xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.หนุนรัฐสอบเอไอเอสชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษา แย้มรุ่นเก๋านั่ง สปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
“จุติ” ชี้ช่อง รมว.ไอซีทีดำเนินการสอบเอไอเอสต่อจากตนสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ดูทรัพย์สินเสาสัญญาณ 3 แสนล้านที่ต้องเป็นของรัฐ ชดเชยค่าเสียหาย ตามคำพิพากษายึดทรัพย์ “ทักษิณ” แย้ม อดีต ส.ส.ลายครามนั่ง สปท. เหตุไม่คิดลงเลือกตั้งแล้ว ไร้ชื่อ “บัญญัติ” ขอนายกฯ ทำงานไม่ต้องคำนึงโรดแมป

วันนี้ (17 ก.ย.) นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรมว.ไอซีที กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายอุตตมะ เสาวนายน รมว.ไอซีที ย้อนไปตรวจสอบสัญญาที่หน่วยงานรัฐทำสัมปทานกับบริษัท เอไอเอส ที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ว่า ตอนที่ตนเป็นรัฐมนตรีก็ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว แต่มีการมองว่าเป็นเรื่องการรังแกบริษัท เอไอเอส ทั้งที่ไม่ใช่ เพราะทุกอย่างเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ยึดทรัพย์นายทักษิณ ชินวัตร และมีรายละเอียดในคำพิพากษาว่าให้เรียกค่าเสียหายจากภาคเอกชน ตนจึงตั้งคณะกรรมการติดตามเรื่องที่เกิดขึ้น แต่เป็น รมว.ได้แค่ 9 เดือน ก็ทำเท่าที่ทำได้ ต่อจากนั้นตนไม่ทราบว่าคนที่เป็นรัฐมนตรีดำเนินการอย่างไรบ้าง

นายจุติกล่าวด้วยว่า ในช่วงที่มีการตั้งกรรมการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวนั้นยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จเพราะเวลาน้อย เนื่องจากต้องมีการเจรจากับภาคเอกชน และตนหมดวาระไปก่อน ส่วนจะมองว่าเอกชนทำผิดหรือไม่นั้นคงไม่ได้ แต่ต้องทำตามคำพิพากษาไม่ได้ทำอะไรนอกเหนือจากนี้

เมื่อถามว่า เชื่อว่าเรื่องนี้จะทำได้สำเร็จหรือไม่ นายจุติกล่าวว่า ตนคิดว่านายกฯ คงจะไปดูจากมติ ครม.สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯก็พิพากษาว่าต้องทำอะไรบ้าง หาก ครม.ยุคนายอภิสิทธิ์ไม่ดำเนินการก็จะโดนมาตรา 157 ดังนั้น นายอุตตมะต้องดูรายละเอียดทั้งหมดว่าเรื่องไปถึงไหนอย่างไรในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา แล้วมาดำเนินการต่อก็ไม่น่าจะมีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องวงจรดาวเทียม ดาวเทียม และเรื่องการตั้งเสาส่งสัญญาณจำนวน 6 หมื่นต้นที่มีมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของรัฐ รมว.ไอซีทีคนใหม่ต้องไปดูให้ดีๆ เพราะตรงนี้ไม่เกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลแต่ทรัพย์สินที่ต้องเป็นของรัฐ

เลขาฯ พรรคประชาธิปัตย์ยังกล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีจะเชิญพรรคการเมืองส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการสภาขับเคลื่อนฯ ว่า มีคนสนใจที่อยากจะไปทำหน้าที่ดังกล่าวแต่พอทราบว่าไปลงสภาขับเคลื่อนฯ แล้วจะลงสมัคร ส.ส.ครั้งหน้าไม่ได้จึงไม่มีใครแสดงความจำนง แต่หลังจากการรัฐประหารมีอดีต ส.ส.อาวุโสแสดงความจำนงไม่ลงเลือกตั้งแล้ว 11 คนเนื่องจากมีปัญหาเรื่องสุขภาพ แต่ไม่มีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อยู่เป็นหนึ่งในนั้น ดังนั้นคนที่จะไปอยู่ในสภาขับเคลื่อนฯ อาจจะเป็นคนเหล่านี้ก็ได้ แต่เบื้องต้นยังไม่ทราบจริงๆ

เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่า อยากให้นายกรัฐมนตรีทำงานโดยไม่ต้องคำนึงว่าจะกระทบโรดแมปหรือไม่ อะไรที่รัฐบาลเลือกตั้งทำไม่ได้อยากให้นายกฯ ทำให้หมด ส่วนเรื่องปรองดองหากนำเข้ากระบวนการยุติธรรมทั้งหมดก็จะแก้ปัญหาได้


กำลังโหลดความคิดเห็น