xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพฯ ทีโอทีตบเท้าค้านประมูลความถี่ 900 MHz

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สรท.เตรียมนำรายชื่อพนักงานทีโอที 500 คน พร้อมขนพนักงานบางส่วนเดินทางคัดค้านการประมูลคลื่น 900 MHz กลางวงประชาพิจารณ์ ยืนยันคลื่นไม่มีวันหมดอายุ ทีโอทีมีศักยภาพในการทำเองเพื่อสร้างรายได้เข้ารัฐเดือนละ 5,000 ล้านบาท ด้าน รมว.ไอซีที แจงคลื่นต้องได้มาจากการเจรจาไม่ใช่ฟ้องร้อง พร้อมนัด กสทช.เจรจา 17 ส.ค.นี้

นายอนุชิต ธูปเหลือง ประธานสภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ สรท. กล่าวว่า ในวันที่ 11 ส.ค.ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดให้มีการรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ในการนำคลื่นความถี่ 900 MHz มาประมูลในเดือน พ.ย.นั้น สรท.และพนักงานจำนวนหนึ่งจะเดินทางไปแสดงจุดยืนถึงสิทธิในการถือครองคลื่นดังกล่าวพร้อมรายชื่อพนักงานทีโอที 500 คน ที่ลงรายชื่อไม่เห็นด้วยต่อการประมูล และเอกสารแสดงถึงเหตุผล และศักยภาพในการนำคลื่นดังกล่าวมาให้บริการเอง ซึ่งคาดว่าหากนำคลื่นมาให้บริการเองจะสามารถสร้างรายได้ให้รัฐไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ สรท.ยืนยันว่า มีศักยภาพในการนำคลื่นดังกล่าวมาพัฒนาเอง ซึ่ง สรท.ได้ทำแผนธุรกิจไว้เรียบร้อยแล้ว

สำหรับแถลงการณ์ของ สรท.ที่จะนำไปยื่นต่อ กสทช.นั้น มีเนื้อหาระบุว่า สรท. และทีโอทีขอคัดค้านการดำเนินการดังกล่าวที่จะนำคลื่น 900 MHz ที่ยังอยู่ในการใช้งานของทีโอทีไปประมูลใหม่ ซึ่งยังยืนยันในสิทธิใช้คลื่นในการประกอบกิจการสื่อสารโทรคมนาคมต่อไป เว้นแต่สำนักงาน กสทช.จะมีกฎหมายรองรับที่จะเอาคลื่นความถี่คืน ทั้งนี้ เห็นว่าสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ 900 MHz จะต้องได้คุ้มครองตามกฎหมายโดยเฉพาะ ซึ่งในอดีตทีโอที หรือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ในขณะนั้นได้รับการจัดสรรคลื่น 900 จากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ (กบถ.) ให้คลื่นแก่ทีโอทีแบบไม่มีกำหนดเวลา

แม้ว่า ทีโอทีไม่ได้นำคลื่นมาประกอบกิจการเอง แต่ได้ให้บริการในรูปแบบของสัญญาสัมปทานกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือเอไอเอส แต่ที่ผ่านมา ทีโอทีก็ใช้คลื่นความถี่มาตลอดไม่ใช่ว่าปล่อยปละละเลยไม่นำคลื่นความถี่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ดังนั้น ในขณะที่ทีโอทีใช้งานคลื่นความถี่นี้อยู่ กสทช.ไม่ควรจะมายึดคลื่นความถี่คืน และปัจจุบันทีโอที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมไปจนถึงปี 68 ดังนั้น สิทธิในคลื่น 900 MHz จึงควรอยู่ไปจนถึงปี 68 เป็นอย่างน้อยจึงไม่ควรนำมาเปิดประมูล

เนื่องจากกระทบต่อสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ 900 MHz รวมทั้งทำให้อุปกรณ์โครงข่ายที่เอไอเอสส่งคืนตามสัมปทานบีทีโอหมดค่าลง เนื่องจากไม่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ เพื่อการลงทุนสร้างโครงข่ายหลังหมดสัญญาสัมปทาน เพราะไม่มีคลื่น 900 MHz ให้บริการ จึงจะส่งผลให้ประเทศเสียหาย รวมทั้งมูลค่าที่เกิดจากการนำอุปกรณ์เหล่านี้มาประกอบธุรกิจสร้างมูลค่า หรือผลกำไรให้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท เทียบกับเงินรายได้จากการประมูล พบว่าความเสียหายจากการที่ไม่สามารถนำอุปกรณ์โครงข่ายไปให้บริการมีค่ามากกว่าเงินที่ได้จากการประมูล

สรท. ยังระบุอีกว่า เพื่อที่จะรักษาสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ 900 MHz ที่ทีโอทีได้รับจัดสรรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงขอเรียกร้องให้สำนักงาน กสทช.ยุติการดำเนินการที่จะนำคลื่นความถี่ไปประมูล โดยขอให้สำนักงาน กสทช.กำหนดการทำแผนย่านความถี่วิทยุที่ใช้งานให้สอดคล้องต่อเทคโนโลยี 2G 3G และ 4G และสุดท้าย สรท.เอง ไม่มีเจตนาจะขัดขวางการพัฒนาบริการโทรศัพท์มือถือ แต่ยังเชื่อว่าคลื่น 900 MHz ไม่เหมาะต่อการให้บริการ 4G ซึ่งคลื่น 1800 MHz และ 2600 MHz มีความเหมาะสมมากกว่า

ด้าน นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวว่า คลื่นความถี่ของรัฐวิสาหกิจหลังหมดสัญญาสัมปทานหากจะได้มาต้องมาจากการเจรจาไม่ใช่การฟ้องร้อง เพราะ กสทช.ทำตามกฎหมาย ซึ่งกระทรวงไอซีทีเองก็มีแผนจะเจรจาร่วมกับ กสทช.ถึงแผนคลื่นความถี่ทั้งหมด รวมถึงคลื่น 900 MHz ของทีโอทีอยู่แล้ว ในวันที่ 17 ส.ค. โดยยืนยันว่าการเจรจาดังกล่าวต้องไม่กระทบต่อแผนการประมูลเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น