สปช. ด้านพลังงาน ใช้สื่อเครือเนชั่น เขียนบทความแทงกั๊กหนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน บอกถ้าเลือกได้หนุนสร้างนิวเคลียร์ด้วยซ้ำ แต่ที่ให้มีเพราะจะได้กระจายความเสี่ยงด้านแหล่งเชื้อเพลิง ระบุเยอรมนีใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าเกินครึ่ง ใครใช้พลังงานหมุนเวียนต้องจ่ายแพง 10% ป้ายสี “เครือข่ายอันดามัน” อดข้าวประท้วงมีกลุ่มคน - ทุนหนุนหลัง บอกคนไม่เห็นด้วยมีแค่ 2 หมู่บ้านผสมโรงคนนอกพื้นที่
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. นายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน และแกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ได้เขียนบทความในเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ ในหัวข้อ “ทำไมต้องถ่านหิน?” โดยกล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายประชาชนปกป้องอันดามันจากถ่านหิน อดอาหารประท้วง ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ของการใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นในการผลิตไฟฟ้า เพื่อทดแทนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ว่า ส่วนตัวไม่ได้สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นพิเศษ
“ถ้าเลือกได้ ผมเลือกที่จะสนับสนุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเสียด้วยซ้ำไป” นายมนูญ กล่าว
นายมนูญ กล่าวว่า ตนสนับสนุนให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นในประเทศไทย โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นที่จังหวัดกระบี่ก็ได้ ก็เพราะสนับสนุนให้ประเทศต้องกระจายความเสี่ยงด้านแหล่งเชื้อเพลิง ในการผลิตไฟฟ้าออกไป แทนที่จะพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพียงชนิดเดียว ในการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 68% อย่างเช่นในปัจจุบัน
ส่วนที่ภาคประชาชนและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ระบุว่า ให้ไปพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขึ้นมาแทน โดยยกตัวอย่างประเทศเยอรมนี ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นหลักนั้น ก็เห็นว่านอกจากผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแล้ว ยังผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 49,060 เมกะวัตต์ หรือมากกว่า 50% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ เพื่อเป็นพลังงานไฟฟ้าสำรอง เพราะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น มีความไม่มั่นคงและไม่เสถียร นอกจากนี้ ผู้ที่สนับสนุนและต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ต้องยอมจ่ายค่าไฟแพงขึ้นอีก 10% โดยจะมีช่องให้กรอกในใบเสร็จค่าไฟฟ้า
นายมนูญ ยังกล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้มีการเรียกร้องให้ยุติการทำอีไอเอ และอีเอชไอเอ ว่า เปรียบเสมือนกับการฆ่าตัดตอนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่เสียตั้งแต่แรก โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการทำการศึกษาด้านความเหมาะสม หรือผลกระทบตามหลักวิชาการก่อน ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นข้อเรียกร้องตามระบอบประชาธิปไตย หรือใช้สิทธิของชุมชนโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นข้อเรียกร้องในเชิงบังคับให้รัฐบาลต้องทำตามโดยไม่มีทางเลือก และยังมีการกดดันรัฐบาลด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การอดอาหาร ซึ่งไม่ใช่การประท้วงหรือคัดค้านให้มีการพูดคุยกันโดยใช้เหตุและผล
“ประเด็นที่ผมอยากถามกลุ่มผู้ประท้วงก็คือ กลุ่มผู้ประท้วงดังกล่าวถือสิทธิ์อะไรที่จะบอกว่า ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่แทนประชาชนทั้งประเทศ หรืออย่างน้อยก็แทนคนในจังหวัดกระบี่ทั้งจังหวัดแทนที่จะให้เขาตัดสินใจเอง เท่าที่ผมทราบ ทางกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ไปแล้วรวมทั้งสิ้น 6 ครั้งด้วยกัน ซึ่งปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย มีเพียง 2 หมู่บ้านเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย และมีบางส่วนเป็นคนนอกพื้นที่ เข้าไปเป็นแกนนำในการชักชวนคนในพื้นที่ให้ต่อต้านโรงไฟฟ้า” นายมนูญ กล่าว
ในตอนท้าย นายมนูญ กล่าวว่า การที่กลุ่มดังกล่าวขึ้นมาประท้วงถึงกรุงเทพฯ นั้น อาจเป็นการเปลี่ยนยุทธวิธีในการต่อสู้ ในเมื่อไม่สามารถชักจูงใจคนในพื้นที่ได้มากพอ จึงขึ้นมารณรงค์ในส่วนกลางแทน เพราะสามารถระดมการสนับสนุนจากเครือข่ายที่เป็นแนวร่วม และดึงดูดความสนใจของสื่อและรัฐบาลได้มากกว่าการต่อสู้ในพื้นที่อย่างเดียวดาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ยากที่จะให้ทำใจได้ว่า การประท้วงหรือการคัดค้านครั้งนี้จะไม่มีคนหรือทุนสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
อนึ่ง สำหรับกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 โดยเกิดขึ้นในช่วงการชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) มีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นแกนนำ ซึ่งพวกเขามักจะอ้างว่าเป็นผู้มีความรู้ประสบการณ์จริงด้านพลังงาน โดยมีแนวคิดตรงกันข้ามกับภาคประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่เคลื่อนไหวในประเด็นพลังงาน