xs
xsm
sm
md
lg

เลิกเรียนกี่โมงไม่สำคัญ อยู่ที่ว่าเรียนเพื่อรู้หรือเรียนเพื่อสอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


องค์การยูเนสโก เปิดเผยข้อมูล ชั่วโมงเรียนต่อปี ของเด็กนักเรียนอายุ 9 – 13 ปีทั่วโลก เมื่อปี 2555 พบว่า เด็กไทย เป็นแชมป์เรียนหนัก ติดอันดับต้น ๆ ของโลก

เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 2 ในระดับอายุ 9 ปี จำนวน 1,800 ชั่วโมงต่อปี

เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 1 ในระดับอายุ 10 ปี จำนวน 1,200 ชั่วโมงต่อปี

เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 1 ในระดับอายุ 11 ปี จำนวน 1,200 ชั่วโมงต่อปี

เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 5 ในระดับอายุ 12 ปี จำนวน 1,167 ชั่วโมงต่อปี

เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับ 8 ในระดับอายุ 13 ปี จำนวน 1,167 ชั่วโมงต่อปี

จะเห็นได้ว่า ในช่วงอายุ 10-11 ปี หรือชั้นประถม 4-5 เด็กไทยเรียนหนักที่สุดในโลก เด็กอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย มาเลเซีย เรียนหนักรอลงมา เด็กเยอรมนี อยู่ในอันดับ 19 เรียนปีละ 862 ชั่วโมง เด็กจีน อันดับที่ 28 เรียนปีละ 771 โมง เด็กญี่ปุ่น อยู่อันดับ 30 เรียนปีละ 761 ชั่วโมงเท่านั้น

นี่ยังไม่นับ เรียนพิเศษ เรียนกวดวิชา เอาเฉพาะชั่วโมงเรียนในโรงเรียนเท่านั้น

เรียนหนักอย่างนี้แล้ว ผลลัพธ์เป็นอย่างไร คงไม่ต้องจาระไน เพราะในภาพรวมแล้ว เด็กไทยชั้นปฐมวัย เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบคุณภาพการศึกษาของสถาบันใดทั้งในและต่างประเทศ ผลออกมามักจะอยู่ท้าย ๆ หรือที่โหล่

ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพิ้นฐาน กำหนดชั่วโมงเรียนวิชาหลัก สำหรับชั้นประถมศึกษา 1,200 ชั่วโมง ต่อปี

พลเอกดาวน์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คนใหม่ ทันทีที่เข้ามารับตำแหน่ง ได้ประกาศนโยบายใหม่ว่า ให้โรงเรียนชั้นประถมศึกษา ลดชั่วโมงเรียนวิชาหลักเหลือ 840 ชั่วโมงต่อปี ก็พอ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาในระดับมัธยม และอุดมศึกษา

จำนวนชั่วโมงเรียนที่ลดลงมาถึง 30 % นี้ เป็นที่มาของการลดเวลาเรียน ให้โรงเรียนชั้นประถม เลือกเรียน ตอน บ่ายสองโมง แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้นักเรียนกลับบ้านเลย เวลาที่เลิกเร็วขึ้นอีก 1-2 ชั่วโมงนั้น ให้โรงเรียนจัดกิจกรรมให้เด็กทำ เพื่อที่เด็กจะได้ไม่ต้องเคร่งเครียดกับการเรียน ให้เรียนหนังสืออย่างมีความสุข

นับว่า เป็นนโยบายที่ดี มาถูกทางแล้ว แต่เช่นเดียวกับนโยบายที่ดี อีกเป็นจำนวนมาก ที่สุดท้ายแล้ว จะเป็นจริงหรือไม่ในทางปฏิบัติ หรือ จะเป็นเพียงกระแสชั่วครู่ ชั่วยาม เมื่อเวลาผ่านไป หรือเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนรัฐมนตรี ก็กลับไปเหมือนเดิม ต้องรอดูกันต่อไป

นโยบายลดชั่วโมงเรียน ให้นักเรียนมีเวลาในการทำกิจกรรมที่ไม่ใช่วิชาการ เช่น เล่นดนตรี กีฬา กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม หรือบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อให้นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข จะได้ผล โรงเรียน ครู และพ่อแม่ ผู้ปกครองต้องมีความพร้อม

โรงเรียนและครู ต้องพร้อมในเรื่อง ทัศนคติ ต่อการศึกษาว่า โรงเรียนมิใช่ที่ที่มาเรียนหนังสืออย่างเดียว แต่เป็นที่ที่อำนวยความสะดวกให้นักเรียนได้เรียนรู้ การเรียนหนังสือ เป็นวิธีการ เครื่องมือหนึ่งในการเรียนรู้ การเรียนรู้ยังมีรูปแบบ วิธีการอีกหลากหลายอย่าง

ครู ไม่ใช่ผู้สอนหนังสือ แต่ครูคือผู้ส่งเสริม ให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ และการเรียนรู้นั้น ไมได้เกิดขึ้นในห้องเรียน จากหนังสือเรียนเพียงอย่างเดียว

นักเรียนเลิกเรียนตอนบ่ายสองโมง เวลาที่เหลือหากไม่ให้กลับบ้าน จะทำอะไร โรงเรียนและครูมีขีดความสามารถ ที่จะบริหารจัดการการเรียนรู้นอกห้องเรียน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดีเพียงใด เป็นเรื่องที่น่าสงสัย

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ โรงเรียน ครู และพ่อ แม่ ผู้ปกครอง เห็นว่า โรงเรียนคือ ที่ที่เด็กจะได้เรียนรู้ทักษะชีวิต เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองในทุก ๆ ด้าน ทั้งภายนอกและภายใน หรือ โรงเรียนคือที่ที่ไปเรียนหนังสือ เพื่อให้สอบเลื่อนชั้นสูงขึ้น ๆ ไปเรื่อย ๆ




กำลังโหลดความคิดเห็น