ประธาน สปช. นัดประชุมพิจารณาการทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ 11 สิงหา ตัดอำนาจ ก.ต.ช.ให้ ก.ตร. เป็นฝ่ายแต่งตั้ง ผบ.ตร. วางหลักโยกย้ายต้องยึดอาวุโสเป็นหลัก แต่ถ้าจะข้ามหัวต้องมีเหตุผลชัดเจน พร้อมชงโอนงานจราจรออกจากตำรวจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นัดประชุม สปช. ในวันที่ 11 ส.ค. เพื่อพิจารณาวาระการปฏิรูปที่ 6 เรื่อง การจัดทำแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปตำรวจ สปช. ที่มี นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ สมาชิก สปช. เป็นประธาน โดยในข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปมีรายละเอียดดังนี้
1. ปัญหาการแทรกแซงในกิจการตำรวจ จนทำให้เกิดผลกระทบในการบริหารงานภายในองค์กร ทำให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขาดความเป็นอิสระ อยู่ในความครอบงำของฝ่ายการเมืองขาดจุดยืนในการทำงานของตน องค์กรกลางในการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติถูกครอบงำ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในทุกระดับ เกิดผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง จึงต้องมีแนวทางการปฏิรูปดังนี้
1.1 ปฏิรูปองค์ประกอบคณะกรรมการข้าราชการตำรววจ (ก.ตร.) องค์ประกอบของ ก.ตร. ควรมีจำนวน 16 คน ประกอบด้วย 1. ประธาน ก.ตร. ให้คัดเลือกจากอดีตข้าราชการตำรวจระดับตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือเทียบเท่าขึ้นไป (ยศ พล.ต.อ.) โดยการลงคะแนนเลือกจากข้าราชการตำรวจระดับตำแหน่งผู้กำกับการหรือเทียบเท่าขึ้นไป (ยศ พ.ต.อ.ขึ้นไป) 2. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 3. จเรตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรอเทียบเท่า (ยศ พล.ต.อ.) จำนวน 6 คน โดยการลงคะแนนเลือกจากข้าราชการตำรวจระดับตำแหน่งผู้กำกับการ หรือเทียบเท่าขึ้นไป (ยศ พ.ต.อ. ขึ้นไป) 3. อดีตข้าราชการตำรวจตำแหน่งผู้บัญชาการ หรือเทียบเท่าขึ้นไป (ยศ พล.ต.ท. ขึ้นไป) จำนวน 3 คน โดยการลงคะแนนเลือกจากข้าราชการตำรวจระดับผู้กำกับการหรือเทียบเท่าขึ้นไป (ยศ พ.ต.อ. ขึ้นไป) 4. ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ได้แก่ ผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี 1 คน ผู้แทนจากวุฒิสภา 1 คน ผู้มีความรู้ในสาขาต่าง ๆ เช่น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น โดยให้กรรมกการ ก.ตร. สรรหาจำนวน 2 คน
เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบของ ก.ตร. จะเห็นไดว่าการบริหารงานบุคคลภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในอนาคตจะไม่ถูกครอบงำจากฝ่ายการเมือง มีการถ่วงดุลกันที่เหมาะสม 1.2 การปฏิรูปองค์ประกอบคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) หากพิจารณาบทบาทของ ก.ต.ช. ตามที่กำหนดให้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2557 แล้ว จะเห็นได้ว่า ก.ต.ช. เป็นองค์กรหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทาง นโยบายการบริหารราชการกิจการตำรวจ และแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยมีผู้เกี่ยวข้องจากฝ่ายต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการ แต่ในข้อเท็จจริงปรากฏว่าฝ่ายการเมืองใช้องค์กรนี้เพียงประโยชน์ในการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเท่านั้น
การทำให้ผู้นำองค์กรตำรวจไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองจำเป็นต้องแก้ไขอำนาจหน้าที่ของ ก.ต.ช. โดยกำหนดให้การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ก.ตร. ซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้น เพื่อสร้างให้ ก.ต.ช. เป็นองค์กรในการกำหนดนโยบายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง จึงควรกำหนดองค์ประกอบ ก.ต.ช. ดังนี้ ให้ ก.ต.ช. มีจำนวน 11 คน ประกอบด้วย 1. นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 2. รองนายกฯที่นายกฯมอบหมาย เป็นรองประธาน 3. ปลัดกระทรวงกลาโหม 4. ปลัดกระทรวงมหาดไทย 5. ปลัดกระทรวงยุติธรรม 6. อัยการสูงสุด 7. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 8. ผู้แทนจากสภาทนายความ 9. ผู้แทนจากวุฒิสภา 10. ผู้แทนจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชน และ 11. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ
1.3 ปฏิรูปการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ควรให้คณะกรรมการก.ตร.แต่เพียงองค์กรเดียวเป็นผู้ดำเนินการ ด้วยการพิจารณาคัดเลือกจากข้าราชการตำรวจตำแหน่ง จเรตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือเทียบเท่า (ยศ พล.ต.อ.) จำนวน 3 คน แล้วให้ข้าราชการตำรวจระดับตำแหน่งผู้กำกับการ หรือเทียบเท่าขึ้นไป (ยศ พ.ต.อ. ขึ้นไป) ลงคะแนนเลือกเหลือจำนวน 1 คน เพื่อเสนอ ก.ตร. พิจารณานำเสนอนายกฯเพื่อนำความกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อไป
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการแต่งตั้งในลักษณะรูปแบบเช่นนี้ จะทำให้ผู้มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องสั่งสมผลงานมาเป็นระยะยาวพอสมควร ต้องประพฤติปฏิบัติตัวดีมาแต่ต้น ไม่เพียงแต่วิ่งเต้นรับใช้ฝ่ายการเมืองเพียงอย่างเดียว การแต่งตั้งจะทำให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีเสถียรภาพมั่นคงในการดำรงตำแหน่งพอสมควร
2. การวางแนวทางมาตรฐานการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ให้พิจารณาโดยยึดความอาวุโส ประกอบความรู้ความสามารถตามเกณฑ์มาตรฐานในระดับตำแหน่งของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการ การที่จะพิจารณาแต่งตั้งโดยข้ามอาวุโส จะต้องมีเหตุผลจำเป็นตามข้อมูล ข้อเท็จจริง เฉพาะเรื่องเฉพาะรายที่มีน้ำหนักเหนือกว่าลำดับอาวุโสเท่านั้น โดยให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการเพิ่มหรือลดลำดับอาวุโสขณะดำรงตำแหน่งนั้น ๆ อันเป็นการลดการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งหรือโยกย้าย
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการวางแนวทางการแต่งตั้ง จะทำให้ข้าราชการตำรวจมีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ มองเห็นเส้นทางการเจริญเติบโตในหน้าที่ ลดการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อนำเงินมาวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง หรือเอื้อประโยชน์กับผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ เพื่อหวังผลในการเลื่อนตำแหน่งจากอิทธิพลภายนอก
3. การถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานที่มีภารกิจหน้าที่โดยตรงไปดำเนินการ เพื่อแบ่งเบาภาระของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำหนาที่ได้อย่างเต็มความสามารถ สมควรให้มีการถ่ายโอนภารกิจให้แก่หน่วยงานอื่นที่มีภารกิจหน้าที่โดยตรงไปดำเนินการ เพื่อลดภาระการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังต่อไปนี้
(1) ถ่ายโอนกิจการด้านการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการบังคับใช้กฎหมายในงานจราจรไปให้ กทม. เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม
(2) ถ่ายโอนกิจการด้านการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการ
(3) ถ่ายโอนกิจการด้านการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในงานท่องเที่ยวไปให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินการ
(4) ถ่ายโอนกิจการด้านการอำนวยความสะดวกและการบริการจัดการจราจรในพื้นที่ทางหลวงไปให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการ
(5) ถ่ายโอนกิจการด้านการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในงานรถไฟไปให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการ
(6) ถ่ายโอนกิจการด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดและรักษาความสงบในเขตน่านน้ำไทย (ตำรวจน้ำ) ไปให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการ
(7) ถ่ายโอนกิจการด้านการตรวจคนเข้าเมืองไปให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม หรือกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการ