xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นจีโอเชื่อธุรกิจบาปหนุนล้มระบบภาษีบาปจ่าย 3 องค์กร สับคลังไม่เข้าใจงาน งงทำผิดอะไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เอ็นจีโอจัดสัมมนาวิพากษ์ รธน. อาจารย์นิด้าชี้จัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะทำกันทั่วโลก จวกคิดไปเองมีอภิสิทธิ์ใช้ภาษีบาป เชื่อธุรกิจบาปหนุนแก้กฎหมายหวังล้ม สสส. สับคลังไม่เข้าใจงาน ด้านอดีต คปก.มองมีประเด็นเป็นเรื่องดีทำ 3 องค์กรได้แจง ค้านยุบระบบ งงทำอะไรผิดจึงต้องมีการแก้ไข ขณะที่ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระบุภาคประชาสังคมเติบโตทำรัฐบาลไม่พอใจ หนุนเปิดแบบไทยพีบีเอสเยอะๆ

วันนี้ (7 ส.ค.) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม จัดเสวนา “รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ทำลายภาคสังคม ทุบองค์กรอิสระ สสส.-ไทยพีบีเอส” โดยนายดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เป็นเรื่องการจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) ที่มีการปฏิบัติกันมาอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งการยกร่างกฎหมายฉบับนี้เกิดจากหน่วยงานระดับกรม กระทรวงที่อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน คิดไปเองว่าจะมีอภิสิทธิ์พิเศษในการใช้เงินภาษีบาป แต่ลืมคิดว่าหากไม่มีองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ผลักดันแบบนี้ ส่วนราชการ และสื่อพาณิชย์ก็จะไม่มีมีความสามารถทำงานพิเศษได้ ภาษีบาปที่ได้จากธุรกิจเหล้า บุหรี่ องค์กรอิสระไม่ได้เอามาใช้ทั้งหมด ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ใช้งบ 1.5-2% เป็นการใช้เงินแค่นิดเดียว จากภาษีบาป 2.7 ล้านล้านบาท

“สสส.มีการทำงานที่ขัดแย้งกับธุรกิจเหล้า บุหรี่ ถือเป็นศัตรูในการทำงานของบริษัทข้ามชาติ เชื่อว่าการเสนอให้แก้กฎหมายภาษีดังกล่าว เพราะกลุ่มธุรกิจต้องการล้มองค์กรที่นำภาษีของตนมาทำงานตรงต่อต้านการส่งเสริมการตลาด ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย เพราะไม่เข้าใจหลักการทำงาน ขององค์กรเหล่านี้ คิดว่าภาษีประเทศจะฟุ่มเฟือย ทั้งที่จริงภาษีดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการใช้งบกลางประเทศของกระทรวงคลัง ประเทศไทยไทยยังจำเป็นต้องมีงบพิเศษเพื่อการทำงานสาธารณะ แต่องค์กรที่รับเงินนี้ ต้องมีประสิทธิภาพ ที่ตอบสนองประชาชน สาธารณะ ต้องมีผลงานออกมาพิสูจน์ให้ได้” นายดิเรกกล่าว

นายไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ที่ผ่านการปฏิรูปการคลังของประเทศไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนเลย ที่ทั้งที่จริงการใช้อำนาจรัฐในการเก็บรายได้มีมานานแล้ว การสร้างประเด็นนี้จากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องดีที่ทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง และองค์กรภาคประชาสังคมที่รับเงินดังกล่าวก็ได้มีโอกาสชี้แจง ที่ผ่านมาราชการไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานจึงต้องตั้งองค์กรภาคประชาสังคมขึ้นมาทำงานโดยตรง ซึ่งระบบภาษีเฉพาะ เป็นการปฏิรูประบบการคลังที่สามารถกระจายเงินภาษีบาป ไปถึงคนเล็ก คนน้อยได้ มีการสร้างความเป็นธรรมในสังคมขึ้นมา เรื่องนี้ข้าราชการและการเมืองมักไม่คำนึงถึง ดังนั้นหากทำลายระบบภาษีดังกล่าว เท่ากับทำลายความชอบธรรม

“มีงานบางงานของรัฐที่ทำงานไม่ดีพอ เช่น การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย แต่เมื่อมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ภารกิจก็ดีขึ้น มีการจัดที่อยู่แก่คนจน คนไร้บ้านมากขึ้น ทั้งที่เป็นหน้าที่ของรัฐ แต่รัฐไม่ทำ ภาษีพิเศษก็ต้องเข้ามาตั้งองค์กรมาดำเนินการ เป็นการลดภาระรัฐด้วยซ้ำ แค่เบิกงบไม่ขึ้นตรงกับกระทรวงการคลังเท่านั้นเอง ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อการสร้างความเป็นธรรมของสังคม ครั้นพอถามว่า สสส.กับไทยพีบีเอส ทำอะไรผิดจึงต้องมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่มีใครตอบได้ กมธ.ที่ยกร่างฯ ยังตอบไม่ได้เช่นกัน” นายไพโรจน์กล่าว

นายศรีสุวรรณ ควรขจร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า ภาษีพิเศษเฉพาะวัตถุประสงค์ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเฉพาะวงการธุรกิจเหล้า บุหรี่ แต่วงการสิ่งแวดล้อมก็มี เช่น กองทุนสิ่งแวดล้อม ที่ตัดเงินมาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนทุนของ สสส.ที่ได้รับมาจากภาษีพิเศษก็นำไปใช้เพื่อการพัฒนาของภาคประชาสังคมหลายอย่างจนกระทั่งภาคประชาสังคมเติบโตและมีบทบาทมากขึ้น เชื่อว่านี่เป็นเหตุผลที่รัฐบาลไม่พอใจ เพราะมีการต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานราชการอย่างกรม และกระทรวงมากขึ้น กรณีสื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส มองว่าควรมีการเปิดเพิ่มหลายๆ ช่อง แล้วคิดเนื้อหาเพื่อมานำเสนอซึ่งแม้ไม่มีความนิยมหรือเรตติ้งไม่ดี ไม่ทำกำไรมากเท่าสื่อพาณิชย์ แต่ก็อยู่ได้ เป็นช่องทางให้ประชาชนระดับรากหญ้าได้พึ่งพาเพื่อสื่อสารสาธารณะ
กำลังโหลดความคิดเห็น