เปิดแผนประสาน 4 ด้าน ป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด เป้าหมาย “เยาวชน - แรงงาน - ประชาชนทั่วไป” พร้อมอนุมัติกรอบบำเหน็จ ความชอบ - เลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษ ไม่เกินร้อยละ 6 ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ประจำปี 57 - 58 รวม 9,480 นาย
วันนี้ (1 ก.ย.) พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม. มีมติเห็นชอบแผนประสานสอดคล้องการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ 4 ด้าน ดังนี้
1. ด้านการป้องกันยาเสพติด ให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิและป้องกันเยาวชนรุ่นใหม่ให้ห่างไกลยาเสพติด โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มเด็กและเยาวชน 2) กลุ่มแรงงาน 3) กลุ่มประชาชนทั่วไป
2. ด้านการบำบัดรักษายาเสพติด ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานในเชิงคุณภาพ สร้างเอกภาพ ในทุกกระบวนการของการบำบัดรักษาทั้ง 3 ระบบ รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษาให้กลับสู่สังคมได้อย่างปกติสุข โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการบำบัดรักษา ได้แก่ 1) ระบบสมัครใจ 2) ระบบบังคับบำบัด 3) ระบบต้องโทษ 4) ติดตามช่วยเหลือผ่านการบำบัดรักษา
3. ด้านการปราบปรามยาเสพติด ให้ความสำคัญกับการสร้างเอกภาพในการอำนวยการและปฏิบัติในการสกัดกั้นยาเสพติด และยกระดับความร่วมมือสู่นานาชาติ ได้แก่ 1) การควบคุมตัวยาและผู้ค้ายาเสพติด 2) ความร่วมมือระหว่างประเทศ
4. ด้านการบริหารจัดการ ให้ความสำคัญด้านกลไกการแก้ไขปัญหาทุกระดับ ระบบแผนงบประมาณ การติดตามและประเมินผล ระบบข้อมูล วิจัย วิชาการ ยาเสพติด และระบบสนับสนุนต่าง ๆ เช่น บุคลากร ความดีความชอบ การให้ความช่วยเหลือ การรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ตลอดจนพัฒนา/ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้มีความทันสมัย
ทั้งนี้ ยังเห็นชอบบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ประจำปี 2557 และประจำปี 2558 และอนุมัติกรอบการพิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษ ปีละจำนวน 9,480 คน เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้มีผลการปฏิบัติงานด้านยาเสพติดดีเด่น และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด (กรณีพิเศษ) แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดมีหลักเกณฑ์ และวิธีการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการผู้ได้รับการพิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษนอกเหนือโควตาปกติดังนี้
1. ข้าราชการพลเรือนสามัญที่ได้รับบำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ ให้ได้รับเงินเดือนเพิ่มจากการเลื่อนเงินเดือนกรณีปกติ อีกร้อยละ 1 ของฐานในการคำนวณเพื่อเลื่อนเงินเดือนในแต่ละครึ่งปี ทั้งนี้ เมื่อรวมการเลื่อนเงินเดือนกรณีปกติกับการเลื่อนกรณีพิเศษแล้ว อัตราการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นจะต้องไม่เกินร้อยละ 6 ของฐานในการคำนวณ
2. ข้าราชการที่ยังคงใช้ระบบขั้นเงินเดือนที่ได้รับบำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ ให้เลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษเพิ่มเติมจากที่ได้เลื่อนในกรณีปกติไปแล้วเมื่อรวมแล้วให้ได้ 2 ขั้น ทั้งนี้ กรณีผู้ที่เงินเดือนเต็มขั้น ให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด
3. สำหรับผู้ที่ไปช่วยราชการด้านยาเสพติดอยู่ที่ส่วนราชการใด ให้ส่วนราชการนั้นเป็นผู้พิจารณาเลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษที่ได้รับ กรณีที่มีการช่วยราชการด้านยาเสพติดหลายส่วนราชการให้ส่วนราชการที่เจ้าหน้าที่นั้นปฏิบัติ
4. การเลื่อนเงินเดือนให้ระบุในคำสั่งด้วยว่า “เลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษ ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด” สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการเลื่อนเงินเดือน ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของส่วนราชการต้นสังกัดในโอกาสแรกก่อน หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้เบิกจ่ายจากงบกลาง รายการเลื่อนเงินเดือน และเงินปรับวุฒิข้าราชการในลำดับต่อไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ