xs
xsm
sm
md
lg

ต้องข้ามศพพรรคการเมือง! กมธ.ยกร่างฯ แนะก่อนทำประชามติ “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช (ภาพจากแฟ้ม)
กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผย แนวคิดประชามติ “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” มาจาก “เอนก สองนครา” แนะถ้าจะผลักดันให้เป็นจริงต้องผ่านด่านอีกมาก บอกชาวบ้านส่วนใหญ่ผูกติดพรรคการเมือง ถ้าไม่เห็นด้วยก็ลำบาก แต่ถ้าไม่ได้ผลักดันก็ไม่เป็นไร เพราะยังมีกลไกอื่นดูแลความสงบเรียบร้อย

วันนี้ (12 ส.ค.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงแนวคิดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่อยากให้มีคำถามประชามติ ว่า “อยากให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติหรือไม่” เพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง ว่า นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้คิดเรื่องนี้มานานแล้ว ตอนนี้ไม่ทราบว่านายบวรศักดิ์จะทำจริงหรือไม่ แต่ยอมรับเป็นความคิดที่ดีที่จะทำให้ประเทศสงบและปรองดอง

ทั้งนี้ ถ้าทำจริง ก็ต้องนำไปหารือในที่ประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 13 - 14 ส.ค. นี้ แต่ต้องยอมรับว่าถ้าจะผลักดันเรื่องดังกล่าวให้เป็นจริง ก็มีขั้นตอนมาก เพราะต้องผ่านความเห็นจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีอีกหลายคำถามในการทำประชามติ และตนก็ไม่รู้ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่ รวมทั้งต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และที่สำคัญสุด คือ การทำประชามติของประชาชนที่เป็นผู้ตัดสิน

“ต้องยอมรับว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ผูกติดกับพรรคการเมือง หากพรรคการเมืองไม่เห็นด้วย คงเป็นเรื่องลำบากที่จะผลักดันให้ผ่านการทำประชามติ ดังนั้น ประเด็นนี้ต้องฟังเสียงนักการเมืองมาก ๆ ถ้าประเด็นรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ไม่ได้รับการผลักดัน ก็ไม่เป็นอะไร เพรากลไกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็สามารถดูแลความเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ดีอยู่แล้ว” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ถือเป็นความคิดเห็นของนายบวรศักดิ์ และนายเอนก ที่สามารถเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม สปช. ได้ เพราะเป็น สปช. และเป็นรองประธาน สปช. รวมถึงเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ เพราะเป็นเรื่องของการสร้างความปรองดอง เรื่องนี้ยังไม่มีการหารือในที่ประชุมของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่คิดว่าคงไม่ส่งผลกระทบต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ควรต้องไปถามผู้ได้รับผลกระทบ คือพรรคการเมือง ว่าเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น