนว่า มันไม่ใช่พวกเรา เริ่มรู้ว่าผมไม่ใช่คนที่บุกเข้าไป ผมเป็นนักศึกษา และมีเสียงถกเถียงกันว่า เอาลงมาตีให้ตาย และเข้าใจว่าเป็นบุรุษพยาบาลที่มาก็พยายามเถียงว่า เขาจะตายอยู่แล้ว อย่าไปทำเลย เห็นแก่มนุษยธรรมเถอะ พอเสียงพูดอย่างนั้นจบ เปลที่หามผมก็โยนผมทั้งเปลเลย คือเหวี่ยงผมไปในรถ เข้าใจว่าเป็นรถพยาบาล เหวี่ยง ไม่ใช่อุ้มขึ้นไป ยกเปลแล้วก็เหวี่ยงเข้าไปในรถ ผมก็กลิ้งไปตามพื้น แล้วมีเสียงปิดประตูรถ และรถก็ออกวิ่งเลย”
การกราดยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าเคลียร์พื้นที่ในตอนใกล้เที่ยง และจับกุมนักศึกษากว่า 3,000 พันคน หลังการล้อมปราบ ประมาณว่ามีนักศึกษาประชาชนเสียชีวิตหลายร้อยคน แต่ทางการระบุว่า มีผู้เสียชีวิตแค่ 40 คน
หนึ่งในนักศึกษาที่เสียชีวิต คือ มนู วิทยาภรณ์ ซึ่งทำหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยถูกยิงนัดเดียวตัดขั้วหัวใจเสียชีวิต นางเล็ก วิทยาภรณ์ ผู้เป็นแม่เล่าให้ฟังว่า วันเกิดเหตุเห็นภาพเหตุการณ์การล้อมปราบนักศึกษาประชาชนจากโทรทัศน์จึงได้ออกไปตามหาลูก ตามเท่าไหร่ก็ไม่เจอ เจอแต่ภาพน่าสยดสยองกับการเผาคนทั้งเป็น!
“ไปตามลูกตรงไหนก็ไม่เจอ ไม่เจอ ก็มาถึงตรงหน้าธรรมศาสตร์ ตรงหน้าแม่ธรณีฯ ระหว่างยังไม่ถึงดีก็มีคนร้องสวนมาว่า ต๊าย ตาย! ดูเขาทำกับเด็กสิ ไปต่อยท้อง แล้วเด็กมันก็จุก จุกแล้วก็ถามว่าเป็นคนไทยหรือคนที่มาจากไหน เด็กก็ไม่ได้ตอบ แล้วก็เอายางมาใส่ แล้วก็เผาทั้งเป็นอย่างนั้นน่ะ เห็นแล้วก็ตกใจ แล้วรถก็เปิดหวอทั่วธรรมศาสตร์เลย วนๆๆ”
ต่อมานางเล็กได้รู้จากหลานว่าลูกชายบาดเจ็บอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่เมื่อไปดูก็ไม่พบ สุดท้ายเจ้าหน้าที่แนะให้ไปดูบริเวณที่เก็บศพ แล้วก็พบป้ายชื่อ “มนูญ วิทยาภรณ์” แม้ชื่อจะเขียนผิดเพี้ยนไปบ้างก็ตาม (จริงๆ ชื่อ “มนู”) แต่ก็เป็นศพลูกชายจริงๆ พร้อมกับได้เห็นภาพศพนักศึกษา ประชาชนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ต.ค.ถูกกองรวมกันไว้ดูราวกับกองฟืน
“ไปถึงช่วงนั้นก็ โอ้โห! เขากองศพเหมือนอย่างกับกองฟืนเลย เหมือนอย่างกับกองไม้เลย ไอ้ที่ถูกตี ก็ฟกช้ำดำเขียว แมลงหวี่ก็ตอม ฉันไปก็นึกสมเพชในใจ โอ๊ย! นี่น้าลูกเอ๊ย ลูกทำความดี เขาก็ไม่เห็นถึงความดี เขาก็คิดเข่นคิดฆ่ากัน แต่หนูก็ไปสู่สุคตินะ เราก็บอกเล่าชี้หนทางให้เขาไป เห็นแล้วก็สงสารจังเลย ...เขาก็ใส่โลง ฉันก็ถามเจ้าหน้าที่ ที่ใส่โลงเนี่ย เราต้องเสียอะไรมั่ง เขาก็บอกว่าไม่เสียหรอก ให้ทั้งโลง ฉันบอกเหรอ ฆ่าลูกเราทั้งคน แล้วยังแถมโลงให้ แต่โลงเนี่ยคงไม่เอานะ เอาไว้ใส่พวกคุณก็แล้วกัน ฉันก็บอกเขาอย่างนั้น”
คงไม่มีเหตุการณ์ไหนที่คนไทยจะฆ่าคนไทยด้วยวิธีที่โหดเหี้ยมผิดมนุษย์และเลือดเย็นเช่นนี้อีกแล้ว และคงไม่มีความตายครั้งใดที่ศพของผู้เสียชีวิตจะถูกกระทำย่ำยีอย่างป่าเถื่อนเท่ากับครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการยิงนักศึกษา แล้วใช้ผ้าลากคอไปกับพื้น การฆ่าแขวนคอและทำร้ายศพจนยับเยิน ไปจนถึงการเผาทั้งเป็น!
หลังจากการล้อมปราบนักศึกษาประชาชนในธรรมศาสตร์ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และได้มีคำสั่งยุบสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกนอกบ้านหลังเที่ยงคืน-ตี 5 และสั่งปิดหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับ หลังจากนั้นได้นำนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าฯ เพื่อประกาศแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
ขณะที่การปราบปรามนักศึกษาที่ได้รับการประกันตัวหรือไม่โดนจับ ก็ดำเนินไปอย่างรุนแรงและครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งผลให้นักศึกษาหนีเข้าป่าจำนวนมาก ส่วนผู้ที่ถูกจับกว่า 3,000 คน ส่วนใหญ่ได้รับการประกันตัวเกือบหมด เหลือเพียง 18 คนที่ถูกส่งฟ้องต่อศาล ด้วยข้อหานับสิบ กว่านักศึกษาที่ถูกฟ้องจะได้รับอิสรภาพ ก็ภายหลังรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ทำการปฏิวัติ และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 รวมเวลาผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา ทั้ง 18 คน ถูกคุมขังระหว่างสืบพยานโจทก์ นานถึง 2 ปี!
การถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์-จ้องล้มสถาบัน และแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นับเป็นปมที่อดีตนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ รับไม่ได้และติดอยู่ในใจมาตลอด นายอภินันท์ บัวหภักดี บรรณาธิการภาพนิตยสาร อ.ส.ท.และอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหนึ่งในผู้แสดงละครล้อเลียนการฆ่าแขวนคอช่วง 6 ต.ค. ยืนยันว่าละครดังกล่าวเป็นเพียงละครล้อเลียนกรณีช่างไฟฟ้า 2 คนถูกฆ่าแขวนคอที่นครปฐม หลังติดป้ายต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม เพื่อประณามการกระทำที่รุนแรงดังกล่าว และการที่ได้มาแสดงละครเรื่องนี้ก็เป็นความบังเอิญ โดยแสดงร่วมกับอาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์
“จริงๆ แล้วสำหรับผม ค่อนข้างเป็นเหตุบังเอิญ คือการเลือกตัวละครเพื่อเล่นเรื่องนี้ เลือกคนเดียว คืออาจารย์วิโรจน์ เนื่องจากมันมีฉากที่จะแขวนคอคน ถ้าเท้าความกลับไปคือว่า ช่างไฟฟ้าที่นครปฐมถูกตำรวจแขวนคอ คนที่ถูกเลือกนี่คืออาจารย์วิโรจน์ ส่วนผมเองเป็นคนที่แวดล้อมอยู่ห่างๆ เผอิญได้เข้าไปตรงจุดนั้น เขามีการเอาอาจารย์วิโรจน์ไปลองแขวนดู ปรากฏว่าวิธีการที่นักศึกษาใช้แขวนหลอกๆ เนี่ยมันเจ็บ มันอยู่ได้ไม่นาน ในขณะที่ละครเรื่องนี้จะต้องตรึงภาพนี้ไว้นานเป็นครึ่งชั่วโมง 1 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นคนที่จะมาช่วยสลับสับเปลี่ยนเพื่อที่จะตรึงภาพการแขวนคอให้อยู่ในละครนานๆ พอแขวนอย่างนี้แล้ว เฮียวิโรจน์บอกว่าเจ็บ บอกไม่ไหว อยู่นานไม่ได้ ก็เลยต้องหาคนใหม่มาแทน มาร่วมอีกคนหนึ่ง ซึ่งผม จังหวะผมเดินเข้าไปพอดีเลย”
เช่นเดียวกับนายวิทยา แก้วภราดัย กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนิสิตจุฬาฯ ผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ 6 ต.ค. ที่ยืนยันเช่นกันว่าละครดังกล่าวเป็นการสะท้อนภาพช่างไฟฟ้าถูกฆ่าแขวนคอที่นครปฐมเท่านั้น
“ละครแขวนคอนี่มันเป็นเรื่องที่แสดงเพื่อสะท้อนภาพที่มีแนวร่วมนักศึกษาไปติดโปสเตอร์ต่อต้านถนอมที่นครปฐม ปรากฏว่าทั้งสองโดนจับแขวนคอไว้ที่ประตูที่นครปฐม ฆ่าแขวนคอไว้ เพราะมันเป็นละครล้อเลียนว่าเป็นการปราบปรามประชาชน และก็ไม่รู้สึกว่าหน้าตาจะไปละม้ายคล้ายใคร แต่พอรุ่งขึ้น เรารู้ว่ามีการไปทำภาพข่าว และทำให้ระคายเคืองว่าเป็นรูปที่คล้ายกับ... ซึ่งหลายคนก็แปลกใจว่าทำกันได้ยังไง เพราะคนที่อยู่ในเหตุการณ์ไม่รู้สึกเลยว่าละครนี้เป็นการล้อเลียนที่จะให้ไปหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรืออย่างไร เป็นละครล้อเลียนละครใบ้ธรรมดา ว่ามีการเข่นฆ่าปราบปรามประชาชน ก็จับตัวคนเล็กๆ ขึ้นไปแขวน เพราะต้องแขวนไว้จริงๆ แล้วก็จำลองรูปแบบแขวน ถ้าตัวใหญ่นักก็แขวนไม่ได้ ตัวหนัก”
แล้วละครดังกล่าวถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้อย่างไร? นายอภินันท์ บัวหภักดี ชี้ว่า มีผู้ต้องการจุดประเด็น แล้วไปตกแต่งฟิล์มภาพจำลองการแขวนคอดังกล่าว ขณะที่สื่อฝ่ายขวาก็ขยายประเด็น โดยมีแนวร่วมที่มีชื่อเสียงในสังคมขณะนั้นช่วยตอกย้ำ
“การแสดงละครนี้ไม่ได้ผิด ความผิดมันอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่งที่ไปเห็นฟิล์มนี้ แล้วแต่งฟิล์ม แล้วฉุกคิดขึ้นมานิดหนึ่งว่า เอ๊ะ! มันเหมือนนี่ แล้วก็เอาอันนี้ไปขยายความ นึกออกมั้ย? ถ้าเราเห็นรูปๆ หนึ่ง เอ๊ะ! รูปนี้คล้ายๆ … เราพูดขึ้นมาปั๊บ มันก็มีคนมาขยายตรงนี้ต่อไป ขยายไปเรื่อยๆ ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนหยุดมันไม่ไหว การขยายความนี่มันอยู่ที่หนังสือพิมพ์ดาวสยาม พาดหัวเป้งลงไป แล้วมีคนอย่างท่านสมัคร สุนทรเวช มีคนอย่างท่านอุทาร สนิทวงศ์ มีคนอย่างทมยันตี ใครต่อใครออกมาปั่นต่อทางสถานีวิทยุ มันเร้าอารมณ์คน สิ่งที่ผิดคือ คนที่มองภาพนี้ แล้วก็ฉุกคิดหรือแต่งเติมให้มันเหมือนมากขึ้น คือขั้นตอนที่มันผิด คือ ขั้นตอนที่ขยายตรงนี้ออกมาสู่ประชาชนเนี่ยผิดทั้งขั้นตอนเลย มันทำให้คนไทยฆ่ากันเองโดยไม่รู้ตัว ผมว่าคนที่ผิดก็คือ คนที่ฟังไม่ได้ศัพท์แล้วจับไปขยาย”
นายอภินันท์ ในฐานะผู้แสดงละครล้อเลียนฆ่าแขวนคอช่างไฟฟ้า 2 คนที่นครปฐม ยังทิ้งท้ายด้วยว่า แม้กรณี 6 ตุลาคม 2519 จะมีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ทุกฝ่ายไปแล้ว แต่หากเป็นไปได้ ตนขอให้มาขึ้นศาลกันใหม่ เพื่อพิสูจน์ว่า ใครถูกใครผิด เพราะนักศึกษาไม่ได้ผิด ไม่ได้แสดงละครหมิ่น และไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ แต่คนผิดคือ คนที่เข้าไปฆ่านักศึกษา!!