“ประยุทธ์” ชวนคนไทยร่วมตั้งปณิธาน “ทำดีเพื่อแม่” ในเดือนมหามงคล โวรัฐบาล - คสช. แก้ไขปัญหาไปแล้วเพียบ วอนให้มองอย่างเป็นธรรม หวังประชาชนเข้าใจคำว่าปฏิรูปตรงกัน ไม่ถูกยุยงให้เกิดความขัดแย้งอีก เผยแบ่งงานปฏิรูปเป็น 2 เฟส เฟสแรกกำลังทำอยู่ ก่อนส่งการบ้านให้รัฐบาลหน้าทำต่อเฟส 2 ย้ำไม่เคยมีปัญหากับ “ประชาธิปไตย” แต่ต้องทำระบบให้ดีก่อน ร่ายยาว 8 ภารกิจที่กำหนดทำอยู่ยัดใส่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
วันนี้ (7 ส.ค.) เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม 2558 ว่า เดือนสิงหาคมนี้ก็เป็นเดือนมหามงคลอีกเดือนหนึ่งของประเทศไทย วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเป็นวันแม่แห่งชาติ ในโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ อยากขอเชิญชวนให้พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี และความรักที่มีต่อแม่แห่งแผ่นดิน ซึ่งพระองค์ได้ทรงงานเคียงคู่กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จฯไปทั่วทุกหนแห่ง ในแผ่นดินไทย และได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ยากไร้ และประชาชนในชนบทห่างไกล
“เนื่องในโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ ผมขอเชิญชวนให้พี่น้องชาวไทยร่วมกันตั้งปณิธาน “ทำดีเพื่อแม่” ซึ่งทางรัฐบาลนั้นก็จะจัดกิจกรรมตักบาตรทางเรือครั้งประวัติศาสตร์ บริเวณพื้นที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 12 ส.ค. นี้ ตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้า ซึ่งได้กราบนมัสการนิมนต์สมเด็จพระราชาคณะมาประกอบพิธีสงฆ์ และเจริญน้ำพระพุทธมนต์ ก็ขอเชิญชวนพี่น้องที่มีความสนใจร่วมในกิจกรรม - งานบุญดังกล่าวด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการดำเนินการด้านการปฏิรูปในขณะนี้ ว่า ทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่า การปฏิรูปคือ การปรับปรุง, เปลี่ยนแปลง, แก้ไข ซึ่งก็นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งกับการทำงานของ คสช. และรัฐบาลในเวลานี้ นับตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา เราพบปัญหามากมาย ทั้งทางกฎหมาย ทางปฏิบัติ และปัญหาในเชิงโครงสร้างการทำงาน ซึ่งในห้วงที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองอาจไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เพราะต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนที่ยากจนมีรายได้น้อย จนไม่ได้พัฒนาศักยภาพของประเทศโดยรวมอย่างเพียงพอ สำหรับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันก็มีมากมาย ซึ่งขณะนี้ก็กำลังดำเนินการอยู่ การจัดระเบียบสังคมที่เสื่อมโทรม การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเพื่อจะแก้ปัญหาทั้งภัยแล้งและอุทกภัย และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบก็ต้องเร่งดำเนินการ รวมไปถึงการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จะต้องปรับให้แข็งแรง มีขีดความสามารถประเทศสูงขึ้น ในส่วนปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน ป่าไม้ ป่าต้นน้ำ ทุกท่านทราบดีอยู่แล้ว ภูเขาหัวโล้นที่ทำให้ฝนไม่ตกจนกระทบความมั่นคงของภาคการเกษตร
“ถ้าทุกท่านมองพวกเราอย่างเป็นธรรม ก็จะเห็นว่าเราได้แก้ไขปัญหาไปแล้วมากมาย บางเรื่องก็เสร็จไปแล้ว บางเรื่องยังต้องดำเนินการอยู่ มีความก้าวหน้าตามลำดับ แต่สิ่งสำคัญคือการทำให้ยั่งยืนในอนาคตนั้นเราต้องเข้าใจปัญหาและความสลับซับซ้อนของปัญหาจะได้ดำเนินการแก้ไขได้ถูกต้อง มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ในส่วนของวิธีการในการดำเนินงานต่อปัญหาทุกปัญหานั้น ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย บางเรื่องก็มีการต่อต้านมากมาย กลุ่มการเมืองที่ยังไม่เข้าใจก็มีอยู่ อาจจะมีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้น คสช. และรัฐบาลก็ได้แบ่งกระบวนการปฏิรูปออกเป็น 2 ระยะ” นายกฯระบุ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับ 2 ระยะที่ว่าประกอบด้วย ระยะแรกคือ คสช. และรัฐบาล ส่วนระยะที่สอง ก็คือ ให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดทำวาระการปฏิรูป 11 ด้าน ตามหัวข้อที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งการทำงานในระยะ 1 - 2 ไม่ได้หมายความว่า แก้ได้แล้วจบ หลายเรื่องก็แก้ไขไปแล้วก็ต้องรักษาไว้ให้ได้ สิ่งใดที่ยังไม่ได้ทำ ก็ต้องเตรียมการร่างแนวทางส่งต่อระยะที่ 3 เมื่อมีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่ ก็ต้องทำในสิ่งที่ สปช. ได้พิจารณากำหนดไว้ ทั้งในแง่ของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ขอให้ประชาชนคนไทยทุกคนเข้าใจร่วมกันว่า รัฐบาล และ คสช. ไม่ได้เข้ามาสร้างฐานอำนาจ หรือมาเอาผลประโยชน์ใด ๆ ก็อยากให้ทุกคนเข้าใจคำว่าปฏิรูปให้ตรงกันหลายคนไม่เข้าใจและก็ไม่รู้ตัว ทั้งผู้กระทำ แล้วก็ผู้ที่ถูกชักจูง เราก็อยากให้คนไทยทั้งประเทศ ทุกสาขาอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย ได้เข้าใจ แล้วก็ร่วมมือกับพวกเรา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การที่เราจะดูแลคนทั้ง 70 ล้านคน ให้ได้นั้น ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนในการดูแลแต่ละพวก แต่ละฝ่าย แต่ละระดับ แต่ละปัญหามากน้อยเพียงใด เราพยายามจะไม่แยกกลุ่ม หรือสร้างคะแนนนิยมให้แก่ รัฐบาล และ คสช. รวมทั้งไม่ได้หวังที่จะอยู่นาน ๆ ตนไม่อยากให้ทุกคนกังวลกับคำว่า คสช. รัฐบาล อยากอยู่ต่อ ต่อท่ออำนาจอะไรต่าง ๆ เพราะไม่มีความอยากตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพียงแต่ก็ต้องการให้ช่วยกันคิดว่า การที่เราอยากจะมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืนนั้นควรจะต้องช่วยกัน รัฐธรรมนูญฉบับถาวรควรเป็นอย่างเพื่อที่จะให้รัฐบาลที่จะมาบริหารประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ได้ทำงาน ได้ปฏิรูป และเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้ร่างไว้ได้ แล้วก็ทำอย่างไรที่รัฐบาลใหม่จะใช้อำนาจในการบริหารอย่างชอบธรรม มีธรรมาภิบาล
หัวหน้า คสช. กล่าวช่วงหนึ่งด้วยว่า เรื่องของสื่อ ทั้งทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดีย ตนไม่ใช่ผู้ขัดแย้งกับท่านเลย เพราะฉะนั้นข้อมูลต่าง ๆ จากสื่อนั้นจะช่วยเราได้มาก การเสพข้อมูลต่าง ๆ ของสื่อ แล้วก็โซเชียลมีเดีย ที่ไม่มีคุณภาพอย่างเดียว อาจจะมีเรื่องดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้าง ก็ขอให้ทุกคนได้พิจารณากันด้วยเหตุด้วยผล อย่าให้โซเชียลมีเดีย หรือสื่อที่ไม่ดีมาชี้นำ ทุกคนที่เป็นคนไทยต้องพัฒนาตนเอง ให้มีความรู้ มีสติ สามารถที่จะใคร่ครวญในข้อเท็จจริง มีเหตุมีผล ไม่อยากให้คนไทยถูกชี้นำ หรือถูกกำหนดโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
ในส่วนของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้อยู่ในขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว และที่ได้แก้ไขแล้วบางส่วน ขอให้ทุกคนได้ร่วมพิจารณาแล้วก็ลงไปพิจารณาถึงเนื้อหา ก่อนจะไปถึงตรงนั้นก็อยากจะให้ทบทวนกลับไปนิดหนึ่งว่า เราต้องการอะไรบ้างในอนาคต ความมีเสถียรภาพนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การเป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบนั้น จะทำให้ประเทศของเราปลอดภัยหรือไม่ในขณะนี้ ทั้งนี้ ก็ล้วนแล้วแต่อยู่ที่การตัดสินใจของของประชาชนทุกคนไทยทั้งสิ้น วันนี้ลองหาคำตอบจากบรรดานักการเมือง หรือบรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆ ดูซิว่า เขามีความคิดในเรื่องการปฏิรูปอย่างไรให้เกิดความชัดเจน เพราะว่าท่านก็ต้องกลับมาอยู่แล้ว ท่านไปคิดดู แล้วสร้างความรับรู้ให้ประชาชน
“ผมไม่เคยมีความขัดแย้งกับคำว่าประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยที่ดีนั้นควรจะต้องทำให้ประเทศไทยปลอดภัย มีอนาคต มีความเข้มแข็งเพียงพอกับการต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อม ปัจจัยทั้งภายใน ภายนอกประเทศ เราจะต้องไม่ไปติดกับดักประชาธิปไตย อย่างที่เราเคยประสบกันมาแล้วไม่รู้จบ ไม่ต่ำกว่า 80 ปีที่ผ่านมา เรามีการพัฒนาช้ามากนะครับในเรื่องนี้ ฝากไปคิดด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงปัญหาภัยแล้ง ว่า ก็ยังคงเป็นปัญหาหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แล้ววันนี้ก็มีอุทกภัยเข้ามาอีกในบางจังหวัด รัฐบาลได้มีมาตรการ และแนวทางให้ความช่วยเหลือหลายระดับด้วยกัน ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ นอกจากนี้ยังได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำภาพรวม ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ 12 กิจกรรม ได้ดำเนินการโดยต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 57 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว นั้นรัฐบาลนี้ ได้เริ่มต้นให้ โดยการตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มาขับเคลื่อนต่อจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ของ คสช. ทั้งนี้ เพื่อให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม อย่างยั่งยืน เป็นไปตามยุทธศาสตร์น้ำ ต่อไป
พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวสรุปในส่วนของแนวทางที่รัฐบาล และ คสช. กำลังดำเนินการอยู่ 8 หัวข้อสำคัญ อาทิ เรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน โดยจะต้องแก้ไขปัญหาแล้วก็เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของข้าราชการ และขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน รวมไปถึงกำหนดวาระแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรม อาทิ การแก้ไขปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ ปัญหาขยะ ปัญหาการบุกรุกทรัพยากร ปัญหาที่ดินทำกิน การทำประมงผิดกฎหมาย การแก้ไขปัญหาองค์กรการบินพลเรือน การขับเคลื่อนรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ ยังได้เริ่มต้นการปฏิรูปในหลาย ๆ เรื่อง โดยในระยะที่ 1 - 2 ดำเนินการภายใต้การบริหารงานปัจจุบันเพื่อจะส่งไประยะที่ 3 คือ รัฐบาลหน้า ในส่วนการมีส่วนร่วมก็มี สปช. ที่มาจากคนหลายอาชีพหลายกลุ่ม ร่วมกันพิจารณาจัดทำแผนการปฏิรูปในขณะนี้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า เรายังได้เตรียมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ให้ประเทศเดินหน้าอย่างน้อยก็ต่อเนื่อง 20 ปี โดยทุกแผนงานหรือยุทธศาสตร์ของแต่ละส่วนราชการ รวมทั้งรัฐบาลต่อ ๆ ไปจะต้องมีความสอดคล้องกัน โดยเราอาจต้องมีคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อดำเนินการในเรื่องของการปฏิรูป การปรองดอง การขจัดข้อขัดแย้ง ในอนาคตด้วย ทั้งนี้การทำงานที่ผ่านมาได้เน้นการสื่อสารระหว่าง คสช., สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สปช. กับรัฐบาล ตลอดเวลา
ในช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวย้ำเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม “Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่” ในวันที่ 16 สิงหาคม นี้ ว่า ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมกิจกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน ทั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงให้ความห่วงใยต่อพสกนิกรที่จะเข้าร่วมกิจกรรมเสมอมา ทรงย้ำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ใช้ความรอบคอบความละเอียดอ่อนในการจัดงาน ทั้งในเรื่องเส้นทาง อุบัติเหตุ การเผชิญเหตุฉุกเฉิน การตั้งจุดรักษาพยาบาล การมีส่วนร่วม สำหรับพี่น้องประชาชนที่จะเข้าร่วมกิจกรรม ก็ขอให้มีการฝึกซ้อมกัน และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วย
คำต่อคำ : รายการคืนความสุขให้คนในชาติ 7 ส.ค.2558
โปรย :สวัสดีครับพ่อแม่พี่น้องชาวไทยทุกท่าน เดือนสิงหาคมนี้ก็เป็นเดือนมหามงคงยิ่งอีกครั้งหนึ่งนะครับ ซึ่งเป็นเดือนหนึ่งของประเทศไทยในวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเป็นวันแม่แห่งชาติ และในโอกาสอั
สวัสดีครับพ่อแม่พี่น้องชาวไทยทุกท่าน เดือนสิงหาคมนี้ก็เป็นเดือนมหามงคงยิ่งอีกครั้งหนึ่งนะครับ ซึ่งเป็นเดือนหนึ่งของประเทศไทยในวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเป็นวันแม่แห่งชาติ และในโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ ผมอยากเชิญชวนพสกนิกรคนไทยทุกหมู่เหล่า ได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี และความรักที่มีต่อแม่ของแผ่นดิน ซึ่งพระองค์ได้ทรงงานเคียงคู่กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทย และได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในการเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ยากไร้ และประชาชนในชนบทที่ห่างไกลนะครับ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทรงสนพระทัยในงานฝีมือ และศิลปกรรมพื้นบ้าน
พระองค์ทรงรับสั่งให้มีการฝึกสอนราษฎร ช่วยพัฒนาคุณภาพของงานให้ดียิ่งขึ้น เมื่อราษฎรมีความสำคัญแล้ว ผลงานที่ผลิตออกมาก็จะทรงรับซื้อด้วยพะราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในลำดับแรก นอกจากจะเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ส่งเสริมงานศิลปพื้นบ้านของไทยที่มีความเป็นเอกลักษณ์ มีความงดงาม และละเอียดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นการปั้น การทอ หรือการจักรสาน ซึ่งต่อมาโครงการนี้ ขยายออกเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ปัจจุบันมีศูนย์ส่งเสริมอาชีพกระจายอยู่ทั่วทุกภาค และมีโครงการส่งเสริมศิลปาชีพหลายๆจังหวัดทั่วประเทศ
เนื่องในโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ ผมขอเชิญชวนให้พี่น้องชาวไทยร่วมกันสานต่อพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟู รักษาสืบทอด ในเรื่องของการทอผ้า และการใช้ผ้าไทย ด้วยการสวมใส่ผ้าไทยตามความพอเพียง รวมทั้งร่วมใจกันตั้งปณิธานทำดีเพื่อแม่ ซึ่งทางรัฐบาลนั้น ก็จะจัดกิจกรรมตักบาตรทางเรือ ครั้งประวัติศาสตร์ บริเวณพื้นที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 12 สิงหาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้า ซึ่งได้กราบนมัสการนิมนต์สมเด็จพระราชาคณะมาประกอบพิธีสงฆ์ และเจริญน้ำพระพุทธมนต์ ก็ขอเชิญชวนพี่น้องที่มีความสนใจร่วมในกิจกรรม งานบุญดังกล่าวด้วย
สำหรับวันนี้นั้นผมมีเรื่องสำคัญที่อยากเรียนให้พี่น้องประชาชนทราบเพื่อทำความเข้าใจแล้วก็ลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ในเรื่องแรกก็คือเรื่องของการปฏิรูป ทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่า การปฏิรูปคืออะไร ความหมายคือ การปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไข ซึ่งก็นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งนะครับกับการทำงานของ คสช. และรัฐบาลในเวลานี้ นับตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมานั้นเราพบปัญหามากมายนะครับ ทั้งทางกฎหมาย ทางปฏิบัติ และปัญหาในเชิงโครงสร้างการทำงาน
ซึ่งในห้วงที่ผ่านมานั้นฝ่ายการเมืองอาจไม่ได้ให้ความสนใจมากนักนะครับ เพราะว่าต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนที่ยากจนมีรายได้น้อย จนไม่ได้พัฒนาศักยภาพของประเทศโดยรวมอย่างเพียงพอนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาอื่นๆ เช่น การบังคับใช้กฎหมาย การปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร กฎหมายที่ล้าสมัย ทั้งในด้านการค้า การลงทุน ในประเทศนอกประเทศ รวมถึงพันธกรณีที่ไทยเรามีไว้กับต่างประเทศนะครับ แต่ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ในห้วงที่ผ่านมาหลายเรื่องทำให้ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและไม่สามารถที่จะพัฒนาอย่างรวดเร็วไปสู่ความเป็นสากลได้
สำหรับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันนั้นก็มีมากมายนะครับ ซึ่งขณะนี้ก็กำลังดำเนินการอยู่ การจัดระเบียบสังคมที่เสื่อมโทรม ที่ขาดมาตรการ และการควบคุมที่ดี การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเพื่อจะแก้ปัญหาทั้งภัยแล้งและอุทกภัย น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมแล้วก็ขาดการวางแผนบริหารจัดการที่ดีนะครับ หลายๆ เรื่อง สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบนั้น เราต้องเร่งดำเนินการนะครับ ไม่อย่างนั้นไม่ทันต่อเวลา การเปลี่ยนแปลงของโลกในวันนี้
ในเรื่องสำคัญอีกเรื่องคือการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ มีความจำเป็นที่จะต้องปรับให้แข็งแรง แล้วสามารถที่จะแข่งขันได้นะครับ มีขีดความสามารถประเทศสูงขึ้น ในส่วนปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน ป่าไม้ ป่าต้นน้ำเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญนะครับ ซึ่งทุกท่านทราบดีอยู่แล้ว ภูเขาหัวโล้น แล้วทำให้ฝนไม่ตกอะไรต่างๆ เหล่านี้ มีปัญหาต่อเนื่องมายาว
ในเรื่องของภาคการเกษตร เราจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงให้ภาคการเกษตรนะครับ ให้เกษตรกร เราจะต้องพัฒนาความเข้มแข็งของเขาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวมนะครับ ทางด้านเกษตรกรรมผลผลิตมากมายที่เรามีอยู่วันนี้ต้องทำให้มีมูลค่าสูงขึ้นให้ได้ และอีกหลายๆ เรื่องนะครับ ที่รัฐบาลนี้กำลังทำอยู่ หลายเรื่องนั้นต้องใช้เวลามากกว่านี้ในการดำเนินงาน ทุกสิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้มุ่งให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต เราพยายามจะไม่สร้างปัญหาใหม่ ถ้าทุกท่านมองพวกเราอย่างเป็นธรรมจะเห็นว่า เราได้แก้ไขปัญหาไปมากมาย บางเรื่องเสร็จไปแล้วบ้าง บางเรื่องยังต้องดำเนินการอยู่ มีความก้าวหน้าตามลำดับ แต่สิ่งสำคัญก็คือ การทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตนั้น เราต้องเข้าใจปัญหา และความสลับซับซ้อนของปัญหา จะได้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง มีการพิจารณาอย่างรอบคอบทั้งกฎหมาย ทั้งพันธสัญญา และผู้ที่ต้องปฏิบัติตามเหล่านั้น โดยเฉพาะประชาชนก็ยังไม่เข้าใจถึงกฎหมายที่ออกไปใหม่ๆ ทั้งนี้ เพื่อความเป็นระเบียบของสังคมทั้งสิ้น สิ่งที่เราได้ทำสัญญาไว้กับนานาชาติ องค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้ คงต้องรักษาต่อไปให้มีความเชื่อมั่น เชื่อถือ ถึงแม้ว่าวันนี้เราจะเป็นแบบนี้ก็ตาม วันหน้าต้องกลับสู่ปกติอยู่แล้ว
ส่วนของวิธีการในการดำเนินการต่อปัญหาทุกปัญหานั้น เจ้าหน้าที่และต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วนด้วย จำเป็นต้องขับเคลื่อนพร้อมกัน บางเรื่องมีการต่อต้านมากมาย กลุ่มการเมืองที่ยังไม่เข้าใจก็มีอยู่ และอาจมีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้น คสช. และรัฐบาลได้แบ่งกระบวนการปฏิรูป 2 ระยะนะครับ ระยะแรก ที่ผมเรียกเดิมๆ ว่า 1 กับ 2 นะครับ 1 คือ คสช. 2 คือ รัฐบาล ผมรวบเป็นระยะที่ 1 เลย รัฐบาลนี้ทำเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ต้องหยุดการบริหารงานแผ่นดิน และแก้ปัญหาไปด้วย
ส่วนระยะที่ 2 ของเราตรงนี้คือ ให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ตั้งขึ้นมาแล้วได้ให้จัดทำวาระการปฏิรูป11 ด้าน มีการถกแถลงกันมากมาย ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งกำหนดหัวข้อ วิธีการ ระยะเวลา ให้สู่วัตถุประสงค์การปฏิรูปในอนาคต คือการปฏิรูปอย่างยั่งยืน และต่อเนื่อง สำหรับทุกปัญหาที่เราทำระยะ 1 2 ตอนนี้ ไม่ได้หมายความว่าแก้ได้แล้วจบ และทำเรื่องอื่นต่อได้เลย หลายเรื่องแก้ไขไปแล้วต้องรักษาไว้ให้ได้ อะไรที่ยังไม่ได้ทำ หรือไม่ยุติ ต้องทำต่อ โดยการเตรียมการ สร้างแนวทางไว้ และส่งต่อระยะที่ 3 เมื่อมีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่ ต้องทำในสิ่งที่ สปช.พิจารณากำหนดไว้ในช่วงนี้ ทั้งในแง่กฎหมาย รัฐธรรมนูญ ที่ต้องกำหนดไว้เพื่ออำนวยให้เกิดความต่อเนื่องไม่เป็นปัญหาต่อไปในอนาคต ขอโอกาสรัฐบาลในอนาคตไว้ด้วย บางเรื่องเราอาจต้องใช้เวลานานหลายปี หลายประเทศใช้เวลาปฏิรูปประเทศกว่า 30 ปี ก็ยังไม่เสร็จ เพราะปัญหาใหม่เกิดซ้อนเรื่อยๆ ปัญหาเก่ากำลังแก้อยู่ เพราะฉะนั้นปัญหาไม่มีสิ้นสุด เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ขอให้ประชาชนคนไทยทุกคนเข้าใจร่วมกันว่า รัฐบาล และ คสช.นั้น ไม่ได้เข้ามาเพื่อสร้างฐานอำนาจ หรือมาเอาผลประโยชน์ใดๆ เราไม่เคยคิดอย่างนั้นเลยเพราะงั้น ตั้งแต่ตัดสินใจเข้ามาตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557
ก็อยากให้ทุกคนเข้าใจคำว่าปฏิรูปให้ตรงกันเสียทีว่า เป็นการดำเนินการที่ต้องมีความต่อเนื่อง เริ่มจากสิ่งที่ง่ายไปก่อนในขณะนี้แล้วก็ไปหาสิ่งที่ยาก ถ้าเราเอาปัญหาใหญ่ๆ ทั้งหมดมาทำเวลานี้ก่อน ปัญหามันก็สลับซับซ้อนมาก แล้วก็ความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นทันที แล้วมันจะเกิดผลกระทบกับการที่บางพวกก็จะเอาประชาชนที่มีรายได้น้อย หรือที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโดยรวม หรือประชาชนที่มีความเดือดร้อน มาเป็นเครื่องมือในการต่อต้านการปฏิรูป หรือการบริหาราชการแผ่นดินตั้งแต่เริ่มต้น
โดยที่เขาอาจไม่เข้าใจ แล้วก็ไม่รู้ตัว ทั้งผู้กระทำ และผู้ที่ถูกชักจูงโดยไม่เข้าใจว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นในอนาคต แต่ถ้าหากว่าเราสามารถจะทำให้เขาเห็นได้ บางอย่าง บางส่วนเช่นที่เราทำวันนี้ ที่เสร็จในระยะสั้น ระยะต้นให้เห็นภาพ เห็นอนาคต ปัญหาต่างๆที่หมักหมมมายาวนาน ก็จะได้ไม่เกิดขึ้นอีก จะได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนด้วยความร่วมมือของทุกพวกทุกฝ่าย ที่เป็นคนไทย เราก็อยากให้คนไทยทั้งประเทศ ทุกสาขาอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย เข้าใจและร่วมมือกับพวกเรา คงไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่พวกเราจะพยายามทำต่อไป
เรื่องสำคัญต่อไปคือเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และประชาธิปไตยมีความเกี่ยวข้องกันแน่นอน เพราะเรายังเป็นประเทศที่จะต้องมีประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันมากกับประเทศตะวันตก ในเรื่องของอาชีพ รายได้ การศึกษา ความเข้มแข็งประเทศ ความสามารถในการแข่งขัน ความเหลื่อมล้ำอะไรเหล่านี้มันมีความแตกต่างกันทั่วโลก ฉะนั้นถ้าเราลองทบทวนดูสิ่งที่ คสช. รัฐบาลทำในวันนี้ เราอาจจะไมได้ให้งบประมาณโดยตรงกับประชาชน โดยไม่อยากจะบิดเบือนทุกอย่างให้มันเสียหาย ฉะนั้นเราก็ใช้ให้มากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบรรเทาความเดือดร้อน เรื่องการเกษตร ภัยแล้ง น้ำท่วม เรื่องอะไรเหล่านี้ก็ดำเนินการมาโดยตลอดนะครับ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นก็ต้องนำไปใช้ในการสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรกรด้วยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต ในส่วนของการใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่งก็คือการลงทุนในเรื่องอุตสาหกรรมแนวใหม่นะครับ ที่มีความทันสมัย การวิจัยพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการปลูกพืช การสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคม การบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืน
ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้านี้ก็ได้ใช้งบประมาณไปกับโครงการประชานิยมหลายๆ อย่างนะครับ ซึ่งบางอันนั้นเป็นปัญหาการใช้งบประมาณนะครับ ผมเข้าใจนะครับว่า มันมีความจำเป็น แต่อย่าให้มีปัญหาในอนาคตแล้วกันนะครับ เราพยายามเต็มที่ แต่บางอย่างเราถูกประชาชนกดดันก็เหมือนๆ เดิม เราต้องสร้างความเข้าใจกับเขา ถ้าหากว่า เราใช้เงินไปล่วงหน้ามากพอสมควรนั้นเราจะแก้ปัญหาไม่ได้ในอนาคตอีกเช่นเดิมนะครับ ในเชิงโครงสร้าง ถ้าไม่แก้ทั้งระบบ ไม่สร้างระบบใหม่ขึ้นมาให้เข้มแข็ง มันจะเป็นปัญหาอีก และประชาชนพร้อมที่จะไม่เข้าใจ ที่ผ่านมาอาจจะได้เงินง่าย โดยไม่รู้ว่า มันเป็นการทำลายความเข้มแข็งของตัวเขาเองด้วยนะครับ ซึ่งต้องคอยพึ่งพากลุ่มโน้นกลุ่มนี้ กลุ่มการเมืองบ้าง กลุ่มผู้มีอิทธิพลบ้างเหล่านี้ บางกลุ่มเขาไม่ได้เจตนา อาจะหวังดี แต่ก็ถูกนำไปใช้ประโยชน์ ในบางเรื่อง อย่างเช่น การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เกิดความขัดแย้งกันไม่มีที่สิ้นสุด
เพราะฉะนั้นรัฐบาล ใดก็ตามที่มีธรรมาภิบาล ไม่ควรทำเช่นนั้น ไม่ควรทำให้เกิดความขัดแย้ง ควรจะสร้างความเข้มแข็ง ให้มีความภาคภูมิใจ ช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง
การที่เราจะดูแลคนทั้ง 70 ล้านคน ให้ได้นั้น ก็ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนนะครับจะดูแลแต่ละพวก แต่ละฝ่าย แต่ละระดับ แต่ละปัญหามากน้อยเพียงใดนะครับ ตามปัญหาที่มีความรุนแรงที่แตกต่างกันนะครับ เราพยายามจะไม่แยกกลุ่ม มุ่งหวังเพียงที่จะสร้างคะแนนนิยม รัฐบาล คสช. ผมไม่ต้องการแบบนั้นนะครับ เพื่อจะให้ผม หรือพวกเราทำงานได้ แล้วก็อยู่นานๆ คงไม่ได้หวังอย่างนั้นนะครับ เพราะงั้นในส่วนของการเมืองผมก็ฝากไว้ด้วยนะครับ ว่าระยะต่อไปก็อย่าไปทำอย่างนี้อีกก็แล้วกันนะครับ เช่นเดิมที่ผ่านมาก่อนผมเข้ามานี่นะ
ผมไม่อยากให้ทุกคนกังวลนะครับกับคำว่า คสช. รัฐบาล อยากจะอยู่ต่อ ต่อท่ออำนาจอะไรต่างๆ เหล่านี้นะครับ ผมไม่มีความอยากตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ก็อยากจะเรียนซ้ำอีกครั้งหนึ่งนะครับ เพียงแต่ก็ต้องการให้ช่วยกันคิดว่า การที่เราอยากจะมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืนนั้น ควรจะต้องช่วยกันอย่างไร ทำอย่างไร
รัฐธรรมนูญฉบับถาวรควรเป็นอย่างไรนะครับ เพื่อที่จะให้รัฐบาลที่จะมาบริหารประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ได้ทำงาน และปฏิรูปและเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ร่างไว้ได้หรือไม่ และทำอย่างไรที่รัฐบาลใหม่ จะใช้อำนาจในการบริหารอย่างชอบธรรม มีธรรมาภิบาล คงไม่มีใครอยากให้ประชาชนเดือดร้อน อยากให้เศรษฐกิจตกต่ำหรอกนะครับ เราพยายามทุกอย่าง เพราะฉะนั้น เราทุกคนทำงานด้วยความตั้งใจจริง อยากให้ประเทศชาติมีอนาคต ประชาชนทุกคนมีความหวัง หลุดพ้นความยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างพอเพียง เพราะฉะนั้น ถ้าเราคิดหรือทำแก้ปัญหาแบบเดิมๆ วันนี้ ประเทศชาติอันตรายนะครับ หรือไม่ก็ ต้องทำตามแรงกดดันจากหลายฝ่าย เป็นคนทำให้ทุกอย่างเกิดความไม่มั่นคง ยั่งยืน แน่นอน
เรื่องต่อไป คือ เรื่องของสื่อ วิทยุ สิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดียนะครับ ผมก็ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับท่านเลยนะครับ เพราะฉะนั้น ข้อมูลต่างๆ จากสื่อจะช่วยเราได้มาก การเสพข้อมูลต่างๆ ของสื่อ และโซเชียลมีเดียที่ไม่มีคุณภาพอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ที่มีคุณภาพคงไม่กล่าวถึง เพราะบางครั้งที่กล่าวมามีเรื่องดีบ้าง ไม่ดีบ้าง จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ขอให้ทุกคนพิจารณากันด้วยเหตุผล อยากให้โซเชียลมีเดีย หรือสื่อไม่ดีมาชี้นำนะครับ ประชาชนเราถูกชี้นำมากแล้ว วันนี้ ผมอยากจะพูดเพื่อจะสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น คงไม่มีใครพูดให้ฟังมากเท่าผมนะ เพราะฉะนั้น หากคนที่หวังแต่ประโยชน์ตนเอง หวังสร้างความขัดแย้งไปทั่วนะ คนเหล่านี้ ต้องเปลี่ยนแปลงเขาให้ได้นะครับ ไม่งั้น บ้านเมืองเราไม่มีความสุข ทุกคนที่เป็นคนไทยต้องพัฒนาตนเอง ให้มีความรู้ มีสติ สามารถใคร่ครวญข้อเท็จจริง มีเหตุมีผล ผมไม่อยากให้คนไทยถูกชี้นำ หรือกำหนดโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ทุกคนต้องสร้างความเข้มแข็งภายใต้กฎหมายที่มีอยู่
เรื่องรัฐธรรมนูญวันนี้ อยู่ในขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่แก้ไขแล้ว ขอให้ทุกคนร่วมกันพิจารณา และลงไปพิจารณาถึงเนื้อหาด้วยนะครับ ก่อนจะถึงตรงนั้นอยากให้ทบทวนกลับนิดว่า อดีตบ้านเมืองเราเป็นอย่างไร เราต้องการอะไรบ้างในอนาคต ความมีเสถียรภาพนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การเป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ เช่น ประเทศตะวันตกนั้น จะทำให้ประเทศของเราปลอดภัยหรือไม่ในขณะนี้ เพราะว่าบางอย่างเรามีความแตกต่างเขาอยู่ เพราะฉะนั้นห้วงปฏิรูปในระยะต่อไปควรมีรัฐบาลอย่างไร มาจากการเมืองเดิมๆ คิดแบบเดิมแต่ก่อนหรือไม่ หรือจะเป็นรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยได้รับความเชื่อมั่นเชื่อถือมากขึ้นกว่าผม ผมยินดีนะครับ
ทั้งนี้ก็ล้วนแล้วแต่อยู่ที่การตัดสินใจของของท่าน ของประชาชนทุกคนที่คนไทยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นคนที่จะเป็นรัฐบาลในอนาคตนะครับ จะต้องทำการปฏิรูปด้วยความสมัครใจ เพราะฉะนั้นวันนี้ลองหาคำตอบจากบรรดานักการเมือง หรือบรรดาพรรคการเมืองต่างๆดูซิว่า เขามีความคิดในเรื่องการปฏิรูปอย่างไรให้เกิดความชัดเจน เพราะว่าท่านก็ต้องกลับมาอยู่แล้วล่ะ ผมรู้หลายท่านจะต้องกลับมาเลือกตั้งอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นทั้ง 11 เรื่อง ท่านไปคิดดู และสร้างความรับรู้ให้ประชาชน สังคมทราบอย่างนี้ผมไม่ปฏิเสธเลยว่า อย่างนี้คือการร่วมมือกัน ไม่ใช่มาตอบโต้ โต้แย้งอะไรกับผมตลอดเวลา อยากให้ออกมาหาช่องทาง เสนอเข้ามาเข้าสภาปฏิรูปฯ ก็ได้ สนช.ก็ได้ ส่งมารัฐบาลก็ได้นะครับ ผมไม่อยากให้มาไล่ล่ารัฐบาลในเวลานี้ เพราะว่าเราติดปัญหาเยอะแยะไปหมด เราต้องการทำงานให้เสร็จรวดเร็วอย่างที่ท่านต้องการ
เพราะฉะนั้นหากว่า มันมีความขัดแย้งไม่สงบ ต่อต้านทุกเรื่องไป พยายามจะกลับไปที่เก่า เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้ก็ทำทุกอย่างให้ก้าวหน้าไปให้ได้ เราจะติดอยู่ที่เก่า หรือขึ้นมาเล็กน้อย และวันหน้าเวลามันก็เสียหายไปอีก ผมไม่อยากจะใช้เวลาให้มากไปเรื่อยๆ นะครับ ท่านก็อยากจะเข้ามา สำหรับผมก็พยายามจะทำให้พร้อมโดยเร็ว
เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้ายังขัดแย้งอยู่แบบนี้ ไม่ได้แล้วนะครับ ถ้าถือคำพูดทุกคำพูดมาตอบโต้กัน ผมว่าไม่มีวันจบ งานก็เดินไม่ได้ เดี๋ยวประชาชนก็ไม่เข้าใจ เพราะหวาดกลัว หวาดระแวง ไม่ไว้ใจใครทุกคน อย่างนี้ไม่ได้นะครับ เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ประชาชนมีความไว้เนื้อเชื่อใจกับพวกเราทั้งหมด ไม่ว่ารัฐบาลผม รัฐบาลต่อไป หรืออดีตรัฐบาลที่ผ่านๆ มาก็ตาม ผมไม่เคยมีความขัดแย้งกับคำว่า ประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยที่ดีนั้น ควรจะต้องทำให้ประเทศไทยนั้นปลอดภัย มีอนาคต มีความเข้มแข็ง พอเพียงกับการต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อม ปัจจัยทั้งภายใน ภายนอกประเทศ เราจะต้องไม่ไปติดกับดักประชาธิปไตย อย่างที่เราเคยประสบกันมาแล้วไม่รู้จบ ไม่ต่ำกว่า 80 ปีที่ผ่านมานะครับ เรามีการพัฒนาช้ามากนะครับในเรื่องนี้ ฝากไปคิดด้วย
ปัญหาภัยแล้ง ก็ยังคงเป็นปัญหาหลัก ปัญหาสำคัญของรัฐบาลนี้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แล้ววันนี้ก็มีอุทกภัยเข้ามาอีกในบางจังหวัด บางพื้นที่ รัฐบาลได้มีมาตรการ และแนวทางให้ความช่วยเหลือหลายระดับด้วยกัน ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ บางอย่างก็ต้องรอผลการสำรวจด้วย อาทิ เช่น ปัจจุบันการเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ที่เดือดร้อน ขอบคุณหลายๆ พื้นที่โดยกระทรวงมหาดไทย โดยกระทรวงเกษตร ทั้งในเรื่องของการจ้างาน การปรับเปลี่ยน สนับสนุนการปลูกพืช การขุดหาแหล่งน้ำ ขนาดเล็ก แหล่งน้ำในไร่นา อะไรต่างๆเหล่านี้ แม้กระทั่งการเก็บผักตบชวา ได้มีการเร่งสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอยู่จากภัยแล้ง แล้วก็จะได้เตรียมการให้ความช่วยเหลือให้ได้โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานเกษตรในพื้นที่ ได้ติดตามในเรื่องของการพยากรณ์ และให้คำแนะนำกับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเพาะปลูกในฤดูกาลหน้า ในครอปสอง เพื่อสามารถเผชิญต่อกรณีฝนทิ้งช่วง หากเกิดขึ้นอีกด้วย
อีกเรื่องหนึ่งเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ภาพรวม ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ 12 กิจกรรม ได้ดำเนินการโดยต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 57 เป็นต้นมา ผลการดำเนินงานสามารถเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำได้ 2,074 ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบด้วย ประปาหมู่บ้าน 907 แห่ง ประปาชุมชน โรงเรียน 700 แห่ง แหล่งน้ำในเขตชลประทาน 732 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 4.7 ล้านไร่ แหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน เกือบ 3,000 แห่ง ซึ่งสามารถเพิ่มปริมาณน้ำ เพื่อการเกษตรได้ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
แล้วก็การขุดสระน้ำในไร่นา 50,000 สระ การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ราว 2,300 แห่ง เพื่อจะเก็บน้ำให้ได้ 287 ล้านลูกบาศก์เมตร การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อการเกษตร ประมาณ 66,250 ไร่ การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อช่วยภัยแล้ง 900 แห่ง การขุดลอกลำน้ำสายหลัก ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร การป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 24 แห่ง การฟื้นฟูผืนป่า 45,000 ไร่ และการทำพื้นที่ป้องกัน และการลดการพังทลาย 675,000 ไร่ นะครับ
ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว นั้นรัฐบาลนี้ ได้เริ่มต้นให้ โดยการตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มาขับเคลื่อนต่อจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (คสช.) ทั้งนี้เพื่อให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม อย่างยั่งยืน เป็นไปตามยุทธศาสตร์น้ำ ต่อไปครับ ก็โดยสรุปแล้วแนวทางสำคัญที่รัฐบาล และ คสช. กำลังดำเนินการอยู่คือ
1.ในเรื่องของการรักษาพันธะสัญญา ที่ไทยเรามีไว้กับนานาชาติ สร้างความเชื่อมั่นแล้วก็จะต้องเป็นไปตามข้อตกลงหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศนะครับ เกี่ยวกับเรื่ององค์กรระหว่างประเทศด้วย
2.คือเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน โดยจะต้องแก้ไขปัญหาแล้วก็เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของข้าราชการ สร้างและทำให้เกิดการบูรณาการหน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ เร่งรัดให้นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ให้เร่งการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้คุ้มค่าเกิดประโยชน์ แล้วก็ถูกต้องโปร่งใสนะครับ ขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน
3. กำหนดวาระแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนงานในระยะนี้นะครับ ระยะแรกให้เป็นรูปธรรม อาทิ การแก้ไขปัญหายาเสพติดนะครับ อย่างเป็นระบบทั้งในประเทศและนอกประเทศ การค้ามนุษย์ปัญหาขยะ ปัญหาการบุกรุกทรัพยากร ปัญหาที่ดินทำกิน การทำประมงผิดกฎหมาย การแก้ไขปัญหาองค์กรการบินพลเรือน การขับเคลื่อนรัฐวิสาหกิจ บริหารจัดการน้ำ แล้วก็ปัญหาอื่นๆอีกมากมายนะครับ ที่เราทำไป ถ้าหากท่านสนใจและติดตามท่านจะรู้ว่าทำไปเยอะนะครับ ที่ผ่านมาหลายท่านอาจจะทำมาหากินอยู่ก็ไม่ได้สนใจนะครับ ทุกคนก็จะสนใจแต่ว่ามีอะไรถึงตัวเองบ้าง มันอาจจะน้อย เพราะมันทำไปหลาย มันทีหลายกลุ่มด้วยกัน ที่เขาเรียกว่าเป็น Stakeholder นะครับ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมันหลายระดับ หลายส่วน เพราะงั้นถ้าทำไปมากตรงโน้นมากเกินไป ตรงนี้มากเกินไป มันก็ไม่ทั่วถึงไง เพราะงั้นวันนี้ก็ต้องทำทุกเรื่องนะครับ
ในเรื่องที่ 4. คือเริ่มต้นการปฏิรูป ในหลาย ๆ เรื่องนะครับ ระยะที่ 1 ถึง 2 ของเราตอนนี้นะครับ โดยดำเนินการภายใต้การบริหารงานปัจจุบันนะครับ เพื่อจะส่งไประยะที่ 3 รัฐบาลหน้า ใน 5 กลุ่มงานของรัฐบาลนะครับ ในเรื่องของความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ และ กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม อย่าคิดว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลยนะครับ ทั้งหมดนี่ที่ทำ 5 กลุ่มงานทุกกระทรวง เป็นการปฏิรูปทั้งสิ้นระยะที่ 1 2 และต้องสืบต่อเนื่องไประยะที่ 3 หลังเลือกตั้งไปแล้ว
เรื่องที่ 5 ก็คือในส่วนของการมีส่วนร่วมนั้น เรามีสภาปฏิรูปอยู่แล้ว วันนี้ก็จัดตั้งมาจากคนหลากหลายอาชีพ หลายกลุ่ม หลายฝ่าย จากทุกจังหวัดด้วยร่วมกันพิจารณาในการจัดทำแผนการปฏิรูปในขณะนี้อยู่นะครับ และเพื่อจะใช้ในระยะต่อไป เพราะฉะนั้นเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐบาลจากการเลือกตั้งก็จะได้ยึดถือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศต่อไป
ในเรื่องที่ 6 ก็คือได้เตรียมการ และดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้ประเทศเดินหน้า อย่างน้อยก็ต่อเนื่องไปนะครับ สัก 20 ปี โดยทุกแผนงานยุทธศาสตร์แต่ละส่วนราชการจะต้องมีความสอดคล้องกัน รวมทั้งรัฐบาลต่อๆ ไปก็กรุณาช่วยดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติเหล่านั้นด้วยนะครับ
เรื่องที่ 7 เราอาจจะต้องมีคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ว่าเมื่อสักครู่นี้นะครับ และเพื่อการปฏิรูป เพื่อจะแก้ไขและดำเนินการในเรื่องของการปฏิรูป การปรองดอง การขจัดข้อขัดแย้งในอนาคตด้วย ระงับสถานการณ์รุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นอีกให้ได้ มันต้องมีความคิดว่า จะทำกันอย่างไรกัน ก็ขอความร่วมมือด้วย เราไม่ได้นิ่งนอนใจว่า มันจะเกิดหรือไม่เกิด ไม่เกิดได้ก็ดี แต่ถ้าเกิดมันต้องมีวิธีการแก้ไข ไม่ใช่เหมือนกับสถานการณ์ในห้วงก่อน 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งผมก็เข้ามายืนอยู่ตรงนี้
เพราะฉะนั้นเราก็ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับ การบริหารจัดการของรัฐบาลหน้าที่มาจากการเลือกตั้ง โดยสภาที่ว่าจะไม่เข้าไปก้าวก่ายอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ก็จะดูเฉพาะในเรื่องของการปฏิรูปปรองดรอง และการแก้ไขความรุนแรงนะครับ
เหตุผลสำคัญคือ เราต้องทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ให้เหมือนกับที่ระยะนี้ในรัฐบาลหน้า ระยะนี้เรามี คสช.ใช่ไหมช่วยรัฐบาลอยู่ วันหน้าก็จะมีสภาขับเคลื่อนที่ว่า โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาตินะครับ จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ จะไปช่วยรัฐบาลหน้า เพื่อเดินหน้าประเทศต่อไป
เรื่องที่ 8 ในเรื่องของการทำงานที่ผ่านมานั้น เราได้เน้นในเรื่องของการสื่อสารระหว่าง คสช. สนช. สปช.กับรัฐบาลมาตลอดเวลา มีการประสานงานกันมาอย่างต่อเนื่อง มีการประชุมร่วม มีการส่งเอกสารให้รับทราบ และมีคณะประสานงานหลายคณะด้วยกัน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ คสช.เข้ามาจนถึงปัจจุบัน ทุกเรื่องที่ คสช. รัฐบาลทำนั้น เราจะส่งไปให้ทาง สนช. สปช.ทราบนะครับ ว่าเราทำไรไปแล้วบ้าง และกำลังคิดไรอยู่
ทั้งนี้ เพื่อให้ สนช.นำไปคิด นำไปดำเนินการต่อ พิจารณาเพิ่มเติม และจัดลงในแผนปฏิรูป เพื่อให้รัฐบาลหน้าดำเนินการต่อไป ผมอยากชี้แจงให้เข้าใจถึงการแสดงความคิดเห็นของ สนช. สปช. คณะกรรมาธิการต่างๆ นั้น ผมเห็นว่า มีหลากหลายนะครับ มีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น เห็นความหลากหลาย มีอิสระ ต้องลองฟังดูนะครับ เราทนฟังสภาหลายสภานานแล้ว ลองฟังดูบ้าง คนไทยทั้งสิ้น ผมไม่อยากจำกัดความคิดเขา ความคิดของท่านทั้งหลายเหล่านั้น ท่านมีอิสระในความคิดเห็น ท่านก็หวังดีทุกคนนะครับ ไม่ว่าจะสมัยใดก็ตาม หวังดีทุกคน เพียงแต่ว่าไม่ตรงกันเท่านั้น กฎหมายทั้งหลายที่เราส่งมาจาก ครม.นั้น ต้องผ่านคณะกรรมาธิการอีกครั้งอยู่ดี 3 วาระ ใน สนช. ไม่ว่า ครม.พิจารณาแล้วส่งไปประกาศใช้กฎหมายได้เลย ในส่วนของ สนช. ตั้ง 3 คณะ กลั่นกรอง และบางอย่างแก้ไขเกือบหมดเลย และบางอย่างก็แก้ไขให้ดีขึ้น เพราะว่าเรามีเวลาน้อย รัฐบาลก่อนๆ ที่เราเข้ามา เพราะฉะนั้น เราต้องคิดกฎหมายใหม่ๆ ด้วย แก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เกิดประโยชน์กับการค้าการลงทุนนะครับ และต้องการลดความเหลื่อมล้ำ เกิดความเป็นธรรม หลายกฎหมายที่เรามีพันธะผูกพันกับนานาชาติ ที่ต้องมีความร่วมมือระหว่างกัน เราก็ไม่ค่อยได้ทำไว้ให้ทันสมัย หลายประเทศปรับไปแล้ว เรายังล้าสมัยอยู่ วันนี้ ต้องแก้ไข ผมแก้ไขก็เกิดข้อขัดแย้งมาก ทุกคนมุ่งหวังว่าจะทำยังไงให้ฝ่ายนี้ ฝ่ายนู้นได้ประโยชน์มากที่สุด ผมคิดว่า วันนี้ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ เอาประเทศมาก่อน ตัวเองคงไม่ถึงกับล่มสลายหรอกมั้ง ขอให้เข้าใจนะครับ เราพยายามทำทุกอย่างให้เกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
สิ่งสำคัญวันนี้ อยากฝากทุกคนไว้คือ เราต้องช่วยกันสร้างเสถียรภาพ และความปลอดภัยให้ประชาชนและประเทศชาติ สร้างความเชื่อมั่นให้องค์กรระหว่างประเทศ มิตรประเทศ เราต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสาระโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความเชื่อมโยง เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และภัยการก่อการร้าย และเรื่องการสร้างความเข้มแข็งของประเทศ
สิ่งสำคัญประการหนึ่งนะครับ การเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ เราต้องปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเราใหม่ โดยพึ่งพาการส่งออกให้น้อยลง มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มประเทศในอาเซียน ทั้งอาเซียนบวก 1 คือประเทศใดก็ตามมาลงทุนกับเราใน 10 ประเทศ ก็เจือจานแบ่งปันไปตามศักยภาพของแต่ละประเทศนะครับ อาเซียนนั้นต้องเข้มแข็งไปพร้อมๆกัน เรามีเพื่อน เราก็ต้องรักเพื่อนเรา อาเซียนทั้งหมดจะได้เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างแท้จริง ไม่ใช่คู่แข่งขันกัน ที่สำคัญที่สุดก็คือความร่วมมือร่วมใจของทุกคน ทุกพวก ทุกฝ่าย เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราก้าวข้ามการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้ และกลับมาเป็นประเทศที่มีแต่รอยยิ้ม มีความสามัคคีกันให้ได้โดยเร็ว
สำหรับกิจกรรม Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่ ในวันที่ 16 สิงหาคม นี้ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมกิจกรรมโดยพร้อมเพรียงกันแล้วก็ช่วยกันแก้ไขในสิ่งที่ผมได้ชี้แจงไปแล้วนะครับ คือเรื่องของความปลอดภัย การรักษาระเบียบ รูปขบวนอะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็ขอให้มาร่วมกัน ปั่นเพื่อแม่ เพื่อถวายในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน
ทั้งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระราชทานความห่วงใยต่อพสกนิกร ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมเสมอมา ทรงย้ำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ใช้ความรอบคอบความละเอียดอ่อนในการจัดงาน ทั้งในเรื่อง เส้นทาง อุบัติเหตุ การเผชิญเหตุฉุกเฉิน การตั้งจุดรักษาพยาบาล การมีส่วนร่วม ในการแสดงออก ทั้งขี่ แล้วก็ทั้งยืนเฝ้าให้กำลังใจตามรายทาง จากการได้ตรวจความพร้อมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ก็มีแก้ไขเล็กน้อย ก็ขอขอบคุณทุกส่วนราชการ ทุกหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องครับ ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอบคุณจริงๆ ครับ
อย่างไรก็ตาม สำหรับพี่น้องประชาชนที่จะเข้าร่วมกิจกรรม ก็ขอให้มีการฝึกซ้อมกัน ระมัดระวังฝนตกด้วย ถนนลื่นด้วย ทราบว่าหลายคนก็บาดเจ็บไปจากการฝึกซ้อม ไม่เป็นไรครับ ก็จะได้รู้ว่าจะต้องระมัดระวังกันยังไง ต่อไปก็อย่าให้เป็นอะไรกันมากมายนักก็แล้วกัน ไม่เป็นได้ก็ดี ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วย ทุกเรื่องที่ได้ประกาศไป ทั้งวันจริงด้วย และที่ผมพูดไปด้วย
วันนี้ก็คงรบกวนเวลาท่านเพียงเท่านี้ สวัสดีครับ ขอบคุณครับ ขอให้มีความสุขครับ