รัฐบาลเตือนประชาชนรับมือดีเปรสชันหว่ามก๋อ แนะบริหารจัดการน้ำให้ดี เตรียมกักเก็บได้รอดตายถึงปีหน้า มท.1 สั่งดูแลพื้นที่ทั่วประเทศ เน้นอีสาน ครม. ทุ่มงบ 681 ล. ช่วยเกษตรกรประสบภัย
วันนี้ (15 ก.ย.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงมติคณะรัฐมนตรี ต่อข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่องประกาศเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งขณะนี้มีพายุดีเปรสชันหว่ามก๋อที่ขึ้นฝั่งจากประเทศเวียดนามนั้น ขณะนี้กำลังอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศในภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการให้ประชาชนติดตามเพื่อระมัดระวัง และให้หน่วยงานราชการ ทหาร และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งกำลังคนและเครื่องมือเพื่อให้ช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที
นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า อย่าคิดถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หรือการระบายน้ำเพียงอย่างเดียว จะต้องพยายามกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด และอยากให้ประชาชนขุดบ่อกักเก็บน้ำเพื่อให้ผ่านช่วงฤดูแล้งหน้าไปให้ได้ ซึ่งสถานการณ์ปีนี้มีปริมาณฝนเฉลี่ยน้อยกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 25 และน้ำในเขื่อนใช้ได้เพียงร้อยละ 26 ส่วนในกลุ่มลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาใช้ได้เพียงร้อยละ 12 ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าฤดูแล้งหน้าจะมีปัญหาแน่นอนจึงไม่อยากแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หน่วยงานต่าง ๆ จึงต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น
พล.ต.สรรเสริญ แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติงบกลางรายจ่ายเงินสำรองฉุกเฉิน วงเงินกว่า 681 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร รวมกว่า 61,700 ราย ประกอบด้วย เกษตรกรที่ปลูกพืช 59,000 ราย และประมงอีก 2,200 ราย และ ปศุสัตว์ 14 ราย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2557 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2558 โดยประกอบด้วย ภัยพิบัติ 5 ชนิด คือ อุทกภัย ภัยแล้ง ภัยฝนทิ้งช่วง โรคพืช และศัตรูพืชระบาด ซึ่งยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวนั้น จะไม่ซ้ำกับการช่วยเหลือที่มีมาแล้วก่อนหน้านี้
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ตนเป็นห่วง เนื่องจากพายุกำลังเข้ามาทางด้านประเทศเวียดนามแล้ว อาจเป็นดีเปรสชัน ซึ่งในเบื้องต้นแจ้งเตือนประชาชนให้ระวังน้ำท่วม และเร่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง เพราะขณะนี้น้ำในเขื่อนมีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งประชาชนอาจต้องสละพื้นที่เพื่อระบายไปสู่ที่กักเก็บ โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าเสียหายให้ สำหรับแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่ ปัญหาคือการวางผังเมืองที่ผิด มีการปลูกบ้าน ทำถนน สร้างสะพาน สร้างตึก ขวางทางน้ำไหล ทำให้น้ำขังในพื้นที่ลุ่มต่ำไม่สามารถกักเก็บได้ ดังนั้น ขอให้ไปรวมกลุ่มประเมินและวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้ดี ซึ่งก็ได้ให้งบประมาณตำบลละ 5 ล้านบาทไปแล้ว ทั้งนี้ ฝนที่กำลังมา คือ น้ำก้อนสุดท้ายที่มี หากเก็บไว้ได้ก็จะรอดตายถึงปีหน้า
ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์กรณีการเตรียมรับมือกับวิกฤตภัยแล้ง และพายุหว่ามก๋อที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยในขณะนี้ ว่า เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุม ครม. ว่า ตอนนี้เนื่องจากมีพายุหว่ามก๋อเข้ามา จึงขอให้ทุกพื้นที่ทั้งหมดช่วยกันดูแล บูรณาการ และช่วยดูสถานการณ์ที่จะป้องกันภัยว่าอะไรที่จะเกิดต่อจากนี้ได้ ขอให้ช่วยกันดูแล และหากตรงไหนสามารถมีที่กักเก็บน้ำเอาไว้ได้ และผันน้ำได้ ก็อย่าอยู่เฉย ขอให้ช่วยสูบไปกักเก็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอีสานที่พายุจะเข้ามาเฉียด ๆ อย่าปล่อยน้ำทิ้งไปเฉย ๆ ขอให้ผันหรือสูบ และหาที่เก็บไว้ นอกจากนี้ ขอให้ดูแลเรื่องภัยที่อาจจะได้รับผลกระทบด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงเรื่องการขาดแคลนน้ำ ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาแต่ละพื้นที่ว่าจะสามารถปลูกพืช เพื่อการเกษตรอะไรได้บ้าง หรือจะปรับเปลี่ยนพืชที่จะปลูกต้องวางแผนและให้ของบประมาณเข้ามาโดยคำนึงถึงเรื่องน้ำว่ามีหรือไม่เป็นหลัก รวมทั้งให้พิจารณาเรื่องอาชีพอื่นที่เหมาะสมกับแหล่งน้ำและสภาพพื้นที่ซึ่งนายกฯ ได้มอบหมายเน้นไปที่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ก็สั่งในภาพรวมด้วย เนื่องจากทุกกระทรวงเกี่ยวข้องกับการดูแลประชาชน ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่รัฐบาลมีมติอนุมัติงบประมาณ 3 - 5 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจ้างงานในพื้นที่ตำบลเป็นการพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจผู้มีรายได้น้อยในท้องที่
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลได้วางไว้ ว่า การช่วยท้องถิ่นนั้นจะต้องเน้นที่การสร้างความเข้มแข็ง อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและให้ตรงต่อความต้องการของพื้นที่นั้น ๆ รัฐบาลต้องสนองตอบต่อความต้องการจากล่างขึ้นบน และที่สำคัญ ในขั้นการบริหารนั้นจะต้องมีความโปร่งใส โดยผ่านคณะกรรมการหมู่บ้านขึ้นมาแล้วให้นายอำเภอเป็นผู้กลั่นกรองก่อนที่จะส่งมาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภายในสิ้นเดือนก.ย. นี้ กลั่นกรองอีกชั้นหนึ่งแล้วส่งถึงสำนักงบประมาณ