ประชุม สปช.พิจารณารายงาน กมธ.ปฏิรูปเกษตร เรื่อง ศก.ดิจิตอล ศูนย์กลางอาเซียน แจงเพื่อขับเคลื่อน ศก.เพิ่มความสามารถแข่งขัน พัฒนากฎหมายเอื้อระบบดิจิตอล ส่วนใหญ่หนุน พร้อมแนะใช้ช่วยการศึกษา-เกษตร-สาธารณสุขด้วย เสนอเขียนดิจิตอลแมปเหมือนระบบทะเบียนราษฎร เพื่อประโยชน์เก็บภาษี ผังเมือง ขยายเส้นทาง และพัฒนาคนให้รู้เท่าทัน ก่อนมีมติเห็นชอบ
วันนี้ (11 ส.ค.) ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว และบริการ จำนวน 2 เรื่อง ประกอบด้วย วาระการพัฒนา : 1. เศรษฐกิจดิจิตอล และ 2. การเป็นศูนย์กลางอาเซียน (Asean Hub) โดยนายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า เศรษฐกิจดิจิตอลต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหลายประเทศในอาเซียนมีการพัฒนาไปไกลกว่าประเทศไทย ทั้งเรื่องระบบดิจิทัลเกตเวย์ และการสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดความรู้ด้านดิจิตอลอย่างแท้จริง
ด้าน พล.ร.อ.ศุภกร บูรณดิลก กรรมาธิการฯ กล่าวว่า การปฏิรูปครั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าและบริการในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของไทยให้เทียบเท่ากับนานาชาติ พร้อมทั้งพัฒนากฎหมายที่เอื้อต่อระบบดิจิตอล นอกจากนี้ ควรมีการแข่งขันที่เสรีอย่างเป็นธรรม ควรเพิ่มโครงข่ายโทรคมนาคม บริหารคลื่นความถี่ให้สูงสุด เพิ่มช่องทางเชื่อมโครงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง และที่สำคัญคือ ต้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดความชัดเจน ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมส่วนใหญ่ต่างอภิปรายให้การสนับสนุน โดยมองว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนา และเพิ่มศักยภาพด้านเศรษฐกิจของประเทศได้ นอกจากนี้ยังเสนอว่าควรจะนำเศรษฐกิจดิจิทัลมาสนับสนุนด้านการศึกษาและการเกษตรด้วย ทั้งการศึกษาทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือการเรียนออนไลน์ การกระจายข้อมูลด้านการศึกษา การมีฐานข้อมูลให้เกษตรกรได้เข้ามาศึกษา การศึกษาตลาดของเกษตรกรเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านอาหารซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำจากปัญหาการขาดโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพได้ รวมถึงการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข เรื่องสุขภาพ อาทิ การบริหารจัดการด้านการบริการในกรณีการใช้เทเลคอนเซาท์เทชั่นผ่านโครงข่ายดิจิตอลในพื้นที่ที่ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ การผ่าตัดทางไกล รวมถึงการเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ ด้านสาธารณสุขไปสู่ประชาชน ซึ่งทั้งหมดควรออกแบบเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ได้รวมถึงคนพิการด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเสนอให้เขียนเรื่องดิจิทัลแมปให้เหมือนกับระบบทะเบียนราษฎร 13 หลักด้วย โดยมองว่าจะเป็นประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี ประโยชน์ด้านผังเมือง การวางแผน และการขยายเส้นทางต่างๆ ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมองด้วยว่า แม้ว่าเศรษฐกิจดิจิตอลจะมีประโยชน์ แต่ต้องพัฒนาองค์ความรู้และเตรียมคนให้พร้อมและรู้เท่าทัน เพื่อใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดบทบาทของรัฐในการให้บริการและแทรกแซงตลาด มีหลักประกันเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลความมั่นคงและข้อมูลส่วนตัว
จากนั้นที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบรายงานวาระการพัฒนา 1. เศรษฐกิจดิจิตอล ด้วยคะแนนเห็นด้วย 197 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง