xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัว “พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ” ประจานคดีทุจริต-ปราบโกงยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มานะ นิมิตรมงคล
รายงานการเมือง

เปิดตัวไปเป็นที่เรียบร้อยในโอกาสวันต่อต้านคอร์รัปชัน ประจำปี 2558 สำหรับ “พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ” ซึ่งจัดตั้งโดย “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)” มีการนำคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันมาจัดแสดง 10 คดี ทั้งเรื่องจำนำข้าว เรื่องบางกอกฟิล์ม เรื่องการทุจริตไร่ส้ม และการก่อสร้างโรงพัก เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีรายละเอียดของคดีต่าง ๆ รวมไปถึงคลิปวิดีโอสร้างจิตสำนึก สามารถติดตามกันได้ที่ www.พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ.com

นับเป็นการทำงานเชิงรุกอีกก้าวขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ต้องการใช้สื่อประชาสัมพันธ์โดยถาวรวัตถุสร้างความจดจำเรื่องคอร์รัปชั่นทุจริตที่ส่งผลเสียหายต่อประชาชนจัดแสดงไว้เป็นอนุสรณ์ประจานความชั่วร้ายของคนที่กระทำทุจริตต่อบ้านเมือง ปิดจุดอ่อนที่คนโกงมักคือ “คนไทยลืมง่าย”

“ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ” มีโอกาสพูดคุยกับ “มานะ นิมิตรมงคล” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ถึงสถานการณ์ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ดัชนี้ตัวเลขการกระทำผิดต่าง ๆ ลดลง รวมไปถึงความเป็นมาของ “พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ” ด้วย...

ดูเหมือนในยุค คสช. ที่เป็นรัฐบาลทหาร ตัวเลข หรือกระแสข่าวการทุจริตจะลดลงพอสมควร

เป็นอย่างนี้มาตลอด รัฐประหารเมื่อปี 2534 ปัญหาการคอร์รัปชันบ้านเราก็ลดลง พอผ่านไป 2 ปี ก็เพิ่มขึ้นเหมือนเดิม และมากขึ้นกว่าเดิมด้วย พอมาปี 2549 ก็บอกว่ามีการโกงกันมาก จึงรัฐประหารอีกเพื่อปราบคอร์รัปชัน ตัวเลขก็ลดลง ผ่านไป 2 ปี ก็ขึ้นหนักไปอีก มาถึงปี 2555 - 57 ก็มีการทุจริตกันอย่างวินาศสันตะโร พอมาถึงยุค คสช. คอร์รัปชันก็ลดลงอีก แต่มันจะแค่ 2 ปีเหมือนเดิมหรือเปล่าอันนี้คือคำถาม

ถ้าดูแนวโน้มในอดีตแล้วก็เหมือนเป็นเพียงการหยุดชะงัก แต่ไม่ได้หมดไป

ในรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับปี 2540 หรือ 2550 รวมไปถึงกฎหมายใหม่ ๆ มีการกำหนดมาตรการและองค์กรมาทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันที่เข้มข้นขึ้น เราพบว่าขบวนการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งฝ่ายการเมือง รวมทั้งพ่อค้า หรือข้าราชการที่มีส่วนร่วม ขอเวลาดูมาตรการใหม่ๆสักระยะหนึ่งก็หาช่องว่างในการทุจริตเสมอได้อีก สะท้อนว่ากฎหมายที่ออกมามากมายแค่ไหนก็ตามเอาไม่อยู่ แต่กฎหมายก็ยังจำเป็นต้องมี ทั้งนี้ มาตรการต่อต้านคอร์รัปชันต่าง ๆ ที่รัฐบาลชุดนี้ได้ทำไปแล้ว ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะหลายสิ่งเป็นการแก้ปัญหาที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งในระบบราชการและการเมือง เชื่อว่า นำไปสู่จุดเปลี่ยนการสร้างความเปลี่ยนแปลงการคอร์รัปชันของประเทศได้มากขึ้นหากมีความต่อเนื่อง เมื่อฝ่ายการเมืองหรือข้าราชการรู้ว่ากลไกการตรวจสอบงบประมาณภาครัฐจะมีความเข้มงวดอย่างสม่ำเสมอเช่นนี้

ตัวช่วยในการขับเคลื่อนกลไกต่างๆให้สามารถควบคุมการทุจริตให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เราพยายามบอกกับสังคม ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองวันนี้ว่า ตอนนี้จะสร้างกลไกแบบอย่างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างไร รณรงค์อย่างไรให้รู้ว่าพลังประชาชนเท่านั้นที่จะป้องกันปัญหาการทุจริตได้ รัฐบาลจะทุ่มเทให้ประชาชนตื่นตัวได้อย่างไร ซึ่งองคค์กรต่อต้านคอร์รัปชันให้ความสำคัยกับเรื่องเป็นอันดับแรก นอกจากนั้น ยังต้องมีแนวทางในการเสริมความแข็งแรงของหน่วยงานตรวจสอบที่มีแต่ดั้งเดิม ทั้ง ป.ป.ช. ปปง. ป.ป.ท. ดีเอสไอ หรือ สตง. เพราะวันนี้ที่การทุจีริตลดลงนั้นมาจากคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่ คสช. ตั้งขึ้นมา และใช้อำนาจในการตรวจสอบที่เข้มข้นมากกว่า เมื่อกลับเข้าสู่การบริหารประเทศแบบปกติ หน่วยงานเฉพาะกิจเหล่านี้หายไป องค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมายปกติจึงจะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น จะสร้างการบูรณาการหารทำงานของหน่วยงานเหล่านั้นอย่างไร ซึ่งวันนี้ยังมีการพูดกันค่อนข้างน้อย

ตอนนี้น่าจะเป็นนาทีทองขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันที่จะผลักดันกลไกต่าง ๆ ได้มากกว่าในสภานการณ์ปกติ

กลายพูดได้ว่า 1 ปีที่ผ่านมา มีความก้าวหน้ามากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งในแง่ของตัวเลขบ่งชี้ต่าง ๆ รวมทั้งกลไกในแง่กฎหมายที่ผลักดันผ่านไปหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ การแก้ไข พ.ร.บ.ป.ป.ช. ทั้งยังมีร่างกฎหมายการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับยุทธศาสตร์อยู่อีก 5 - 6 ฉบับ ซึ่งอยู่ในการขั้นตอนการพิจารณาของรัฐบาล และ สนช. ต่อไป ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไร หรือสุดท้ายอาจจะเป็นหมันไป แต่เราก็จะพย่ายามผลักดันและท้วงติงอยู่ตลอด อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกฎหมาบยแล้ว ก็ต้องมีการบังคับใช้อย่างเป็นธรรมเท่าเทียมกัน คนที่ทำหน้าที่บังคับใช้ก็ต้องเข้าใจในปรัชญาของกฎหมายด้วย นอกจากนี้ต้องชื่นชมรัฐบาล คสช. ที่ยอมรับกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐ ทั้งเรื่องจัดทำข้อตกลงคุณธรรม การเข้าเป็นสมาชิกโครงการ Construction Sector Transparency Initiative (CoST) และโครงการ The Extractive Industries Transparency Initiative (EITI) เป็นต้นด้วย

พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติที่จัดตั้งขึ้นมีความคาดหวังอย่างไร

ที่ผ่านมา คนโกงเขาเชื่อกันว่า เมื่อมีโอกาสโกงกันไปก่อนโกงให้ได้เยอะ ๆ แต่อย่าให้คนจับได้ แล้วพอมียศถาบรรดาศักดิ์มีอำนาจ คนก็ยกมือไหว้เอง แล้วทุกอย่างที่เคยทำไม่ดีไว้ก็ไปทำบุญ หรือทำอีเวนต์แจกนู่นนี่ คนก็จะลืมหมดว่าเคยเป็นคนชั่วช้าอย่างไร ตรงนี้เป็นความเชื่อผิดๆของคนไทย ทำให้คนอื่นเห็นคล้อยตามไปว่า คนโกงไม่เห็นเดือดร้อน แล้วยังได้ดิบได้ดีอีกด้วย ถ้าคนดีและคนชั่วคิดแบบนี้ การต่อสู้กับคอร์รัปชันก็ไม่เกิด เมื่อคนดีลืมง่าย คนโกงก็ได้ใจ มันก็จะเป็นวัฏจักรนี้ไปเรื่อย ๆ เราจึงริเริ่มการรวบรวมคดีทุจริต พฤติกรรมการโกง ตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการโกง จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ให้คนไทยได้เห็นและเรียนรู้ว่า คนเหล่านี้ทำอะไรกับประเทศบ้าง และคนโกงก็จะรู้ว่า ด้วยพิพิธภัณฑ์แบบนี้ คนไทยจะไม่ลืม

มีแผนในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์กลโกงชาติต่อไปอย่างไร

เราได้วางแผนในอนาคต เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต นอกเหนือจากหุ่นที่แสดงให้คนเข้าใจ ก็จะมีข้อมูลต่างๆประกอบด้วย โดยเฉพาะรายละเอียดและข้อมูลความเสียหายของประเทศระบุไว้ด้วย ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะมีการขยายความให้ละเอียดมากขึ้นในเว็บไซต์ วันนี้เริ่มต้นที่ 10 คดี ซึ่งสังคมให้ความสนใจ แต่ในอนาคตก็จะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอย่างแน่นอน

บางเรื่องอย่างการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ทั้ง จีที 2000 หรือเรือเหาะ ไม่มีการจัดแสดงทั้งที่สังคมให้ความสนใจ

10 คดีที่นำมาจัดแสดงนั้นก็มีเกี่ยวข้องกับแทบทุกรัฐบาลในระยะหลัง โดยเราจะไล่เรียงจากความสนใจของประชาชน แต่ยืนยันว่า ไม่ได้เลี่ยงที่จะนำเสนอเรื่องที่กระทบกองทัพหรือบุคคลใดเป็นพิเศษ อย่างเรื่องไมค์ทองคำ ของรัฐบาลชุดนี้ก็มีการเตรียมการไว้แล้ว แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป


กำลังโหลดความคิดเห็น