“กมธ. บัณฑูร” ย้อน ปธ. สปท. คปป. ไม่ได้มาจากใบสั่งทหาร แจง อำนาจมีให้ปฏิรูปเดินหน้ากันสะดุด ชี้ อำนาจพิเศษเปรียบเป็นถังดับเพลิงไม่เกิดเหตุก็ไม่ต้องใช้ ปัด เป็นการปฏิวัติซ้อน เหตุเป็นกลไกทำงานร่วมกัน ฝาก สปช. รธน. มุ่งตอบโจทย์ปฏิรูป ลดเหลื่อมล้ำ อาจไม่ตรงมาตรฐานสากลแต่จำเป็นสังคมไทย ขอให้ดูเจตนารมณ์
วันนี้ (30 ส.ค) นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) มหาวิทยาลัยรังสิต ออกมาวิพากษ์รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่ระบุว่า การตั้ง คปป. เป็นใบสั่งจากทหาร ว่า ตรงนี้เป็นข้อเสนอตามคำขอแก้ไขของ ครม. ที่มาพร้อมกับ 9 คำขอ ที่มาในช่วงที่ กมธ. ยกร่างฯ เปิดให้มีผู้เสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีทั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ ครม. ในช่วงต้นเดือน มิ.ย. 58 ซึ่งไม่ได้มาจากทหารตามที่มีผู้ออกมาวิจารณ์ ทั้งนี้ อยากให้ดูไปที่อำนาจของ คปป. เพราะกลไกนี้จะทำให้การปฏิรูปเดินหน้า ไม่สะดุดลงในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นกลไกที่ตอบโจทย์ ป้องกันระงับความขัดแย้งที่วันนี้ยังมีสัญญาณที่เรายังต้องให้ความสำคัญ ส่วนอำนาจที่เรียกว่า อำนาจพิเศษ ที่อยู่ในบทเฉพาะกาล มาตรา 280 จะต่อไม่ได้อีกใช้ได้ 5 ปีเท่านั้น และถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดมาตรานี้ อาจจะไม่ต้องถูกใช้เลย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี
“การจะใช้อำนาจพิเศษหมายความว่า บ้านเมืองเกิดวิกฤตเกิดความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงในระดับที่สถาบันการเมืองปกติ ครม. ไม่สามารถที่จะดูแลแก้ไขปัญหานั้นได้ ผมตอบได้เลยว่าไม่มีใครอยากเห็นตรงนี้ เหมือนกับที่เราเปรียบเปรยกันว่าในบ้านในอาคาร มีถังดับเพลิงเอาไว้ใช้ในยามวิกฤต ถ้าไม่เกิดเหตุก็เป็นเรื่องดี เพราะจะดีกว่าที่เราจะหยิบถังดับเพลิงมาใช้ ซึ่งเราอยากจะโยนถังดับเพลิงที่หมดอายุแล้วทิ้งไปดีกว่าให้เกิดไฟไหม้” นายบัณฑูร กล่าว
เมื่อถามว่า หลายฝ่ายยังแสดงความเป็นห่วงในเรื่องโครงสร้างคณะกรรมการ คปป. ที่ดูเหมือนการปฏิวัติซ้อน หากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตไม่ทำตามได้ นายบัณฑูร กล่าวยืนยันว่า ตรงนี้ไม่ใช่การปฏิวัติซ้อนตามที่วิจารณ์กันในขณะนี้อย่างแน่นอน เพราะด้วยตัวองค์ประกอบของคณะกรรมการ คปป. จะมีประมุขฝ่ายบริหารคือนายกรัฐมนตรี ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ส่วนตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพต่าง ๆ ก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี และถือเป็นก็กลไกการทำงานร่วมกันเพื่อทำให้เกิดการปฏิรูปอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า อยากจะฝากอะไรถึงสมาชิก สปช. ที่จะดุลพินิจในการโหวตร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย. นี้ นายบัณฑูร กล่าวว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ในทุกส่วน ทั้ง 4 ภาค มุ่งไปสู่การตอบโจทย์การปฏิรูป การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอาจจะมีบางส่วนที่มองโดยสายตา ทฤษฎีเสรีประชาธิปไตย อาจจะไม่ได้ตรงตามมาตรฐานของสากล หรือโลกตะวันตก แต่ก็เป็นความจำเป็นของสังคมไทยที่เราต้องการกลไกบางอย่างในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านประมาณ 5 ปี ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ทำให้การปฏิรูปที่เป็นสิ่งที่สังคมเรียกร้องสามารถเดินหน้าได้ต่อไป โดยอยากให้ดูภาพรวมและเจตนารมณ์ เป้าหมายโดยรวม เป็นสิ่งที่ฝากให้ช่วยพิจารณาว่า สิ่งนี้คือรัฐธรรมนูญที่ตอบโจทย์สังคมไทยในเวลานี้ และนำพาสังคมไทยให้ก้าวพ้นระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ในระยะต่อไปได้หรือไม่