เมื่อผมเล่าเรื่องเก่าๆ ให้คนรุ่นใหม่ฟังว่า สมัยก่อนเราใช้ระบบไฟฟ้าแรงดัน ๑๑๐ โวลท์ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น ๒๒๐ โวลท์จนทุกวันนี้ และเปลี่ยนเมื่อปี ๒๕๐๓ มานี่เอง หลายคนทำท่าไม่อยากจะเชื่อ
ในปีที่ว่า บ้านเมืองเราก็พัฒนาไปไกล มีไฟฟ้าใช้กันทั่วทุกมุมเมืองแล้ว การเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้จะต้องเปลี่ยนหลอดไฟ เปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกอย่างกันทั้งเมือง แล้วมันจะเป็นไปได้อย่างไร
เช่นตอนนี้ ถ้าเราไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าจากอเมริกาที่ใช้ระบบไฟ ๑๑๐ โวลท์มา แล้วเสียบปลั๊กใช้ในเมืองไทยที่ใช้ไฟ ๒๒๐ โวลท์ ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อชั้นดีแค่ไหน รับประกันกี่ปีก็ตาม เพียงไม่ถึงนาทีก็จะมีกลิ่นไหม้ออกมา แล้วหมดสภาพไปเรียบร้อย
เช่นเดียวกับหลอดไฟฟ้าที่ใช้กับระบบ ๑๑๐ โวลท์ เมื่อใช้กับกระแสไฟ ๒๒๐ โวลท์ ก็จะสว่างวาบแล้วดับสนิท เพราะไส้หลอดถูกเผาละลายจากความร้อนของกระแสไฟที่แรงเกินจะรับ
การจะเปลี่ยนระบบ ๑๑๐ โวลท์มาเป็น ๒๒๐ โวลท์ จึงต้องเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชิ้น หลอดไฟทุกหลอด และเปลี่ยนหมดทั้งเมือง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬารอย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้
แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเราเปลี่ยนกันมาแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๐๓ เป็นต้นมา
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เรามีปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้ากันมากเพราะผลิตไม่พอใช้ ต้องใช้วิธีลดความดันในการจ่ายกระแสลง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อเฉลี่ยให้ใช้กันได้ทั่วถึง แม้จะทำให้หลอดไฟหรี่มีแสงสลัวลง ก็ยังดีกว่าไม่มีไฟฟ้าใช้
กรุงเทพฯตอนนั้น ซึ่งก็คือจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี มีโรงไฟฟ้าอยู่ ๒ โรง โรงที่วัดเลียบ เชิงสะพานพุทธฯ เป็นของบริษัทไฟฟ้าไทยคอร์เปอเรชั่น จำกัด ที่ฝรั่งชาติเดนมาร์คได้รับสัมปทานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ จ่ายไฟให้จังหวัดพระนคร-ธนบุรีเขตใต้ กับโรงไฟฟ้าหลวงสามเสน สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เช่นกัน เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย จ่ายไฟให้พระนคร-ธนบุรีเขตเหนือ โดยใช้แนวคลองบางกอกน้อย คลองบางลำพู คลองมหานาค และคลองแสนแสบแบ่งเขตกัน
ส่วนต่างจังหวัดก็ตั้งโรงไฟฟ้าของตัวเองแต่ละจังหวัด เป็นของเทศบาลบ้าง ของเอกชนบ้าง แต่ปั่นไฟใช้เฉพาะกลางคืน ต่อมารัฐบาลขอร้องให้เปิดในตอนเช้าด้วย เพื่อประชาชนจะได้ใช้เปิดวิทยุฟังข่าวสาร
ตอนสงคราม โรงไฟฟ้าทั้งวัดเลียบและสามเสนถูกระเบิดพังทั้ง ๒ โรง ลองนึกภาพดูเมื่อทั้งกรุงเทพฯ คือพระนคร-ธนบุรีไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องหันไปใช้ตะเกียงและเทียนไขอยู่หลายเดือน
พอสงครามสงบในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๘ โรงไฟฟ้าวัดเลียบเร่งซ่อมเพียง ๔ เดือนก็ส่งกระแสไฟฟ้าได้อีก และส่งให้เขตสามเสนด้วย แต่โรงไฟฟ้าสามเสนรัฐบาลกลับไม่สั่งให้ซ่อม จนถึงเดือนพฤษภาคม ๒๔๙๑ จึงเพิ่งตื่น พอสำรวจก็พบว่าอุปกรณ์ต่างๆ ถูกระเบิดทำลายไปไม่เท่าไหร่ ที่เสียหายมากก็เพราะถูกทิ้งให้จมน้ำ ตากแดดตากฝน ที่สำคัญถูกขโมยอุปกรณ์ไปมาก
คณะกรรมการใช้เวลา ๑ ปี ๒๘ วันก็ซ่อมเสร็จ เริ่มจ่ายไฟได้ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๙๒ แม้จะมี ๒ โรงแล้วไฟฟ้าก็ไม่พอใช้อยู่ดี เพราะมีความต้องการเพิ่มขึ้นมาก ก่อนสงครามความต้องการไฟฟ้าของจังหวัดพระนครและธนบุรีมีเพียง ๑๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ แต่หลังสงครามเพิ่มขึ้นถึง ๔ เท่า เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าทันสมัยหลั่งไหลเข้ามา อย่าง พัดลม เตารีด กาต้มน้ำ เครื่องหุงต้มไฟฟ้า และตู้เย็น โรงทอผ้าวัดสร้อยทองกับโรงปูนซีเมนต์บางซื่อซึ่งปั่นไฟใช้เอง ได้ส่งกระแสไฟมาช่วยถึง ๑๘,๐๐๐ กิโลวัตต์ ไฟฟ้าก็ยังหรี่ๆ ดับๆ อยู่เสมอ รัฐบาลต้องขอร้องให้งดใช้เครื่องไฟฟ้าทุกชนิดในช่วงเวลา ๑๘.๐๐-๒๑.๐๐ น. แม้แต่ตู้เย็นก็ขอให้ปิด
ในปี ๒๔๙๘ เกิดสถานีโทรทัศน์แห่งแรกขึ้น คือช่อง ๔ วิกบางขุนพรหม และในปี ๒๕๐๑ ก็เกิดช่อง ๕ วิกสนามเป้า แม้ยังเป็นทีวีขาวดำทั้งคู่ก็เป็นที่นิยม ความต้องการกระแสไฟจึงมีมากขึ้น ทำให้กระแสไฟตกเปิดทีวีไม่ได้ หลายบ้านจึงต้องใช้หม้อแปลงที่เรียกว่า“เสต็ปอัพ-เสต็ปดาวน์”ช่วย
ในปี ๒๔๙๒ บริษัทไฟฟ้าของฝรั่งหมดสัมปทาน รัฐบาลจึงเข้าดำเนินการเอง เปลี่ยนชื่อเป็นไฟฟ้ากรุงเทพ เป็นรัฐวิสาหกิจขึ้นกับกรมโยธาเทศบาลเช่นกัน จนในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๑ จึงได้รวมการไฟฟ้ากรุงเทพกับการไฟฟ้าหลวงสามเสนเข้าด้วยกัน เป็นการไฟฟ้านครหลวง
ตั้งแต่ก่อนสงคราม รัฐบาลได้คิดหาทางจะแก้ปัญหาการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่พอใช้มาตลอด ดำริที่จะนำพลังน้ำตกที่จังหวัดกาญจนบุรีมาผลิตกระแสไฟฟ้า ต่อมาก็วางแผนจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำแควใหญ่ที่แก่งเรียง เหนือตัวจังหวัด แต่ก็เกิดสงครามขึ้นเสียก่อน หลังสงครามจึงสร้างเขื่อนยันฮีขึ้นที่จังหวัดตาก และตัดสินใจเปลี่ยนระบบแรงดันไฟฟ้าจาก ๑๑๐ โวลท์มาเป็น ๒๒๐ โวลท์ ก่อนที่จะมอบหน้าที่การผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดให้การไฟฟ้ายันฮีในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๐๔
เหตุผลในการเปลี่ยนระบบไฟฟ้าจาก ๑๑๐ โวลท์มาเป็น ๒๒๐ โวลท์ ก็เพราะสามารถจ่ายไฟได้เป็น ๔ เท่าของระบบ ๑๑๐ โวลท์โดยใช้สายขนาดเดียวกัน แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟ ซึ่งในขณะนั้นมีอยู่ราว ๑๖๐,๐๐๐ ราย ใช้งบประมาณ ๑๒๐ ล้านบาท แต่ก็คุ้มค่ากับการพัฒนาประเทศในระยะยาว
การเปลี่ยนระบบนี้ แน่นอนว่าหลอดไฟทุกหลอดในเมือง และเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชิ้นภายในบ้านไม่สามารถรับระบบใหม่ได้ การไฟฟ้านครหลวงจึงรับผิดชอบ ส่งช่างเข้าเปลี่ยนหลอดไฟและบาลลาสหลอดฟลูเรสเซนต์ตามบ้านให้ทั้งหมด ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าเช่นเตารีด เครื่องหุงต้ม ตู้เย็น ก็ดัดแปลงให้เป็น ๒๒๐ โวลท์ พัดลมขนาดเล็กก็ติดตั้งหม้อแปลงลดแรงดันไฟฟ้าให้ ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าก็พันมอเตอร์ให้ใหม่ บางอย่างก็ต้องเอาไปดัดแปลงที่โรงงาน
การไฟฟ้านครหลวงได้กู้เงินจากกองทุนเพื่อพัฒนาของสหรัฐอเมริกามา ๔๐๐ ล้านบาท และเริ่มดำเนินการเปลี่ยนแปลงภายในบ้านผู้ใช้ไฟตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๐๓ เป็นต้นมา กำหนดว่าสัปดาห์หนึ่งจะทำได้ ๙๐๐-๑,๐๐๐ ราย คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปลายปี ๒๕๐๗ โดยเริ่มจ่ายไฟระบบใหม่ไปทีละเขต แต่ปรากฏว่า ๔ เดือนแรกจนถึงปลายปี ๒๕๐๓ สามารถเปลี่ยนได้เพียง ๑,๙๑๖ รายเท่านั้น เพราะช่างยังไม่มีความชำนาญและกำลังคนไม่พอ จึงเปิดรับสมัครช่างไฟฟ้าและผู้สำเร็จวิชาไฟฟ้าจากวิทยาลัยเทคนิกกรุงเทพมาเสริม งานจึงเดินได้คล่องขึ้น
ส่วนงานด้านการเปลี่ยนแปลงระบบจ่ายไฟของการไฟฟ้านครหลวงเองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องใหม่และเรื่องใหญ่ จึงต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาแนะนำ โดยด้านวิศวกรรมไฟฟ้าได้จ้างบริษัท White Engineering Corporation มาเป็นผู้ฝึกอบรมผู้จะเข้าทำงานด้านการวางสาย ให้รู้จักเครื่องมือต่างๆ และการไต่เสาด้วยเครื่องมือทันสมัย อบรมการปฐมพยาบาลผู้ถูกกระแสไฟฟ้า ฝึกพนักงานขับรถไฟฟ้า และจัดทำคู่มือเพื่อความปลอดภัยให้แก่พนักงาน
ส่วนการวางผังงานที่ต้องขยายใหญ่ออกไป ได้จ้างบริษัท Commonwenth Service Inc. มาเป็นที่ปรึกษา
ในที่สุด งานที่ดูว่าใหญ่และยากที่จะเป็นไปได้ ก็สำเร็จลงด้วยการเริ่มด้วยก้าวแรก จนสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าไปทั่วประเทศ โดยไม่มีการหรี่ๆ ดับๆ อย่างสมัยก่อนอีก
แต่ถ้าวันนี้เกิดมีใครอุตริคิดจะเปลี่ยนกลับไปใช้กระแสไฟในระบบ ๑๑๐ โวลท์อีก ก็เป็นเรื่องของคนประสาทเสียอย่างแน่นอน และไม่มีทางเป็นไปได้อีกแล้ว เพราะตัวเลขเมื่อปลายปี ๒๕๕๗ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องจ่ายกระแสไฟให้ผู้ใช้ทั่วประเทศกว่า ๒๑ ล้านราย ไม่ใช่แค่ ๑๖๐,๐๐๐ รายอย่างที่เปลี่ยนครั้งก่อน