“ซุปเปอร์เซ็ง ปทุมธานี” เคเบิลทีวีเครือข่าย “ป้าเช็ง” มอบหมายทนายความฟ้องกราวรูด กสทช.ต่อศาลปกครองกลาง ชี้บังคับเอาทีวีดิจิตอลทุกช่องมาออกอากาศในเคเบิลไม่เป็นธรรม ผู้ประกอบการมีภาระต้องลงทุน พัฒนาระบบให้ครอบคลุมพื้นที่ภายในท้องถิ่น เอาทีวีดิจิตอลทุกช่องมาออกอากาศเกิดภาระแก่ผู้ประกอบการ แทนที่จะให้รับชมผ่านภาคพื้นดิน ซัดแค่แก้ผ้าเอาหน้ารอด
วันนี้ (18 ส.ค.) นายมงคล คูสกุล ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท ซุปเปอร์เซ็ง ปทุมธานี จำกัด ของ น ส.ศรวรรณ ศิริสุนทรินทร์ หรือ “ป้าเช็ง” พร้อมพวกรวม 97 ราย ได้ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรรมการ กสทช. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้มีสั่งเพิกถอนมติ กสท. ครั้งที่ 18/2558 ลงวันที่ 3 มิ.ย. 2558 ที่ได้กำหนดแนวปฏิบัติในการเผยแพร่บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปสำหรับผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ โดยให้ผู้รับใบอนุญาตเพื่อให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบเคเบิลทุกราย ต้องเผยแพร่บริการโทรทัศน์เป็นการทั่วไปประเภทบริการสาธารณะ และประเภทกิจการทางธุรกิจทั้งหมดทุกช่องให้ครบถ้วน โดยต้องออกอากาศเรียงตามลำดับหมายเลขช่องอย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า มัสต์แคร์รี (Must Carry) พร้อมกับขอให้ศาลฯ กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาโดยสั่งระงับการบังคับใช้มติ กสท.ดังกล่าวไว้จนกว่าจะมีคำพิพากษา
ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า กฎดังกล่าวทำให้บริษัทต้องนำช่องรายการทีวีดิจิตอลของผู้ประกอบกิจการดิจิตอลทีวีประเภทบริการธุรกิจที่ได้รับการประมูลคลื่นความถี่จาก กสทช.จำนวน 24 ช่อง มาออกอากาศผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ของบริษัท ซุปเปอร์เซ็งฯ ทั้งหมดทุกช่อง ซึ่งเห็นว่ามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นลักษณะการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ลิดรอนสิทธิในทรัพย์สิน ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม สร้างภาระเดือดร้อนยากจะเยียวยาให้เกิดกับประชาชนและผู้ประกอบการเคเบิลทีวีที่เป็นผู้ฟ้องคดีจนเกินสมควร เพราะมีการกำหนดด้วยว่า ให้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบเคเบิลทุกราย รวมถึงผู้ฟ้องคดี ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หากฝ่าฝืนจะใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยกำหนดค่าปรับให้ชำระในอัตราไม่เกินวันละ 2 หมื่นบาท หรือพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต
อย่างไรก็ตาม บริการโทรทัศน์ของผู้ประกอบการโครงข่ายเคเบิลนั้น เป็นบริการพิเศษที่มีค่าบริการเพื่อสร้างทางเลือกให้กับผู้ชมที่ต้องการรับข้อมูลข่าวสารหรือรับชมรายการที่หลากหลายมากขึ้น โดยผู้ประกอบการฯ มีภาระต้องลงทุน และพัฒนาระบบโครงข่ายการส่งสัญญาณให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการของตนภายในท้องถิ่นตนเอง ดังนั้นการบังคับให้ผู้ประกอบการโครงข่ายเคเบิลต้องออกอากาศช่องดิจิตอลทีวี จึงเป็นการให้ประชาชนรับชมช่องดิจิตอลทีวีบนโครงข่ายเคเบิล แทนที่จะรับชมผ่านทางโครงข่ายดิจิตอลทีวีภาคพื้นดิน ทั้งยังก่อให้เกิดภาระเกินสมควรแก่ผู้ประกอบการโครงข่ายเคเบิล และมิได้มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนได้รับชมรายการดิจิตอลทีวีตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย มติ กสท.ดังกล่าวจึงเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น และอาจส่งผลให้การพัฒนาขยายโครงข่ายดิจิตอลทีวีเป็นไปอย่างล่าช้า รวมทั้งไม่อาจลบล้างอำนาจของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ปี 2551 มาตรา 42 ที่ให้อำนาจผู้ฟ้องคดีมีสิทธิไม่ยินยอมให้ใช้โครงข่าย กรณีโครงข่ายที่มีอยู่ไม่เพียงพอ หรือการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายก่อให้เกิดการรบกวน หรือเป็นเหตุขัดขวางการให้บริการเคเบิลทีวีของผู้ฟ้องคดีได้