xs
xsm
sm
md
lg

“กรรมการสิทธิฯ” หวั่นร่างรัฐธรรมนูญใหม่เปิดช่องถูก “รัฐบาล-สภา” แทรกแซง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุร่างรัฐธรรมนูญที่ให้ สปช.ลงมตินั้น มาตรา 255 ไม่ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ แต่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ หวั่นตกอยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ หวั่นกระทบการรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

วันนี้ (25 ส.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอต่อสภาปฎิรูปแห่งชาติเมื่อวันที่ 22 ส.ค. เพื่อพิจารณาว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น กสม. เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่ว่าด้วยองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มาตรา 255 ที่บัญญัติให้มี กสม. แต่มิได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของ กสม.ไว้ในรัฐธรรมนูญดังเช่นองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอื่นแต่อย่างใด โดยกำหนดไว้แต่เพียงว่าอำนาจหน้าที่ของ กสม.ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทั้งที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญตามประเพณีการปกครองที่ผ่านมาได้บัญญัติกำหนดอำนาจหน้าที่ของ กสม.ไว้อย่างชัดแจ้งไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2540 หรือรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลว่าด้วยหลักการปารีสเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่กำหนดว่า สมาชิกของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะต้องมีอาณัติในการปฏิบัติงานที่มั่นคง ซึ่งหากปราศจากเรื่องนี้จะไม่สามารถมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 2/2541, 36/2543 และ 58-62/2543 วางบรรทัดฐานไว้ว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญหมายถึง องค์กรที่จัดตั้งโดยรัฐธรรมนูญและกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญย่อมมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นหลักประกันในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่จะไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของฝ่ายใดเพื่อให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ดังนั้น การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่บัญญัติกำหนดอำนาจหน้าที่ของ กสม.ไว้ แต่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติจึงมีผลให้ กสม.อาจตกอยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติที่จะตรากฎหมายออกมากำหนดหรือควบคุมอำนาจหน้าที่ของ กสม.ไปในทิศทางใดก็ได้ ซึ่งย่อมถือได้ว่าไม่สอดคล้องกับการกำหนดให้มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ กสม.จึงมีความห่วงใยต่อร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกสม ตามประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อให้ กสม.มีสถานะเป็นองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญโดยแท้ อันจะอำนวยให้การปฏิบัติหน้าที่ของ กสม.ในการส่งเสริมและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลได้อย่างสมบูรณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น