xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” เปิดทางนักการเมืองสมัครร่วมร่าง รธน. ถ้าไม่มาหมดสิทธิ์วิจารณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (แฟ้มภาพ)
“บิ๊กตู่” ลั่นนักการเมืองคนไหนอยากร่วมร่างรัฐธรรมนูญให้เสนอตัวมา ถ้าไม่ร่วมหมดสิทธิ์วิจารณ์ ระบุประเทศต้องมีเวลาเปลี่ยนผ่าน สร้างกติกาให้ประชาชนไว้เนื้อเชื่อใจ ปิดประตูรัฐประหาร แจงซ้ำเหตุที่ต้องออกมา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบสุขแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการหาบุคคลเข้ามาเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า เรื่องนี้ถามกันทุกวัน ตนคิดไว้แล้ว คิดวันนี้วันหน้า อนาคตทั้งหมด และเดินไปถ้าติดปัญหาตรงไหนก็แก้ แผนมันอยู่ในหัวของตนซึ่งจะมีการหารือกับคณะทำงาน ที่ปรึกษา และ คสช.ว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยก็ไปขับเคลื่อนทำกันมาและตนก็จะตัดสินใจ

“เดี๋ยวอีกวันสองวันนี้ก็จะมอบนโยบายว่าจะทำกันอย่างไร ในความคิดของผมก็ให้ไปหาคนกันมา แล้วมาตัดสินกันว่าควรจะอย่างไร ผมทำงานแบบนี้ ผมจะไปรู้จักคน ตั้งสองร้อยคนได้อย่างไร สื่อรู้จักคนสองร้อยคนที่จะเลือกมาเป็นอะไรก็ได้ไหม เฉพาะการเลือกตั้ง แค่ผู้สมัครเลือกตั้งทั้งหมดสื่อยังจำไม่ได้เลย”

ผู้สื่อข่าวถามว่าในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีการเปิดสัดส่วนใน กรธ.ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คอยดูแล้วกัน เขาจะมาหรือเปล่าไปถามเขาดู ถ้าเขาจะมาเอาชื่อเสนอมา แล้วตนจะพิจารณาว่าจะอยู่ตรงไหน สื่อไปถามมา ถ้าไปถามแล้วบอกว่าไม่เกี่ยวข้องก็ไม่มีสิทธิ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญ ก็ไม่ยอมมีส่วนร่วม ทุกคนเขาก็ร่วมมือกันมาหมด ไม่ว่าจะเป็น สปช.และ สปช.ก็ไม่ได้ร่างเองทั้งหมด แต่เป็นเรื่องของประชาชน ที่ทั้งปีเขาไปเดินสายกันตั้งเท่าไหร่ งบประมาณก็ใช้ตรงนั้นด้วย ซึ่งตนเองก็ตามดูทางทีวี ไม่เคยดูกันหรือไง เขามีการเปิดเวทีรับฟังประชาพิจารณ์ ก็ไม่เคยฟังเขาและก็มาพูดแล้วต้านมันทุกด้าน แล้วมันจะไปอย่างไร บอกแล้ววันนี้เข้าใจกันหรือยัง

“เอาล่ะ ผมไม่พูดถึงนักการเมืองที่ต่อต้าน ขอพูดถึงนักการเมืองดีๆ และประชาชนทั้งหมดที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของประเทศนี้ เข้าใจหรือยังว่าเกิดอะไรขึ้น ก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557 สื่อเข้าใจหรือยัง การที่ผมเข้ามา เข้ามาเพราะอะไร ปัญหาตรงไหน เข้าใจหรือยัง และถ้าผมไม่เข้ามาจะเกิดอะไรขึ้น มันมีอะไรทำให้เดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ อธิบายอย่างนี้สังคมก็จะรับรู้ ต่างประเทศก็จะเข้าใจ เพราะเขาไม่เหมือนเรา ของเขาพอมีปัญหาก็ลาออกและเลือกตั้ง ก็ไม่มีการต่อต้าน เลือกตั้งเสร็จแล้วก็จบ ของเรามันจบไหม พอเข้ามาแล้วทำความผิดก็ต้องวิเคราะห์ตัวเอง ว่าควรจะอยู่ต่อหรือไม่ ถ้าไม่อยู่จะต้องทำอย่างไร ก็เลือกตั้งฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลก็มาแข่งกันใหม่ เพื่อเข้ามาและใครเข้ามาก็ยอมรับกันก็จบ”

“ฉะนั้น ผมถามว่าถ้าผมทิ้งไปตั้งแต่วันนี้เลย ทุกอย่างยังคงอยู่ในสถานการณ์เดิม ใช้รัฐธรรมนูญเหมือนเดิม มันจะจบไหม มันควรจะต้องมีระยะเปลี่ยนผ่านไหม ในระหว่างนี้มันต้องมีกติกาอะไรขึ้นมาสักอย่างหรือไม่ เพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ไม่ใช่กับผม แต่ต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับประชาชนให้ได้ว่าจะไม่เกิดอย่างนั้นขึ้นอีก คนอย่างผมจะต้องไม่มีอีกแล้ว เข้าใจหรือยัง อำนาจเป็นของทุกคน ผมเองก็ประชาชน ท้ายสุดผมก็มีอำนาจหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงประชามติและเลือกตั้งเหมือนพวกท่าน แต่การเลือกคนเข้ามาบริหารในฐานะรัฐบาล เรามีหลักการและเหตุผลอะไรหรือไม่ ว่าเลือกเพราะอะไร เลือกใคร เลือกทำไม และการเลือกถ้าเลือกบุคคลคนเดียวมันพอเพียงหรือไม่ มันต้องดูคนอื่นด้วยหรือไม่ เพราะต้องมาเป็นรัฐบาล มาเป็นรัฐมนตรี ตัวแทน ส.ส.แต่ละคนก็ต้องดูทั้งหมด นั่นแหล่ะคือสิ่งที่มันเป็นความแตกต่างถ้าคนของเรามีความพร้อมทุกอย่าง ผมอาจจะยังไม่พร้อม ความรู้ความสามารถไม่ได้มากมายอะไร ประชาชนมีการศึกษามีความเท่าเทียมกันหรือยัง ทุกคนมีจิตปารถนาในการปรองดองในการขับเคลื่อนประเทศพร้อมกันหรือยัง ถ้าอย่างนี้คุณจะทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องเขียนในรัฐธรรมนูญก็ได้ วันนี้ก็จะเขียนในรัฐธรรมนูญถ้าออกมาก็ไปเถียงกัน ข้างนอก ก็ตีกันอยู่เหมือนเดิม”

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทุกคนต้องยอมรับว่าวันนี้เราควรจะต้องมีรัฐธรรมนูญอย่างไร แต่ถ้าบอกว่าต้องมีรัฐธรรมนูญ แบบประชาธิปไตย มันก็กลับไปแบบเก่า เคยมีใครสัญญากับท่านหรือไม่ว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก ที่ผ่านมากฎหมายปกติออกไม่ได้ มีผลกระทบหมดเพราะกิจการต่างๆอยู่ในหลายส่วนแต่ตนไม่มีบริษัทไม่มีเรือประมง ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน ไม่ได้มีอะไรต่างๆ แต่มันก็ธรรมดา ไม่ได้ว่าเขา เขารวยก็เรื่องของเขา แต่วันหน้าต้องให้เกิดความเท่าเทียม และมองประเทศชาติเป็นหลัก

ฉะนั้น ในเรื่องนโยบายพรรคในคราวหน้า ในฐานะที่ตนเป็นผู้เลือกจะต้องชัดเจนว่าเขาจะบริหารประเทศอย่างไร ถ้าบอกว่าจะให้ราคาของอย่างนี้ ต้องบอกว่าเอาเงินมาจากไหน ถ้าเกิดผลเสียจะทำอย่างไรต้องตอบคำถามประชาชนก่อนที่จะเลือก และถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติเขาจะทำอย่างไร เขาใช้อำนาจตรงไหน ความขัดแย้งเกิดจากความบกพร่องหรือเกิดจากการกระทำของรัฐบาลที่อีกฝ่ายไม่พอใจ เพราะทำผิดกฎหมายล้วนๆ มันต้องแยกให้ออกจะแก้ปัญหาด้วยอะไร จะสั่งทหารตำรวจไปได้หรือไม่ ถ้าเขาผิดกฎหมายอาญา ไม่ใช่ให้ทหารมาปราบพวกต่อต้าน แต่ปี 2553 ที่ทหารทำเพราะมีคนใช้อาวุธสงคราม และไม่รู้เป็นใคร มีการทำลายการประชุม ยิงใส่กระทรวงกลาโหม คลังน้ำมัน ใช่หรือไม่ ทหารถึงต้องทำ ถ้ารัฐบาลไม่สั่งให้ทหารทำถือว่าละเว้น และคนที่ทำก็ไม่ชัดเจน เดี๋ยวจะหาว่าตนชี้นำ สื่อรู้ทั้งหมดแต่ก็ชอบถามให้มีเรื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น