xs
xsm
sm
md
lg

โปรดเกล้าฯ กม.กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 - เปิดทางนายจ้างไม่ต้องจ่ายสมทบเท่ากับลูกจ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ. กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มีบังคับอีก 90 วัน เปิดทาง “นายจ้าง” ไม่ต้องจ่ายสมทบเท่ากับ “ลูกจ้าง” เผย “ลูกจ้าง” สามารถจ่ายเงินสะสมในอัตราที่สูงกว่า “นายจ้าง” ที่จ่ายเงินสมทบได้ อันจะเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกจ้างสามารถออมเงินได้เพิ่มขึ้น

วันนี้ (11 ส.ค.) มีรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๐ ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน โดยให้นายจ้างหักจากค่าจ้าง และให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กําหนดในข้อบังคับของกองทุนซึ่งการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละสองแต่ไม่เกินร้อยละสิบห้าของค่าจ้าง”
มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๐/๑ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐

“มาตรา ๑๐/๑ ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นว่าท้องที่หนึ่งท้องที่ใดเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์ใดที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ให้รัฐมนตรีมีอํานาจกําหนดประเภทธุรกิจระยะเวลา หรือเงื่อนไขใด เพื่อให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุด หรือเลื่อนการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนได้คราวละไม่เกินหนึ่งปี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด”

มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๖ ในการลงทุนหรือหาผลประโยชน์ของกองทุน ให้ผู้จัดการกองทุนนําเงินสะสมและเงินสมทบไปลงทุนหรือหาผลประโยชน์ตามนโยบายการลงทุนที่ลูกจ้างได้แสดงเจตนาไว้ ในกรณีที่ลูกจ้างไม่แสดงเจตนาเลือกนโยบายการลงทุน ให้ลงทุน หรือหาผลประโยชน์ตามนโยบายเดิมที่ลูกจ้างเคยลงทุนไว้ หากไม่มีนโยบายเดิม ให้ลงทุน หรือหาผลประโยชน์ตามนโยบายที่กําหนดไว้ในข้อบังคับของกองทุน หากข้อบังคับของกองทุนไม่ได้กําหนดไว้ ให้ลงทุนหรือหาผลประโยชน์ตามนโยบายที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด”

มาตรา ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของ (๑) ของมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐

“รายได้ของกองทุนตามวรรคหนึ่ง (ก) (ข) (ง) และ (จ) อาจกําหนดในข้อบังคับของกองทุนให้บันทึกตามส่วนได้เสียของลูกจ้างหรือบันทึกเฉลี่ยตามจํานวนลูกจ้างของนายจ้างรายใดรายหนึ่งหรือหลายรายก็ได้”

มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๒๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๓/๒ มาตรา ๒๓/๓ และมาตรา ๒๓/๔ เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในข้อบังคับของกองทุนและตามที่กําหนดในมาตรา ๒๓/๑ โดยให้จ่ายรวมทั้งหมดคราวเดียวภายในเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันสิ้นสมาชิกภาพ”

มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๓/๒ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๒๓/๒ เมื่อลูกจ้างรายใดสิ้นสมาชิกภาพตามข้อบังคับของกองทุนด้วยเหตุเกษียณอายุ หรือออกจากงานเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ หากลูกจ้างรายนั้นแสดงเจตนาขอรับเงินจากกองทุนเป็นงวด ให้ผู้จัดการกองทุนจ่ายเงินจากกองทุนตามเจตนาของลูกจ้าง โดยลูกจ้างรายนั้นยังคงเป็นสมาชิกของกองทุนต่อไปได้ตามระยะเวลาที่กําหนดในข้อบังคับของกองทุน แต่ลูกจ้างรายนั้นและนายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสะสม หรือเงินสมทบสําหรับลูกจ้างรายนั้นอีก ทั้งนี้ การรับเงินจากกองทุนเป็นงวดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนประกาศกําหนด”

มาตรา ๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๓/๔ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐

“มาตรา ๒๓/๔ ในกรณีที่นายจ้างถอนตัวจากกองทุนหลายนายจ้างและยังมิได้จัดให้มีกองทุนใหม่ หรือลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือกองทุนเลิก หากลูกจ้างได้แสดงเจตนาให้ผู้จัดการกองทุนหรือผู้ชําระบัญชีโอนเงินทั้งหมดที่ตนมีสิทธิได้รับจากกองทุน หรือเงินที่เหลือจากการขอรับเงินเป็นงวดตามมาตรา ๒๓/๒ หรือขอให้โอนเงินที่คงไว้ในกองทุนตามมาตรา ๒๓/๓ ไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงานหรือการชราภาพ ให้ผู้จัดการกองทุนหรือผู้ชําระบัญชีดําเนินการตามที่ลูกจ้างได้แสดงเจตนาไว้ ทั้งนี้ นายทะเบียนอาจประกาศกําหนดวิธีการและเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้”

มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๕ ผู้จัดการกองทุนใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา ๑๒ ทวิ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๒๓ มาตรา ๒๓/๑ มาตรา ๒๓/๒ หรือมาตรา ๒๓/๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยกองทุนสํารองเลี้ยงชีพที่ใช้บังคับในปัจจุบัน มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมโดยแก้ไขให้ลูกจ้างสามารถจ่ายเงินสะสมในอัตราที่สูงกว่านายจ้างจ่ายเงินสมทบได้ อันจะเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกจ้างสามารถออมเงินได้เพิ่มขึ้น ในกรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์ใดที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอํานาจออกประกาศให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุด หรือเลื่อนการส่งเงินสะสม หรือเงินสมทบเข้ากองทุนได้ ปรับปรุงหลักเกณฑ์การนําเงินสะสมและเงินสมทบไปลงทุน หรือหาผลประโยชน์สําหรับลูกจ้างที่ไม่ได้แสดงเจตนาเลือกนโยบายการลงทุน ปรับปรุงวิธีการบันทึกรายได้ของกองทุนประเภทกองทุนหลายนายจ้าง และแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายเงินจากกองทุนแก่ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพ เพราะออกจากงานให้สามารถขอรับเงินจากกองทุนเป็นงวดได้ รวมทั้งเพิ่มกรณีการโอนเงินไปยังกองทุนรวม เพื่อการเลี้ยงชีพ หรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงาน หรือการชราภาพได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและแก้ปัญหาอุปสรรคในการดําเนินงานของกองทุนและเพื่อให้ลูกจ้างสามารถออมเงินได้อย่างเพียงพอต่อการดํารงชีพเมื่อชราภาพ จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


กำลังโหลดความคิดเห็น