xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ รับรางวัล ITU ยกนโยบายดิจิตอลสอดคล้องเทคโนโลยีสื่อสารกับการเติบโต ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” ร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ ฉลองครบ 150 ปี ITU และร่วมรับรางวัล รับเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ยกเป็นองค์กรเก่าแก่ไทยร่วมตั้งแต่สมัย ร.5 เพื่อพัฒนาระบบโทรคมนาคม แถมไทยยังเป็นฐาน ITU ในภูมิภาค ประชุมครั้งนี้เน้นเทคโนโลยีสื่อสารกับการเติบโต ศก.- พัฒนายั่งยืน สอดคล้องนโยบายดิจิตอลรัฐ ย้ำ พร้อมเป็นสะพานเชื่อมชาติต่าง ๆ ให้โลกก้าวไปพร้อมกัน


เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2558 เวลา 20.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ ในโอกาสฉลองครบรอบ 150 ปี สหภาพโทรคมนาคม ระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union :ITU) และร่วมรับรางวัล ITU Global Sustainable Digital Development Award พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมงานในเย็นวันนี้ และขอขอบคุณสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู ที่ได้มอบรางวัล ITU Global Sustainable Digital Development Award ให้แก่ประเทศไทย โดยเมื่อปี ค.ศ. 1883 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประเทศไทย หรือ สยาม ในขณะนั้น ได้ตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกไอทียู ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และเป็นองค์การระหว่างประเทศแรกที่ไทยเข้าเป็นสมาชิก ด้วยเล็งเห็นผลประโยชน์ที่จะได้รับในการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของประเทศ และขยายขอบเขตการบริการโทรคมนาคมให้กว้างขวางทันสมัย ทัดเทียมกับนานาประเทศ ซึ่งรวมทั้งการบริหารความถี่วิทยุเพื่อกิจการโทรคมนาคมด้วย

ประเทศไทยยังได้รับเลือกเป็นที่ตั้งของสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเมื่อปี ค.ศ. 1992 ทำให้ไทยสามารถติดต่อและมีความร่วมมือทางวิชาการกับไอทียู ในการพัฒนาบุคลากรและรับวิทยาการที่ทันสมัยได้สะดวกยิ่งขึ้น และประเทศไทยยังเป็นฐานของไอทียูที่จะขยายการสนับสนุนและความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกในภูมิภาคนี้ด้วย

ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 พัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ และต่อมาในปี ค.ศ. 2003 ประเทศสมาชิกไอทียูได้ให้ความเห็นชอบต่อปฏิญญาและแผนปฏิบัติการเจนีวา เพื่อช่วยรัฐบาลให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างสังคมสารสนเทศที่ประชากรทั่วโลกสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งรวมถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ภายในปี ค.ศ. 2015

การประชุมสุดยอดที่ตูนิส ในปี ค.ศ. 2006 ประชาคมโลกเริ่มตระหนักถึงภัยคุกคามอันเกิดจากการนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในทางที่ผิด ประเทศไทยจึงได้ออกกฏหมายและมีมาตรการในการทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ และส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ในการใช้เทคโนโลยีนี้ในทางที่เหมาะสม ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศสมาชิกอาเซียน และในระดับโลก

นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่าในการประชุม UNGA70 ครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการลดช่องว่างด้านดิจิตอล และการกำหนดนโยบายที่จะกระตุ้นการสร้างเทคโนโลยีใหม่ การวิจัย และการส่งเสริมนวัตกรรมในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย ที่จะทำให้ทุกภาคส่วนด้านเศรษฐกิจก้าวหน้าทันโลกและสามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่ได้ ทั้งด้านการผลิต การค้าผลิตภัณฑ์ดิจิตอลโดยตรง และการใช้ดิจิตอลรองรับบริการของภาคธุรกิจการเงินและธุรกิจบริการอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคสื่อสารและบันเทิง ตลอดจนการใช้ดิจิตัลรองรับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ไทยจะสามารถแบ่งปันประสบการณ์และความสำเร็จกับมิตรประเทศ และยินดีจะรับฟังคำแนะนำในทุก ๆ ด้าน ทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านเทคโนโลยีดิจิตอลและการพัฒนาด้านอื่น ๆ เพื่อเผชิญหน้าและรับมือกับความท้าทายของโลกปัจจุบัน เพราะไทยพร้อมจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อประชาคมโลกจะสามารถก้าวไปพร้อมกันบนเส้นทางสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยไม่มีใครถูกทิ้งอยู่เบื้องหลัง ทั้งนี้ ประเทศไทยขอให้คำมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมสารสนเทศเพื่อประชาคมโลก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

อนึ่ง สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศหรือ ITU (International Telecommunications Union) ฉลองการก่อตั้งครบรอบ 150 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ITU ได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและกระชับความร่วมมือกับไทย โดยเห็นว่า ไทยมีบทบาทนำในเรื่องเทคโโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม (ICT) และไทยยังเป็นที่ตั้งสำนักงาน ITU ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตั้งแต่ปี 2535

ทั้งนี้ ไทยเข้าเป็นสมาชิก ITU ตั้งแต่ปี 2426 และมีบทบาทสำคัญ อาทิ ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Connect Asia-Pacific Summit เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 และงาน ITU Telecom World 2013 ระหว่างวันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน 2557 ณ อิมแพค เมืองทองธานี และล่าสุด ไทยได้แสดงความสนใจอย่างเป็นทางการที่จะเป็นเจ้าภาพจัดงาน ITU Telecom World ปี 2559 อีกด้วย

รัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาระบบสารสนเทศแบบองค์รวม โดยได้มีการเปลี่ยนกระทรวง ICT เป็น “กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” เพื่อผลักดันการพัฒนาดิจิตอลให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม












กำลังโหลดความคิดเห็น