xs
xsm
sm
md
lg

“สมบัติ” โวย กก.ยุทธศาสตร์ฯ อำนาจล้น ไม่สอดคล้องประชาธิปไตย ชี้ปรองดองออก กม.นิรโทษจบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. บอกตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ชี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่กลับมาอำนาจทั้งบริหารและนิติบัญญัติ ยันรัฐบาลปรองดองไม่จำเป็น แนะออกกฎหมายนิรโทษกรรมจบ เชื่อมีผลต่อการตัดสินใจโหวตร่างรัฐธรรมนูญแน่นอน หนุนอภิปรายข้อดีและเสียกฎหมายสูงสุดก่อนลงมติ

วันนี้ (13 ส.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ นายสมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวถึงข้อเสนอประชามติรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า กมธ.ยกร่างฯ ต้องออกแบบให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นหนทางในการแก้ไขวิกฤตหรือออกจากความขัดแย้ง ไม่ใช่ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา เพราะกรรมการชุดนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเหมือนรัฐบาล แต่ กมธ.ยกร่างฯ กลับกำหนดให้มีอำนาจทางฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติได้ ส่วนรัฐบาลปรองดองแห่งชาติก็เห็นว่าไม่มีความจำเป็น เนื่องจากการตรวจสอบจะทำได้ยาก และหากต้องการจะสร้างกลไกสร้างความปรองดองจริง ก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพียงฉบับเดียวก็จบแล้ว ไม่จำเป็นต้องตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ หรือรัฐบาลปรองดองแห่งชาติแทน

นายสมบัติกล่าวอีกว่า ส่วนตัวเห็นว่าข้อเสนอรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะมีผลต่อการตัดสินใจลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของตนอย่างแน่นอน แต่จะมีผลต่อการตัดสินใจของ สปช.รายอื่นหรือไม่ ก็ยังต้องรอดู นอกจากนี้ ตนเห็นด้วยกับสมาชิก สปช.ที่เข้าชื่อเสนอญัตติให้เปิดประชุม สปช.อภิปรายแสดงความคิดเห็นถึงข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งก่อนจะลงมติในวันที่ 7 ก.ย. เพื่อให้สมาชิก สปช.ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เนื่องจากบางคนอาจจะดูเพียงแค่ว่าประเด็นปฏิรูปที่เสนอแก้ไขไปได้รับการปรับแก้ให้หรือไม่เพียงอย่างเดียว แล้วก็ตัดสินใจลงมติเห็นชอบให้ โดยที่ไม่เข้าใจโครงสร้างหลักของรัฐธรรมนูญว่าด้วย อำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงมติต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น