xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อไทย” แนะใช้ ม.44 ยกร่าง รธน. -“อ๋อย” ไม่ร่วม สปท.ชงสูตร 3-3-3-2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเทียนฉาย กีระนันท์
“เพื่อไทย” ไม่เห็นด้วย เปิดทางอดีต กมธ. ยกร่างฯ มานั่ง กรธ. ชุดใหม่ เสนอใช้ ม.44 ของ รธน. ชั่วคราว ทำสำเร็จ ไม่ต้องตั้ง กรธ.- สปท. “เทียนฉาย” ฉุน ถูกอ้างชื่อหนุน “มีชัย” นั่ง ปธ. กรธ. ด้าน อดีต รอง ปธ. กมธ. ยกร่างฯ รับตามมารยาท อดีต กมธ. ไม่ควรกลับมาทำหน้าที่ “จาตุรนต์” ลั่นไม่ร่วม สปท. อ้างแนวคิด “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เกิดก่อนรัฐประหาร ชงสูตรโรดแมป 3-3 3-3 หรือ 3-3-3-2 ใช้เวลา 11 เดือน หรือ 1 ปี

วันนี้ (17 ก.ย.) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวยืนยันว่า ไม่เคยให้ความเห็นว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจจะได้นั่งประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

“ข่าวดังกล่าวไม่ใช่ความเห็นของผมแน่นอน แต่ได้มีคนโทรศัพท์มาสอบถามพูดคุยเรื่องดังกล่าว และขอให้ไปออกรายการวิทยุช่วงเช้า แต่ผมปฏิเสธไม่ได้ให้สัมภาษณ์ เพียงแต่บอกว่าทุกคนมีความรู้หมด ไม่ได้ฟันธงว่าใครต้องนั่งตำแหน่งใด หรือเหมาะสมหรือไม่”

อดีตประธาน สปช. กล่าวต่อว่า เข้าใจดีว่า เวลานี้ทุกคนต้องการข่าว แต่สิ่งที่อยากพูด ก็คือ ถ้าตนถูกนำไปเป็นเครื่องมือ เพื่อไปขยายแบบนี้คงไม่ไหว “จะไปพูดคุยเรื่องรายชื่อ กรธ. ไม่ได้ เพราะไม่ได้มีตำแหน่งอะไรแล้ว ไม่รู้จักใคร และไม่ได้ติดต่อใครแล้ว หลังจากหมดวาระการทำงานในตำแหน่งประธาน สปช. ต่อไปนี้ ผมคงจะต้องระมัดระวังเรื่องการให้สัมภาษณ์มากขึ้น

ส่วนความเห็นกรณีที่จะอดีต กมธ. ยกร่างฯ เข้ามาเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดใหม่จะเหมาะสมหรือไม่ มีผู้ออกมาให้ความเห็น เช่น

นางนรีวรรณ จินตกานนท์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เป็นเรื่องของมุมมองที่แต่ละฝ่ายจะมีความเห็นกันไป หากมองว่าเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งดำเนินการเสร็จไปนั้น มีข้อดี และถ้ามีอดีต กมธ. ยกร่างฯ เข้ามามีส่วนร่วมด้วยแล้ว จะทำให้การทำงานเกิดความต่อเนื่อง และสามารถอธิบายเหตุผลต่าง ๆ ได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากมองอีกมุมหนึ่งว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการเห็นชอบจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แล้ว โดยมารยาทอดีต กมธ. ยกร่างฯ ก็ไม่ควรกลับมาทำหน้าที่ตรงนี้ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่ง

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ กมธ. ยกร่างฯ จัดทำขึ้นนั้นมีข้อดีมากมาย โดยประเด็นที่พูดกันมาก คือ เรื่องการให้สิทธิและเสรีภาพกับประชาชน ขณะเดียวกัน เนื้อหาสาระในบทเฉพาะกาลเราเขียนขึ้นโดยตระหนักถึงปัญหาของประเทศชาติ ว่า ควรจะดำเนินการอย่างไรในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน แม้จะมีบางประเด็นที่ยังเป็นปัญหาก็สามารถปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมได้ เพราะไม่ได้มีอะไรที่ผิดมากหรือถูกมากนั่นเองทุกอย่างสามารถปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้

นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่ควรที่จะให้คนที่เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมาเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดใหม่ เนื่องจากทำงานล้มเหลวมาแล้ว การปฏิรูปประเทศควรนำคนมีความรู้ ความสามารถเฉพาะด้านเข้าทำงาน โดยเฉพาะเรื่องการปรองดองควรนำหน่วยงานราชการ ผู้อาวุโส ทุกกระทรวง ทบวง กรม ช่วยดำเนินการ พร้อมเชิญอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าร่วมหารือ

“อยากให้ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ทำให้สำเร็จ โดยไม่ต้องตั้ง กรธ. หรือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ชุดใหม่ ให้เสียเงินของประเทศเป็นจำนวนมาก หากทำได้เชื่อว่าทุกอย่างจะจบภายในระยะเวลา 1 เดือน อยากให้หยิบของเดิมมาปัดฝุ่น” นายอำนวย กล่าว ส่วนการเสนอชื่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษา คสช. เป็นประธาน กรธ. นั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ไม่ขอก้าวล่วง แต่เชื่อว่ารัฐบาลมีธงอยู่แล้ว รวมถึงเรื่องสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย

อีกด้าน นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก เห็นด้วยกับข้อเสนอการปรับเวลา โดยเปลี่ยนสูตรโรดแมป ว่า เป็นเรื่องดีครับที่มีความคิดว่าจะย่นระยะเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญให้สั้นเข้า ความจริงการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ในครั้งนี้ สังคมไทยก็ได้เรียนรู้พอสมควรแล้ว ว่า เรื่องอะไรพอรับกันได้ และเรื่องอะไรรับไม่ได้ จึงไม่ใช่การมานับหนึ่งกันใหม่ แต่สามารถรวบรวมเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญที่เคยมีมาแล้วคัดเลือก ส่วนที่เป็นมาตรฐานกับส่วนที่คิดว่าคนส่วนใหญ่น่าจะรับได้ออกมาเสียก่อน

ส่วนประเด็นยาก ๆ คือ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ๆ ก็รวบรวมเข้าแล้วก็เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางสักรอบสองรอบ ก็น่าจะตัดสินใจกันได้ในเวลาสั้น ๆ 3 เดือน ก็น่าจะเกินพอ

ขั้นตอนต่อ ๆ ไป ก็ยังสามารถย่นย่อได้อีกทั้งนั้น ขั้นตอนการลงประชามติเหลือสัก 3 เดือน ร่าง กม. ลูกหลายฉบับสามารถหาทีมงานร่างไว้ตั้งแต่ตอนนี้เลย พอได้รัฐธรรมนูญก็นำมาพิจารณา ใช้เวลา 3 เดือนก็พอ

ส่วนขั้นตอนสุดท้าย คือ เตรียมการเลือกตั้งก็ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานถึง 4 เดือน เพราะปกติการเลือกตั้งที่รู้กำหนดเวลาล่วงหน้า ใช้เวลา 30 - 45 วัน ก็ยังได้ ถ้าจะให้เวลานานเป็นพิเศษก็ไม่ควรเกิน 2 เดือน

6-4 6-4 จึงสามารถเปลี่ยนเป็น 3-3 3-3 หรือ 3-3 3-2 ก็พอ ใช้เวลารวมทั้งหมดก็จะประมาณ 11 เดือนหรือ 1 ปีเท่านั้น

แต่การเปลี่ยนระยะเวลาของโรดแมปนี้ ยังไม่อาจแก้ปัญหาได้จริง เพราะโรดแมปนี้เป็นแบบเปิดปลาย เนื่องจากเมื่อมีการลงประชามติก็ย่อมหมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญอาจผ่านความเห็นชอบของประชาชนหรือไม่ผ่านก็ได้ และถ้าไม่ผ่านกระบวนการทั้งหมดก็จะถูกยืดออกไป

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำนอกเหนือจากการให้ร่างรัฐธรรมนูญกันในเวลาที่สั้นลง และแก้โรดแมปทั้งหมดเสียใหม่แล้ว ยังควรกำหนดเสียให้ชัดเจนว่า ถ้าลงประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไร ซึ่งก็คือ มีทางเลือกให้ประชาชนเลือกในการลงประชามติ ไม่ใช่ให้เลือกระหว่างร่างของกรรมาธิการกับการร่างกันใหม่อีกไม่รู้จักจบเท่านั้น

ข้อเสนอหนึ่งที่มีการเสนอกันมาก่อนหน้านี้ ก็คือ หากไม่ผ่านการลงประชามติก็ควรนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ไปก่อนเพื่อให้มีการเลือกตั้งและมีการบริหารประเทศไปได้ แล้วก็กำหนดให้มีการเลือกสสร.มาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่โดยประชาชนจริง ๆ

แนวโน้มคงต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเกี่ยวกับเงื่อนไขในการลงประชามติอยู่แล้ว ก็น่าจะนำประเด็นเหล่านี้ไปรวมแก้เสียด้วยในคราวเดียวกันเลยครับ

“น่าจะชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีการตั้งนักการเมืองเข้าไปเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดใหม่ และจะมีนักการเมืองจากพรรคใหญ่บางพรรคเข้าไปเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แต่ยังไม่ชัดเจนว่าพรรคใดบ้าง ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้พูดถึงแนวทางของพรรคไปบ้างแล้วว่าพรรคคงไม่อาจเข้าร่วมในองค์กรที่มาจากการรัฐประหารได้ แต่จะมีสมาชิกพรรคไปร่วมบ้างหรือไม่ ยังไม่อาจทราบได้ ผมอยากจะให้ความเห็นส่วนตัวเพิ่มเติมเหตุผลที่นักการเมืองบางส่วนเห็นว่าไม่ควรเข้าร่วมในสปท. เนื่องจากความไม่เชื่อในการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งเป็นแนวความคิดที่มีมาก่อนการรัฐประหาร และดูเหมือนจะดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องสิ่งที่เรียกว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้งไม่ปรากฏวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ผ่านมาจะปีครึ่งไม่เห็นข้อสรุปอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน”

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า สวนกระบวนการที่ทำกันมา และที่จะทำต่อไปก็ไม่ใช่กระบวนการที่เปิดรับความเห็นที่หลากหลาย ยิ่งในรอบนี้ บรรยากาศยิ่งดูจะปิดหนักยิ่งกว่าเดิม ใครจะเสนอความเห็นต่างก็ไม่ได้ภายใต้บรรยากาศและด้วยกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดการปฏิรูป พูดแบบสั้น ๆ ได้ใจความที่สุดก็คือปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่ใช่การปฏิรูป และไม่มีทางเป็นการปฏิรูปไปได้ ถือเป็นเหตุผลหลักและตรงไปตรงมาที่นักการเมืองบางส่วนไม่ประสงค์จะเข้าร่วมใน สปท. สำหรับสังคมที่อยู่ในสภาพที่มีความขัดแย้งสะสมมายาวนานการปฏิรูปเป็นสิ่งจำเป็น แต่การปฏิรูปที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็แต่โดยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีส่วนร่วม และมีอำนาจในการตัดสินใจเท่านั้น


นางนรีวรรณ จินตกานนท์
นายอำนวย คลังผา
นายจาตุรนต์ ฉายแสง
กำลังโหลดความคิดเห็น